ย้อนหลังไปกว่า 40 ปี บ้านเรือนไทยเกือบทุกหลังจะปลูกต้นปีกไก่ดำเป็นรั้วหน้าบ้าน น่าจะแสดงถึงภูมิปัญญาสมุนไพรในอดีตของสังคมไทยเรียนรู้การใช้ต้นปีกไก่ดำเป็นสมุนไพรประจำบ้าน น่าเสียดายในปัจจุบันความนิยมและความรู้ในการใช้เกือบหายไปหมด
ปีกไก่ดำที่นำมาปลูกเป็นรั้วและนำมาใช้เป็นสมุนไพรประจำบ้านในอดีตนั้น น่าจะมาจากต้นไม้ 2 ชนิด คือ Justicia fragilis Wall. และ Justicia gendarussa Burm.f. ต้นปีกไก่ดำชนิด Justicia fragilis Wall.) กรมป่าไม้เรียกว่า “ปีกไก่ดำ” ส่วนชนิด Justicia gendarussa Burm.f. กรมป่าไม้เรียกชื่อ ว่า “สันพร้ามอญ” ชื่อทั่วๆ ไปอาจเรียกว่ากระดูกไก่ดำ ปีกไก่ดำทั้ง 2 ชนิด มีความแตกต่างที่เห็ดชัดเจนด้วยตาเปล่า คือ สีของลำต้นและลักษณะของดอก ปีกไก่ดำชนิด Justicia fragilis Wall. ลำต้นมีสีค่อนข้างเขียว ส่วน ปีกไก่ดำหรือสันพร้ามอญมีสีของใบและลำต้นน้ำตาลแดง แต่ทั้ง 2 ชนิดปีกไก่ดำเป็นไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในดินที่ร่วนซุย มักขึ้นเองตามริมลำธารในป่าดงดิบ ผลมีลักษณะเป็นฝัก
มาลงรายละเอียดกันนิด ปีกไก่ดำชนิด Justicia fragilis Wall. มีชื่ออื่น ๆ ได้แก่ ขาไก่ ขาไก่เขียว ขาไก่ดำ เป็นต้น การใช้ประโยชน์ทางยา ใบและต้น ตำพอกแผลแมลงกัดต่อย ช่วยดูดพิษถอนพิษ สำหรับสัตว์เข้าเครื่องยาถอนพิษงู หรือถอนพิษไก่ชนที่ถูกยาเบื่อ แก้ผื่นคัน ลมพิษ บดผสมน้ำทาบริเวณที่เป็น งูสวัด บดผสมเหล้าขาวเป็นน้ำกระสาย ทาบริเวณที่เป็น
ปีกไก่ดำชนิด Justicia gendarussa Burm.f. ข้อมูลจากกรมป่าไม้บอกว่าเป็นพืชนำเข้ามาจากต่างประเทศ มีชื่ออื่นๆ เช่น กระดูกดำ (จันทบุรี)ปองดำ แสนทะแมน (ตราด)เฉียงพร้า (สุราษฎร์ธานี)กุลาดำ บัวลาดำ (ภาคเหนือ)เกียงพา เกียงผา เฉียงพร้าบ้าน เฉียงพร้าม่าน เฉียงพร้ามอญ เฉียงพร่าม่าน ผีมอญ สันพร้ามอญ สำมะงาจีน (ภาคกลาง)โอกุด๊ดอื้งติ้น (จีน)ปั๋วกู่ตาน อูกู่หวางเถิง (จีนกลาง) เป็นต้น
พืชทั้ง 2 ชนิด มีการใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรเหมือนกัน ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ปรุงยาจากส่วนของใบ
ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมากินเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ใช้ใบสดนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้ใบนำมาตำผสมกับเหล้าคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ลดความร้อน ช่วยขับเลือดข้นในร่างกายให้กระจาย ช่วยกระจายเลือด แก้เลือดคั่งค้างเป็นลิ่มเป็นก้อน ทำให้เลือดที่อุดตันในร่างกายไหลเวียนสะดวก ใบนำมาต้มกับนมกินเป็นยาแก้ท้องร่วงอย่างแรง ใบนำมาต้มกับนมกินเป็นยาแก้ฝีฝักบัว น้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับเหล้ากินเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด แก้อาการช้ำใน แก้ปวดบวมตามข้อ กินเป็นยาแก้ไอ ยาขับปัสสาวะก็ได้ หรือจะใช้น้ำคั้นอย่างเดียวจากใบทาแก้อาการปวดตามข้อก็ได้เช่นกัน ใช้เป็นยาทาแก้อาการปวดท้อง
รากและใบนำมาตำผสมรวมกันใช้เป็นยาพอกถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น พิษงู ผึ้ง ต่อ แตนต่อย เป็นต้น หรือจะใช้กากของใบนำมาพอกแผลบริเวณที่ถูกกัดต่อยก็ได้ หรือใช้ใบนำมาขยี้ผสมกับเหล้าขาวทาได้เช่นกัน รากเป็นยาแก้ท้องเสีย รากและใบนำมาต้มกับน้ำใช้อาบแก้โรคผิวหนังและผื่นคันตามตัว รากเป็นยาทาเด็กที่เป็นเม็ดตุ่มขึ้นตามตัว และรากนำมาตำผสมเหล้าหรือน้ำส้มสายชู นำมาพอกบริเวณที่ปวดเมื่อยได้
ตำรายาพื้นบ้านของไทยมีการใช้ใบสดนำมาตำคั้นเอาน้ำดื่มใช้แก้อัมพาต ภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นกระดูกไก่ดำจัดอยู่ในตำรับยารักษาโรคมะเร็งเต้านมขนานหนึ่ง โดยเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยกระดูกไก่ดำ ไฟเดือนห้า ข้าวเย็นเหนือ ลิ้นงูเห่า และพุทธรักษา อย่างละเท่ากันนำมาต้มกับน้ำกิน ซึ่งตำรับยานี้ยังใช้รักษาอาการฟกช้ำ แก้ไข้ ลดความร้อน และช่วยขับเลือดข้นในร่างกายให้กระจายได้ด้วย
ในมาเลเซียและอินโดนีเซียนำใบสดมาตำคั้นน้ำกินแก้โรคหืด ใบมาต้มกับน้ำกินบำรุงโลหิต ใบสดมาตำผสมกับหัวหอมและเมล็ดเทียนแดง แล้วนำมาพอกแก้อาการปวดศีรษะ ทางตอนใต้ของอินเดียมีการใช้ใบของต้นกระดูกไก่ดำเพื่อรักษาโรคติดเชื้อหลายชนิด ทั้งต้นมีรสเผ็ด เป็นยาร้อนเล็กน้อย สรรพคุณเป็นยาขับลมชื้นตามข้อกระดูก
ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาสูตรตำรับทำเป็นสเปรย์ฉีด พ่นแก้อาการปวดข้อ ปวดเมื่อย ฟกช้ำ อักเสบเฉียบพลัน ใช้ฉีดบริเวณที่มีอาการปวดหรือมีการอักเสบของข้อต่าง ๆ ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระดูกไก่ดำสารที่พบได้แก่ สารอัลคาลอยด์ Juaticin และมีน้ำมันระเหยประกอบอยู่ด้วย มีรายงานก่อนหน้านี้ว่า สาร Apigenin ซึ่งพบในใบกระดูกไก่ดำมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของมะเร็งต่อมลูกหมากได้สารสกัดกระดูกไก่ดำมีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของมนุษย์ในหลอดทดลอง โดยเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์ (Apoptosis) ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือด (Anti-angiogenesis) ซึ่งฤทธิ์ดังกล่าวน่าจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นยารักษามะเร็งได้ในอนาคต
ล่าสุดกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University of Illinois (ชิคาโก) มหาวิทยาลัย Baptist University (ฮ่องกง) และสถาบัน Vietnam Academy of Science and Technology (เวียดนาม) ได้ร่วมกันตีพิมพ์ผลการวิจัยล่าสุดลงในวารสาร Journal of Natural Products ถึงการค้นพบสารประกอบ Patentiflorin A จากต้นกระดูกไก่ดำ ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส HIV ได้ดีกว่ายาอะซิโดไทมิดีน (Azidothymidine) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่ให้เข้าใจว่ายังไม่ได้ทดสอบในร่างกายมนุษย์จริงๆ จนกว่าจะมั่นใจเรื่องผลข้างเคียง ในอนาคตหากผลิตยาต้านไวรัส HIV จากสารต้นกระดูกไก่ดำได้ ยาต้านไวรัสน่าจะราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อผู้ป่วยในประเทศยากจนด้วย
กระดูกไก่ดำยังนิยมใช้กับสัตว์ เช่น ไก่ขาหัก โดยเฉพาะไก่ชนจะใช้ใบปีกไก่ดำมาประคบหรือห่อหุ้มไว้ตรงขาไก่ที่หัก หมอยาพื้นบ้านก็ใช้เช่นกัน ใครแขนหรือขาแตกหักก็จะใช้ทำลักษณะเดียวกัน ปีกไก่ดำที่คนไทยลืมและห่างหายไปจากวิถีชีวิตเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพสูง ควรหันมาส่งเสริมงานวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อมหาชนต่อไป.