ใกล้วันอาสาฬหบูชา ชวนผู้อ่านเข้าใกล้ธรรมะด้วยการปลูกต้นไม้
พุทธพจน์บทหนึ่งกล่าวว่า “ชนเหล่าใดปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน จัดที่บริการน้ำดื่ม และบึงบ่อสระน้ำ ให้ที่พักอาศัย บุญของชนเหล่านั้นย่อมเจริญงอกงาม ทั้งคืนทั้งวัน ตลอดทุกเวลา”
นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่านอกจากงานสาธารณกุศลแล้ว การปลูกต้นไม้ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ควรกระทำอย่างยิ่งด้วย ต้นไม้นั้นเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาอย่างมาก ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เราก็เรียนรู้กันว่า ระหว่างการเดินทางของพระนางสิริมหามายา มาถึงอุทยานลุมพินี ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ กับกรุงเทวทหะ ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 6 ซึ่งมีการบรรยายไว้ว่า เวลานั้นอากาศโปร่ง ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ในป่าสาละกำลังผลิตดอกออก เบ่งบาน ส่งกลิ่นเป็นที่จำเริญใจ พระพุทธองค์ทรงประสูติภายใต้ต้นสาละใหญ่
อีกเหตุการณ์สำคัญเมื่อพระพุทธเจ้ามีพระชนมายุ ครบ 80 พรรษา เสด็จถึงสาลวโนทยานหรือสวนป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 เช่นกัน พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดที่บรรทมระหว่างต้นสาละใหญ่ 2 ต้น ทรงเอนพระวรกายลงหลังจากนั้นก็เสด็จปรินิพพาน
เหตุการณ์สำคัญทั้ง 2 นี้ ทำให้ผู้สนใจพระพุทธศาสนาสนใจต้นสาละกันมาก และเสาะหามาปลูกกันทั่วไป แต่ไม่น่าเชื่อว่าที่ผ่านมาหลายสิบปีมีการนำเอาต้นสาละคนละต้นกับต้นสาละเมื่อครั้งพุทธกาลมาปลูก แม้แต่ภาพวาดตามวัดหรือภาพวาดประกอบพุทธประวัติตามสื่อออนไลน์ก็พลอยวาดต้นสาละผิดต้นไปด้วย จึงขอชวนให้เข้าใจสักหน่อยเกี่ยวกับต้นสาละ
กล่าวคือ มีความสับสนระหว่าง สาละ(อินเดีย) กับ สาละ (ลังกา) ต้นที่อยู่ในพุทธประวัติ คือ ต้น สาละ(อินเดีย) แต่ที่คนไทยจำนวนมากเข้าใจผิดและคิดว่าใช่ คือ ต้นสาละ(ลังกา) ซึ่งต้นนี้น่าจะเป็นเพราะว่ามีการนำเข้าไปปลูกในประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นของอเมริกาใต้และคาดว่ามีการนำมาปลูกตามวัดในประเทศศรีลังกาในช่วงศตวรรษที่ 19 พอมีคนไทยไปเที่ยวก็เลยนำเข้ามาปลูกตามวัดในประเทศไทย และเจริญเติบโตได้ดีในเมือง อีกทั้งมีดอกสวยงามจึงมีการขยายการปลูกไปอย่างรวดเร็ว และทำให้เข้าใจผิดว่าเป็น ต้นสาละตามพุทธประวัติ
สาละ(ลังกา) มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Cannon ball Tree ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
Couroupita guianensis Aubl. อยู่ในวงศ์ Lecythidaceae เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ หนาทึบ เปลือกสีน้ำตาลแกมเทา แตกเป็นร่องและสะเก็ด ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ใบหนา ดอกสีชมพูอมเหลืองหรือแดง ด้านในสีม่วงอ่อนอมชมพู มีกลิ่นหอมมาก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะขนาดใหญ่ตามลำต้น ปลายช่อโน้มลง ผลสุกมีกลิ่นเหม็นมีเมล็ดจำนวนมาก รูปไข่
การใช้ประโยชน์ ผลกินได้แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ แต่มีการนำไปใช้ในการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ การใช้เป็นยาสมุนไพรพบในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในเขตลุ่มน้ำอเมซอน นำมาใช้ลดความดัน ลดอาการปวดและการอักเสบ นอกจากนี้ยังมีการใช้ในการรักษาหวัด ปวดท้อง ปวดฟัน รักษาแผลที่ผิวหนัง
สำหรับ สาละ (อินเดีย) มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Sal tree ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea robusta Gaertn. อยู่ในชื่อวงศ์ Dipterocarpaceae มีถิ่นกำเนิดแถบคาบสมุทรอินเดีย ตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัย มีการกระจายพันธุ์ใน เมียนมา เนปาล อินเดีย บังคลาเทศ ปัจจุบันมีการปลูกมากขึ้นในประเทศไทย ใช้การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง สาละ(อินเดีย) เป็นไม้ยืนต้นที่ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สามารถสูงได้ถึง 35 เมตร มีลำต้นตรง เปลือกสีน้ำตาลอมดำ แตกเป็นร่องสะเก็ดทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบ ใบดกหนา รูปไข่ ปลายใบหยักเป็นติ่งแหลมสั้น ผิวใบเป็นมันเกลี้ยง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ปลายกิ่งห้อยลู่ลง ดอกจะออกในช่วงต้นฤดูร้อน มีสีเหลืองอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อสั้นตามปลายกิ่งและง่ามใบ กลีบดอกและกลีบรองมีอย่างละ 5 กลีบ ผลแข็ง มีปีก 5 ปีก
สาละ(อินเดีย) เป็นไม้เนื้อแข็งที่สำคัญในอินเดีย เมื่อตัดครั้งแรกสีอ่อนและสีจะเข้มขึ้น เมื่อสัมผัสกับอากาศ เนื้อไม้มีเรซินและทนทาน เหมาะกับการทำกรอบประตูและหน้าต่าง ใบแห้งของสาละใช้ทำจานใบไม้และชามใบไม้ทางเหนือและตะวันออกของอินเดีย ซึ่งหลังจากใช้งานจะกลายเป็นอาหารของแพะ ใบสดใช้กินกับหมาก ในเนปาลใช้ใบไปทำเป็นจานและชามเช่นกัน
เมื่อเราเข้าใจต้นสาละที่แท้แล้วหากจะปลูกเพื่ออธิบายให้เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติก็จะได้ปลูกให้ถูกต้นก็น่าจะดี แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ควรปลูกต้นสาละ(ลังกา) เพราะต้นไม้ใด ๆ หากช่วยกันปลูกย่อมเป็นบุญกุศลตามพุทธพจน์แน่นอน
นอกจากสาละที่ชวนให้ปลูกแล้ว อยากให้ช่วยกันปลูกอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นต้นที่ดอกสวยงามและอยู่ในพุทธประวัติตอนหนึ่งที่สำคัญ คือ ต้นจิก หรือที่กล่าวไว้ในพุทธประวัติ เรียกว่า “มุจลินท์” ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับหลังจากตรัสรู้แล้ว ต่อมาพญานาคนามว่า “มุจลินท์” ขึ้นจากนาคพิภพมาขนดรอบพระวรกาย แล้วแผ่พังพานปรกมิให้ฝนต้องพระวรกาย อันนี้จึงเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งตอนนั้นพระพุทธเจ้าทรงประทับใต้ต้น จิก และมีข้อน่าสังเกต คือ พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ กล่าวไว้ว่า “มุจลินท์” เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นิจุละ คือ ต้นจิกนา(นีปะ) ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “The Tree Barringtona iAcutangula” ต้นมุจลินท์นี้เป็นเจ้าแห่งไม้ในป่า (ขุ.อุ.อ. 11/104)(เล่มที่ 25 หน้า 159)
จิก หรือเรียกว่า จิกน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Barringtonia acutangula (L.) Gaertn. อยู่ในวงศ์ Lecythidaceae ในประเทศไทยพบต้นจิกน้ำได้ทั่วทุกภาคตามริมฝั่งน้ำ ริมคลอง ริมบึง ป่าพรุและป่าชายเลน เป็นพืชชอบความชุ่มชื้น น้ำท่วมขัง สามารถปลูกใกล้แหล่งน้ำ ออกดอกเป็นช่อระย้าสวยงาม เป็นไม้ยืนต้นที่ให้ร่มเงาและยังโชว์ดอกสวยให้เราชมได้ด้วย
อาสาฬหบูชาปีนี้ ปีหน้า ปีต่อๆไป หากมาช่วยกันปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะเลือกต้นไม้ที่เกี่ยวพันในพระพุทธศาสนาซึ่งมีมากมายนับร้อยชนิด หากเลือก 3 ต้นนี้ก่อนก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเป็นการปลูกต้นไม้ที่ได้บุญกุศลและเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ปลูกกันมากๆ ก็เป็นการสร้างรมณียสถานให้ความร่มรื่น ก่อประโยชน์ตั้งแต่หนุนเสริมการภาวนา สร้างระบบนิเวศ และเป็นรากฐานปัจจัยสี่ให้กับมวลมนุษยชาติ
หากเริ่มที่วัดปลูกไม้ให้ครึ้ม หรือในพื้นที่สาธารณะก็จะเป็นการเริ่มต้นที่ง่ายและเป็นรูปธรรม