หวนคิดคำนึงถึงตอนที่ฉันยังเป็นเด็กๆ ตุ๊กตาที่ตัวเล็กๆ ก็ดูจะมีความหมาย เติบโตในจินตนาการ กว้างไกลดังท้องทะเลทราย… ในบทหนึ่งของเพลงตุ๊กตา คงสามารถบ่งบอกถึงความสำคัญของตุ๊กตาในวัยเด็กได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากจะเอ่ยถึงตุ๊กตา เชื่อว่าในโลกนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะตุ๊กตาเป็นของเล่นคู่กายที่พ่อแม่มักหยิบยื่นให้ลูกน้อย ก่อเกิดเป็นความรัก ความผูกพัน เหมือนพี่ น้อง เพื่อนสำหรับเด็ก หรืออาจจะมากกว่านั้น
นางสาวสุภัคศรี เวศม์วิบูลย์ หรืออาจารย์กิม นักออกแบบของเล่นและอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงความสำคัญของตุ๊กตาต่อพัฒนาการเด็กว่า การเล่นของเล่นที่เหมาะกับตัวเด็กจะช่วยในการเรียนรู้และกระตุ้นประสาท สัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การมองเห็น, การได้ยิน, การสัมผัส, การดมกลิ่น, การรับรส ซึ่งสำหรับเด็กแล้วตุ๊กตาเป็นตัวแทนของคนที่อยู่รอบๆ ตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ เพื่อน เป็นสิ่งที่จินตนาการขึ้นเพื่อการปฏิสัมพันธ์มารองรับทางด้านจิตใจ
ตุ๊กตามีประโยชน์หลากหลายต่อพัฒนาการเด็ก ด้านจิตวิทยา ตุ๊กตา เป็นสื่อทำให้เด็กได้รับรู้ถึงการมีเพื่อน มีคนที่อยู่เคียงข้างเขา เด็กจะรู้ถึงความอบอุ่นจากการกอด สัมผัส ได้เห็นความรัก ความผูกพัน เหมือนที่ตนเองเคยได้รับการโอบกอดจากพ่อแม่ ลดความวิตกกังวล ความกลัว ในยามที่เด็กมีเรื่องไม่สบายใจ ตุ๊กตาเป็นสิ่งที่ช่วยปลอบประโลมใจให้แก่เด็ก เป็นสิ่งที่สามารถควบคุมได้ เสมือนเป็นตัวแทนคนที่เด็กรักและผูกพัน อาจช่วยให้เด็กกล้าแสดงอารมณ์ หรือจัดการกับอารมณ์ภายในผ่านการจินตนาการ ว่าได้จัดการคนที่ตัวเองโกรธอย่างสาสม ในขณะที่อาจไม่มีโอกาสทำเช่นนั้นในชีวิตจริง
ด้านการสื่อสาร การมีตุ๊กตาจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การใช้ภาษา ในการสื่อสารกับของเล่นที่มีความหมาย การเปล่งเสียงต่างๆ โดยการเล่นตุ๊กตาหุ่น หากสมมติให้ตุ๊กตาพูดคุยกับเด็กและให้เด็กตอบโต้ตุ๊กตา จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาได้อย่างดี ด้านความคิด ทำให้เด็กเกิดจินตนาการ ฝึกความคิดสร้างสรรค์ เช่น การได้เล่นแต่งตัวตุ๊กตาหรือเล่าเรื่องสมมติ เกิดการเรียนรู้การพัฒนาบุคลิกภาพ ผิวสัมผัส อวัยวะ ฯลฯ ด้านอารมณ์ ช่วยทำให้เด็กได้จัดการข้อขัดแย้งต่างๆ ในใจ พัฒนาการควบคุมอารมณ์ การเลือกแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม ด้านสังคม ทำให้เด็กเรียนรู้การเล่นร่วมกับเพื่อน รวมถึงการจัดการปัญหาสัมพันธภาพระหว่างกัน เรียนรู้การแบ่งปัน
การที่เด็กส่วนมากผูกพันกับตุ๊กตาอาจเริ่มมาจากความผูกพัน เพราะเป็นของเล่นชิ้นแรกๆ ที่พวกเขารู้จักและได้รับเป็นของขวัญจากพ่อแม่ การนำเอาตุ๊กตาวางไว้ใกล้ๆ เตียงขณะลูกหลับเป็นผลดี เมื่อเขาลืมตาตื่นขึ้นมาพบกับตุ๊กตาที่คุ้นเคย เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว ตุ๊กตาก็เปรียบเสมือนตัวแทนของพ่อแม่ เด็กบางคนกอดตุ๊กตาไว้ขณะหัดเดิน เพื่อความอุ่นใจเหมือนมีเพื่อนอยู่ใกล้ๆ ไม่โดดเดี่ยว ความชอบตุ๊กตาของเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายจะมีความแตกต่างกัน เช่น แม้จะเป็นตุ๊กตาสุนัขเหมือนกัน แต่เด็กผู้หญิงจะชอบตุ๊กตาลูกสุนัข ในขณะที่เด็กผู้ชายจะชอบตุ๊กตาสุนัขที่ดูแข็งแรงกว่า ซึ่งจากลักษณะการชอบตุ๊กตาแต่ละแบบของเด็ก นับเป็นเรื่องดีที่ทำให้เราสามารถค้นหาความสนใจของเด็กจากสิ่งที่เขาชอบได้ อย่างเช่น เด็กที่ชอบเล่นแต่งตัวตุ๊กตา แสดงว่าเด็กมีความสนใจเกี่ยวกับแฟชั่น มีนิสัยรักสวยรักงาม เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงของตุ๊กตาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ตุ๊กตาในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ผลิตจากวัสดุง่ายๆ อย่างเช่น ดิน ขนสัตว์ ไม้ ฯลฯ อาทิ ตุ๊กตาแม่ลูกดก ตุ๊กตาพื้นเมือง หรือตุ๊กตาที่ใช้ในพิธีกรรม จากนั้นมาตุ๊กตาปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานมาเป็นของเล่น ของสะสม และต่อมาประวัติศาสตร์ตุ๊กตาในประเทศไทยก็ปรับเปลี่ยนไปโดยได้รับการพัฒนา ต่อเนื่องอย่างสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ตุ๊กตาของโลก ซึ่งจากสภาพทางสังคม ในคนเอเชียจะมีสภาพสังคมพึ่งพึงธรรมชาติ คบค้าสมาคมระหว่างกัน มีความเป็นมิตร เด็กก็จะชอบตุ๊กตาที่มีรูปร่างคนมากกว่า ต่างจากสังคมยุโรปที่ชอบตุ๊กตาสัตว์ เนื่องจากเป็นสังคมเมือง ผู้คนจึงต้องการเรียนรู้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ
การเปลี่ยนแปลงมักจะเป็นตามยุคสมัย อย่างยุคที่มีการพัฒนาการตลาดก็ปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพ สังคม จะมีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามความนิยม อาทิ ตุ๊กตาที่สามารถกะพริบตาได้ พัฒนามาให้สามารถส่งเสียงได้ เปล่งแสงได้ จนสามารถเคลื่อนไหวได้ สำหรับในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิตอล ตุ๊กตาก็ถูกพัฒนาให้ตอบสนองความต้องการในยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นกัน อาทิ ตุ๊กตาที่เล่นผ่านแอพพลิเคชั่น มือถือ แท็บเล็ต อย่างเฟอร์บี้ หรือตุ๊กตาที่มีความเป็นแฟชั่นมากๆ อย่างไบลธ์ ที่ผู้เล่นจะจับแต่งหน้า แต่งตัว ให้มีหน้าตาเหมือนเจ้าของก็ยังได้ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคต ตุ๊กตาจะถูกพัฒนาให้มีความเป็นดิจิตอลมากยิ่งขึ้น หรือมีความเสมือนจริงใกล้เคียงกับสิ่งมีชีวิต สามารถโต้ตอบกับเราด้วยภาษาเดียวกันได้ เช่น ตุ๊กตาสุนัขที่เหมือนน้องหมา สามารถเห่า เคลื่อนไหว แสดงอาการ อารมณ์ กินอาหารได้เหมือนสิ่งมีชีวิต
อย่างไรก็ตาม การเล่นตุ๊กตาไม่ได้เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงเท่านั้น เด็กชายก็เล่นตุ๊กตาได้ โดยจุดเริ่มต้นอาจเหมือนเด็กหญิง คือเริ่มจากการชอบตุ๊กตารูปสัตว์นุ่มๆ พอถึงวัยที่เด็กหญิงเริ่มชอบตุ๊กตานางแบบ เด็กชายก็จะมีความสนใจที่แตกต่างออกไป โดยเขาจะชอบตุ๊กตาทหาร ตำรวจ ตุ๊กตาที่ดูแข็งแกร่ง และตุ๊กตาที่สร้างจากตัวเอกในการ์ตูนที่เขาชอบ ซึ่งมักเป็นพวกหุ่นยนต์หรือยอดมนุษย์
ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่ได้ตุ๊กตาเป็นของขวัญจากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ แม้แต่วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่เองก็มีพฤติกรรมการซื้อของขวัญ โดยเฉพาะตุ๊กตา มอบให้แก่ผู้ที่ตนเองรักหรือคนพิเศษแก่กันมากขึ้น ในโอกาสพิเศษหรือเทศกาลต่างๆ เช่น ซื้อให้ในวันคล้ายวันเกิด วันปีใหม่ วันรับปริญญา วันแต่งงาน เป็นต้น ตลอดจนมีความรักและชอบจนกลายเป็นนักสะสมตุ๊กตา
ในยุคฝากลูกไว้กับคอมพิวเตอร์ แม้จำนวนขายตุ๊กตาจะลดลงไปบ้าง ก็เพราะว่าการผลิตตุ๊กตาไม่สามารถผลิตได้ทันกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของ คน คนจึงเลือกเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลง พัฒนาได้อย่างรวดเร็วมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ตุ๊กตายังคงได้รับความนิยมในฐานะการเป็นของเล่น ของสะสมตลอดมาทุกยุคสมัย เป็นสิ่งสะท้อนถึงสภาพสังคม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนร่วมสมัยได้อย่างชัดเจน.