นอกจากการเรียนหนังสือแล้ว คุณกรวรรณ คันโธ หรือ คุณต้อง สถาปนิกหญิงวัย 32 ปี ไม่เคยคิดว่าการทำกิจกรรมอื่นร่วมกับเพื่อนๆ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะเป้าหมายของเธอพุ่งตรงไปที่การเรียนเท่านั้น จนกระทั่ง จบปริญญาตรีและได้มีโอกาสไปฝึกงานที่ประเทศอิตาลี ความโดดเดี่ยวจากการห่างไกลบ้านไกลคนคุ้นเคย ทำให้เธอเริ่มเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาคนอื่นมากขึ้น เมื่อเข้าทำงานเป็นสถาปนิก ได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาในการสร้างสรรค์ผลงานตามเป้าหมายบริษัทชิ้นแล้วชิ้นเล่า แม้จะเหนื่อยหนักแต่ก็รู้สึกสนุกและ “อิน” อย่างมากถึงขนาดที่เจ้านายชาวญี่ปุ่น ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นชนชาติที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความขยันและทุ่มเทให้กับการทำงานยังเอ่ยปากเตือนให้เธอหาเวลาไปสังสรรค์กับเพื่อนหรือทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง แต่เธอก็ไม่อาจถอนตัวจากภาวะที่เรียกว่า “จม” อยู่กับงานได้ จนกระทั่ง….“วันหนึ่งมารู้สึกตัวอีกทีคือแบบ โอ้ย…ฉันไม่อยากทำที่นี่แล้ว วันรุ่งขึ้นเดินไปบอกเจ้านายขอลาออกเลย”
หลังจากอิ่มตัวกับงานสถาปนิก เธอผันตัวเองมาทำงานหนังสือ ด้วยความสนุกและตื่นเต้นกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เวลาประชุมกองบรรณาธิการและมีการนำเสนอหัวข้อที่น่าสนใจ จึงอาสารับทำแทบทุกเรื่อง ยิ่งสนุกก็ยิ่งอยากทำ พอลงมือทำแล้วก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ผลงานและความทุ่มเทได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานและบริษัท เลื่อนตำแหน่งให้เธอเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการเพื่อเตรียมจะขึ้นเป็นบรรณาธิการในเวลาต่อมา แต่ความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างในใจ ตรงกันข้ามกลับยิ่งทำให้รู้สึกขาดพร่องมากขึ้น ภาวะ “จม” กับงานกลับมาแบบไม่รู้ตัว “เริ่มตั้งคำถามว่า แล้วงานให้อะไรเรากลับมาขณะที่เราให้กับมันขนาดนี้ สุดท้ายแล้วเหมือนชีวิตมันเสียสมดุล…เหมือนม้าวิ่งในลู่ที่ต้องวิ่งๆๆๆ อย่างเดียว”
เธอพยายามหากิจกรรมต่างๆ ทำเพื่อดึงตัวเองให้หลุดออกจากภาวะจมกับงาน เช่น การไปปฏิบัติธรรม อ่านหนังสือธรรมะ หรือกิจกรรมที่ทำแล้วช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ต่อมา เธอก็ได้รู้จัก โครงการพลังอาสาสมัครสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์ จากทางอินเทอร์เน็ต แต่ตอนนั้นไม่กล้าที่จะมาร่วมกิจกรรมเพียงคนเดียว ได้แต่เก็บข้อมูลไว้เงียบๆในใจ
กระทั่งวันหนึ่ง คุณฐิติขวัญ เหลี่ยมศิริวัฒนา หรือ คุณขวัญ เพื่อนสนิทที่เคยทำงานหนังสือด้วยกัน เอ่ยถึงกิจกรรมพี่อาสาฯ ให้ได้ยินอีกครั้ง แม้ไม่ใช่คนรักเด็กโดยนิสัย แต่ด้วยความที่อยากหากิจกรรมใหม่ๆ และยิ่งมีเพื่อนที่สนิทสนมคุ้นเคยอยู่เคียงข้างในสถานการณ์แปลกใหม่เช่นนี้ เธอจึงเกิดความสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และตัดสินใจขอไปร่วมกิจกรรมด้วยทันที จากมุมมองและความคิดที่เกิดจากการใช้ชีวิตในด้านเดียว เมื่อริก้าวเข้ามารับภารกิจของ “พี่อาสาฯ” นับว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่สั่นคลอนความมั่นใจของ “สาวทำงาน” จนรู้สึกตื่นเต้นและประหม่า
วันแรกที่เดินเข้าไปยังสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนบ้านพญาไทจึงต้องอาศัยคุณขวัญ เพื่อนสนิทคอยเป็นกำลังใจและที่ปรึกษาแบบไม่ยอมให้ห่างกาย ยิ่งใกล้วันจะได้พบหน้าน้องเล่นเอาถึงขั้นเครียด แต่เมื่อเวลาสำคัญมาถึงจริงๆ ความเครียดกลับหายวับไปอย่างน่าอัศจรรย์ ในวันแรกพบน้องซึ่งเป็นเด็กชายลูกครึ่งวัยขวบเศษ มีปัญหาพัฒนาการช้า คลานได้เร็วแต่ไม่ยอมหัดยืนหรือยืนด้วยตัวเอง ไม่สบตา และไม่ยอมกินข้าว เป็นโจทย์ใหญ่ที่พี่เลี้ยงมือใหม่จะต้องหาคำตอบเพื่อช่วยให้น้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แรกเริ่มคุณต้องคิดวางแผนไว้อย่างดีว่าจะทำอะไรบ้างภายในเวลาสองชั่วโมงที่ได้ดูแลน้อง ตามความเคยชินกับการทำงานอย่างเป็นระบบ แต่แล้วเธอก็ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงว่า การดูแลเด็กเป็นงานที่แตกต่างจากงานในโลกใบเดิมของตัวเองโดยสิ้นเชิง
“เรื่องเลี้ยงเด็กไม่ค่อยรู้แต่เรามีความคิดทางด้านที่ทำงานมาเลยประยุกต์สิ่งที่เรามี ความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบบ้าง คนอื่นอาจเล่นแบบปกติ ขณะที่เราเริ่มพาน้องจูงเตะบอลไปเลย น้องแฮปปี้มาก แล้วอาทิตย์ต่อมาเขาเดินได้ยืนเองได้ ที่จริงเขาทำได้อยู่แล้วแค่ขาดคนกระตุ้น วิธีการที่ใช้คือเอามือให้เขาจับ แล้วค่อยๆ พยุงให้เขายืนแล้วก็เดินไปด้วยกัน เอาลูกบอลไว้ข้างหน้าแล้วก็เดินเตะไปรอบห้อง”
จากผู้หญิงเก่งที่มองเห็นงานเป็นเป้าหมายเดียวของชีวิต และไม่เคยยุ่งกับเด็กได้เกินสิบนาที ช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนของการปฏิบัติภารกิจพี่อาสาฯ ทำให้เธอได้มองเห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิตอย่างแจ่มแจ้งและกระจ่างใจ
“เปลี่ยนมุมมองเลยว่า การเป็นแม่คนหรือการเลี้ยงลูกนั้นเป็นงานใหญ่และเหนื่อยมาก ไม่ใช่ว่าสนุกเขาถึงลาออกจากงานมาทำ แต่มันคือเลิกสิ่งสนุกมาทำสิ่งที่น่าเบื่อในบางทีด้วยซ้ำ…แบบเป็นมุมที่พลิกโลกเลย เหมือนว่า ไม่ใช่นี่ คนที่ลาออกมาดูแลลูกเขาไม่ได้ด้อย ไม่ได้ไร้ค่า แต่เขามีคุณค่ามากเลย เพราะเมื่อเขาลาออกจากงานมาเพื่อเลี้ยงลูก เด็กคนนั้นจะมีคุณภาพมากๆ เหมือนต้องพลิกโลก จริงๆ แล้ว มนุษย์แต่ละคนจะออกแบบชีวิตของตัวเองอย่างไรก็ได้” ในด้านของการทำงานอาสาสมัครเพื่อ “เติมเต็ม” ชีวิต เธอพบว่างานนี้ “คลิก” กับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่วัยทำงานเช่นเธอได้อย่างพอเหมาะพอดี
“การปฏิบัติธรรมก็ช่วยได้นะคะ แต่เหมือนยังไม่เหมาะกับชีวิตตัวเอง เพราะต้องลางานยาวขณะที่เป็นคนติดงานมาก มันเลยยิ่งยาก พอไปปฏิบัติก็คิดถึงแต่งานเพราะเป็นห่วงงาน”
“พอมาทำงานพี่อาสาฯ ได้เรียนรู้ว่าต้องปล่อยวางเลย เพราะต้องมีสมาธิกับเด็กมาก วางแผนอะไรไม่ได้เลย มันก็เหมือนทำให้ดีไปวันๆ เฉพาะหน้าไป ทำให้เราเหมือนอยู่กับปัจจุบัน”
ทุกครั้งที่ได้ใช้เวลาอยู่กับน้องแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แค่สองชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ก็เป็นสองชั่วโมงที่เธอบอกว่าเหมือนได้ “ถอดเปลือก” ของตัวเองออก เพราะเด็กไม่รู้ว่าเธอเป็นใคร ไม่มีคำว่าเจ้านายกับลูกน้อง
จุดเปลี่ยนสำคัญอีกด้านหนึ่งก็คือ เข้าใจ “แม่” มากขึ้น เพราะประสบการณ์ใหม่นี้ทำให้ได้ตระหนักว่า แม่ต้องยากลำบากแค่ไหนกว่าจะเลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่มาถึงทุกวันนี้ เธอกล้าพูดได้อย่างเต็มปากและเต็มเปี่ยมด้วยความมั่นใจ เพราะนั่นคือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ด้วยตัวเองมาแล้วจากการเป็นพี่อาสาฯ ประสบการณ์อันมีค่าที่ทำให้เธอได้สัมผัสความสุขจากอีกด้านหนึ่งของชีวิตที่ไม่เคยมองเห็น เป็นความสุขซึ่งเต็มอิ่มมาจากภายในที่ไม่อาจพบได้จากโลกแห่งความสำเร็จจากหน้าที่การงาน และเป็นสิ่งที่เติมเต็มชีวิตจนไม่รู้สึกขาดพร่องอีกต่อไป