ถึงวันเด็กแห่งชาติคราวใด สิ่งที่ลูกหวนคิดถึงเป็นอันดับแรกคือ “ค่าน้ำนมแม่” ตามวรรคทองของเพลง”ค่าน้ำนม” ที่ครวญว่า ”โอ้ว่าแม่จ๋า ลูกคิดถึงค่าน้ำนมเลือดในอกผสม กลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน…หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย”
มีพุทธพจน์หนึ่งกล่าวถึงเด็กว่า ”ปุตตัง มนุสสะฐานัง” แปลว่า เด็กเป็นรากฐานของมนุษยชาติ อันเป็นสัจพจน์ที่ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยนำไปสร้างเป็น คัมภีร์ปฐมจินดาว่าด้วยการกำเนิดจักรวาลและมนุษย์ โดยมีแม่เป็นพรหมให้กำเนิดเด็ก ซึ่งมีความสำคัญประหนึ่ง “แก้วดวงแรก” ที่ท่านให้ความหมายไว้ว่า “ชีวิตใหม่ที่เริ่มต้นอันมีคุณค่าดุจแก้วมณี” นี่แหละคือปรัชญากุมารเวชศาสตร์แผนไทยที่มีแนวคิดเรื่องเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Center) มาก่อนปรัชญาการศึกษาฝรั่งเสียอีก ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในคัมภีร์ปฐมจินดา บริบทแรกยังกล่าวถึงกำเนิดจริยธรรมอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่มาจากสำนึกของลูกขณะอยู่ในท้องแม่ นั่นคือ ”ความกตัญญู” ดังท่านสาธกยกอุทาหรณ์สอนไว้ว่า “เมื่อกุมารกุมารีนั้นเจริญพร้อมด้วยอินทรีย์แลเบญจขันธ์แล้ว อาการ 32 ก็บริบูรณ์ด้วย… จิตรจึงคิดว่ามารดาของอาตมนี้ประกอบไปด้วยความกรุณา อุตส่าห์บำรุงรักษาอาตมนี้ ก็มีคุณหาที่สุดมิได้ เมื่อใดอาตมจะได้ออกไปจากครรภ์มารดา อาตมจะได้แทนคุณมารดาของอาตม…” อันเป็นที่มาของพุทธสุภาษิตที่ว่า “นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา กตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายแห่งคนดี”นั่นเอง
เมื่ออยู่ในท้องแม่ ทารกยังเป็นศิษย์สะดืออาศัยอาหารและอากาศผ่านสายสะดือในท้องแม่ แต่เมื่อคลอดอุแว้สู่โลกภายนอกแล้ว อาหารมื้อแรกที่ทารกได้ดูดดื่มประทังชีวิตก็คือ หยาดน้ำนมจากอกแม่ ซึ่งถือว่าเป็นอาหารศักดิ์สิทธิที่มีคุณค่าทางจริยธรรมสูงสุดที่แม้แต่พระพุทธองค์ยังทรงโอนอ่อนตาม ดังกรณีที่พระอานนท์อนุชาทูลขอพุทธานุญาตให้พระน้านางปชาบดีได้อุปสมบทเป็นภิกษุณี โดยยกพระคุณของพระน้านางที่เคยประทานพระขีรธารา (น้ำนม) แด่พระพุทธองค์เมื่อครั้งทรงเป็นทารก ทั้งที่แต่แรกพระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบวช จึงกล่าวได้เลยว่า ค่าน้ำนมของพระนางปชาบดีก่อให้เกิดภิกษุณีบริษัทขึ้นในโลก
ค่าน้ำนมแม่ในทางจริยธรรมนั้นสูงส่ง แต่คุณค่าทางอาหารของน้ำนมแม่ยังเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งคัมภีร์ปฐมจินดาอันเก่าแก่มีคำตอบให้โดยมีวิธีทดสอบง่าย ๆ ว่าน้ำนมแม่มีคุณภาพหรือไม่ดังนี้ “ถ้าแพทย์จะพิจารณาดูน้ำนมดีแลร้ายนั้น ให้เอาน้ำใส่ขันลงแล้วให้แม่นมนั้นหล่อนมลงดู ถ้าแลสีน้ำนมขาวดังสีสังข์ แลจมลงในขันสัณฐานดังลูกบัวเกราะ นมอย่างนี้จัดเอาเป็นน้ำนมอย่างเอก ถ้าหล่อน้ำนมลง แลน้ำนมนั้นกระจาย แต่ว่าข้นจมลงถึงก้นขัน แต่ไม่กลมเข้า น้ำนมอย่างนี้จัดเอาเป็นน้ำนมอย่างโท”
ท่านว่าถ้าพ้นจากน้ำนม 2 ประการนี้แล้ว ถือว่าใช้ไม่ได้ จะต้องแก้ไขให้เป็นน้ำนมดีเสียก่อนใช้เลี้ยงทารก ในที่นี้ขอแนะนำยาแผนไทยตามพระคัมภีร์หนึ่งตำรับ เป็นยาใช้ภายนอก ปลอดภัย ใช้สะดวก ได้ผลดี คือ ตำรับยาทานมแม่
วิธีปรุงยา ในพระคัมภีร์กล่าวว่า “ท่านให้เอาโกฐสอ บดละลายน้ำมันเนยทานม บำบัดโรคแห่งกุมารดีนัก” ยาทาตำรับนี้ใช้พืชสมุนไพรแค่ตัวเดียว ผสมกับน้ำมันเนย ซึ่งก็คือตัวเดียวกับน้ำมันเนยใสที่ทำจากนมโค หรือนมแพะ ที่พระวินัยอนุญาตให้ภิกษุเก็บไว้ฉันเป็นยาได้เป็นเวลาไม่เกิน 7 วัน ที่เรียกว่า สัตตาหกาลิก ปัจจุบันนักนิยมอาหารสุขภาพรู้จักเนยใสในชื่อ เนยกี (Ghee ) ซึ่งหาซื้อได้ในห้างสรรพสินค้าทั่วไป น้ำมันเนย เนยใส หรือเนยกี เป็นไขมันชนิดดี ที่อุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามิน เอ ช่วยต้านการอักเสบในร่างกาย ประโยชน์ที่สำคัญอีกข้อคือ เนยใส ปราศจากน้ำตาลแลคโตส เพราะในกระบวนการผลิต จะมีการสกัดนม (milk solid) และน้ำออกไป จึงได้เฉพาะเนยใสที่บริสุทธิ์
ดังนั้นเด็กและผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์จากนมโคหรือแพ้น้ำตาลในนม จึงสามารถรับประทานเนยใสแทนนม เนยทั่วไปได้ และในกระบวนการผลิตเนยใสยังมีการกำจัดเคซีน (Caesine) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ ออกไปด้วย เด็กหรือผู้ที่แพ้เคซีนสามารถบริโภคเนยใสได้อย่างปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้น เนยใสยังถูกนำไปใช้เป็นพลังงานสำหรับร่างกายได้รวดเร็ว ไม่ต้องผ่านการย่อยของตับเลย จึงไม่ทำให้ตับพังจากการทำงานหนักนอกจากนี้ เนยใสยังมีอายุการใช้งานที่นานกว่าเนยธรรมดา โดยไม่ต้องแช่ในตู้เย็นให้ยุ่งยาก
รู้จักเนยใสยาดีในพระไตรปิฎกแล้ว คราวนี้มาทำความรู้จักกับโกฐสอหรือโกฐขาวบ้าง (สอ แปลว่า ขาว) ในตำรับยาไทยโบราณที่บันทึกในตำราพระโอสถพระนารายณ์ใช้โกฐสอจากต่างประเทศ 2 ชนิด คือโกฐสอจีน (ชื่อวิทยาศาสตร์:Angelica dahurica ) และโกฐสอเทศ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Iris germanica) ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กัน แต่สัณฐานวิทยาภายนอกและสรรพคุณคล้ายกันใช้แทนกันได้ คือ มีรสสุขุม มัน กลิ่นหอม สรรพคุณ แก้ไข้ ไอ หวัด ขับเสมหะ แก้หืด ชุ่มคอ บำรุงหัวใจให้สดชื่นกระชุ่มกระชวย แต่โกฐสอเทศมีพิษข้างเคียงน้อยกว่าโกฐสอจีน เห็นได้จากประวัติศาสตร์การใช้ยาของหมอกลางบ้านในยุโรป ใช้แผ่นโกฐสอเทศแห้งเจาะรูร้อยเชือกผูกห้อยคอเด็ก สำหรับให้เด็กอมหรือกัดเล่นช่วงหย่านมแม่ และเป็นเครื่องยาคุ้มครองสุขภาพเด็กไปด้วยในตัว
ปัจจุบันโกฐสอเทศที่ผลิตจากอิตาลีและโมร็อกโคเป็นส่วนประกอบสำคัญในชาชงแก้ไอ ขับเสมหะที่นิยมแพร่หลายในยุโรป ซึ่งสอดคล้องกับการที่แพทย์หลวงไทยในราชสำนักอยุธยานิยมใช้โกฐสอเทศมากกว่าโกฐสอจีนเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหลวงหลายขนานที่ใช้แก้ไฟธาตุพิการ แก้หืดไอ แก้เสมหะกำเริบ แก้ลมอัมพาต แก้มือเท้าบวม หรือเป็นยาทรงนัตถุ์แก้พระวาโย เป็นต้น ดังนั้นในตำรับยาทานมแม่จึงควรเลือกใช้ผงแป้งโกฐสอเทศแท้คลุกเคล้ากับเนยกีในโกร่งบดยา ใช้เล็กน้อยมาร์คทานมแม่ลูกอ่อนตอนลูกดูดนม
อย่างไรก็ตาม น้ำนมแม่จะมีคุณค่าแท้จริงแก่ทารกได้ก็ต้องบำรุงคุณแม่ด้วยอาหารที่ถูกหลักโภชนาการด้วย จึงจะช่วยให้ “หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย” ขอจบด้วยคำขวัญวันเด็กเก่าที่ว่า “เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า” ด้วยนมแม่.