สนทนาว่าด้วย “สายพันธุ์ไทย” ไม่เกี่ยวกับใคร ๆ “สายพันธุ์ใหม่” ในสภาไทย หลายคนคงไม่รู้ว่าหม่อนพืชสมุนไพร พืชเศรษฐกิจ ที่คนไทยรู้จักกันทั่วไป และเกษตรกรนำใบมาเลี้ยงตัวไหม บางที่ก็ปลูกเอาผลมากินมาขายหรือนำมาแปรรูปนั้น เป็นหม่อนสายพันธุ์จีน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus alba L. โดยปกติหม่อนจัดอยู่ในสกุล Morus ซึ่งในฐานข้อมูลระดับโลกของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว บันทึกไว้ว่ามีทั้งสิ้น 17 ชนิด (species) และกล่าวถึงสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในไทยเพียง 2 ชนิด คือ Morus indica L. และ Morus macroura Miq. แต่คนไทยเกือบจะไม่รู้จักหม่อนทั้ง 2 ชนิดนี้เลย
หม่อนสายพันธุ์ไทย ชนิด Morus macroura มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า king white mulberry หรือ Himalayan Mulberry หรือ long mulberry เนื่องจากมีช่อผลที่ยาวและใหญ่กว่าหม่อนชนิดอื่น ๆ ผลมีขนาดยาว 6-12 เซ็นติเมตร คนอีสานเรียกหม่อนชนิดนี้ว่า “มอนเฮื้อ” มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออก จีน อินเดีย เนปาล ภูฐาน เมียนมาร์ ไทย กัมพูชา มาเลเซียและอินโดนีเซีย หม่อนชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 40 เมตร ผลสุกมีทั้งสีขาว ชมพูหรือแดง รสหวานเหมือนน้ำผึ้ง พบได้ในป่าเขตร้อนที่ระดับความสูง 300-2,200 เมตร ในเมืองไทยพบได้ทั้งในป่าทึบและป่าโล่งแจ้ง สามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อน ทนต่ออากาศเย็นได้ดี จัดอยู่ในกลุ่มไม้โตเร็ว มีอายุยืนยาวนานอย่างไม่น่าเชื่อว่าให้ผลได้หลายร้อยปี หม่อนชนิดนี้มีต้นตัวผู้และต้นตัวเมียแยกกัน ถ้าจะปลูกเพื่อให้ได้ลูกต้องปลูกทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย
ในต่างประเทศมีรายงานการใช้น้ำคั้นจากเปลือกต้นเป็นยารักษาแผลสดและแผลเปื่อย ผลสดใช้เป็นยาบำรุงและแก้อาการระคายคอ ในอดีตจะพบหม่อนสายพันธุ์ไทยนี้ในเกือบทุกชุมชนของภาคอีสาน และนำมาเป็นยาสมุนไพรใช้กันทั่วไป เช่น นำรากมาเข้าตำรับยารักษาได้หลายโรค เช่น ไข้หมากไม้ ทรางขาว กินผิด ฝีในท้อง เจ็บในหัวใจ ทำมะลา (ฝีในคอ) และโล่งเลือด (อาการตกเลือดก่อนหมดประจำเดือน) แต่ในปัจจุบันพบได้น้อยมาก ในอดีตเคยนำมาปลูกเป็นไม้เบิกนำ โดยเฉพาะการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้ฟื้นกลับมาได้เร็วเพราะเป็นไม้โตเร็ว และยังให้ผลที่เป็นอาหารของนกและค้างคาวได้เป็นอย่างดีด้วย ในอดีตยังมีการนำเปลือกต้นมาใช้ทำกระดาษ เนื้อไม้และใบใช้เป็นสีย้อม เนื้อไม้มีความละเอียดสวยงามจึงนำมาแปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์ ของประดับ อุปกรณ์ทางการเกษตร และใช้เป็นเชื้อเพลิงทั่วไปเพราะเป็นไม้โตไวนั่นเอง
หม่อนอีกชนิดหนึ่งที่เป็นสายพันธุ์ไทย คือ หม่อนที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus indica L. ดูจากชื่อมีคำว่า indica ก็มาจากการพบครั้งแรกในอินเดีย แต่ก็มีถิ่นกำเนิดในไทยด้วย หม่อนชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 10-15 เมตร ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน เมื่อดอกเพศเมียได้รับการผสมพันธุ์แล้ว จะเกิดผลรวมที่มีเนื้อเป็นก้อนที่เรียกว่า “ซินคาร์ป” ซึ่งจะมีสีดำเมื่อสุกเต็มที่ มีลักษณะคล้ายกับหม่อนดำ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus nigra L. ซึ่งเป็นหม่อนที่มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอิหร่าน ปัจจุบันพบว่าคนไทยก็นำสายพันธุ์อิหร่านมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากผลหม่อนคล้าย ๆ กับหม่อนพันธุ์อื่น ๆ
สำหรับหม่อนสายพันธุ์ไทย ชนิด Morus indica L. มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่ดี ภูมิปัญญาการรักษาแบบพื้นบ้านใช้กับผู้ป่วยเบาหวาน และมีงานวิจัยทั้งในสัตว์ทดลองและในคนที่แสดงให้เห็นว่าหม่อนชนิดนี้มีสรรพคุณในการบรรเทาเบาหวานได้ดี ผลมีกลิ่นหอม รสเย็น สรรพคุณเป็นยาระบาย ใช้แก้กระหายน้ำ ช่วยรักษาไข้ เปลือกต้นมีฤทธิ์ขับพยาธิและนำมาพอกรักษาโรคเหงือกอักเสบ นำใบมาต้มเป็นยาบ้วนปากเพื่อรักษาอาการอักเสบของสายเสียง รากก็มีฤทธิ์ฝาดสมานและขับพยาธิ เปลือกรากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะและขับเสมหะ ใช้เป็นยาต้มรักษาอาการร้อนในปอด หอบหืด เสมหะมาก ใบหน้าบวมน้ำ ด้วย ประโยชน์อื่นๆ ยังนำเอาเปลือกมาทำกระดาษได้ และน่าตื่นตาตื่นใจที่มีการนำเอาสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของหม่อนชนิดนี้มาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเชิงพาณิชย์ เช่น สารป้องกันการเกิดสิว สารต้านจุลินทรีย์ สารต้านอนุมูลอิสระ สารสมานผิว สารให้ความชุ่มชื้นและครีมนวดผม
หากสืบค้นข้อมูลทั่วไปในประเทศไทย จะพบข้อมูลสมุนไพรหม่อนทั้งที่ใช้ในความรู้ยาพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย หรือการใช้ในครัวเรือนนั้น จะอ้างอิง หม่อน มี่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus alba L. ซึ่งเป็นหม่อนที่มีถิ่นกำเนิดในจีน เช่น กล่าวถึง ใบ ที่มีรสจืดเย็น เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำยาต้มใช้อมแก้เจ็บคอ และทำให้เนื้อเยื่อชุ่มชื้น แก้ไอ ระงับประสาท และใบยังใช้ทำชาชงดื่มกินมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ หรือใบต้มน้ำรอให้เย็นนำมาเป็นยาชะล้างตาแก้ตาอักเสบ ใบอังไฟและทาด้วยน้ำมันมะพร้าวใช้วางบนแผล หรือตำใช้ทาแก้แมลงกัด กิ่งอ่อน ใบอ่อน ใช้แก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ เช่นกัน
ผล มีรสเปรี้ยวหวานเย็น นำมาต้มน้ำหรือเชื่อมกิน เป็นยาเย็น ยาระบายอ่อนๆ แก้ธาตุไม่ปกติ บรรเทาอาการกระหายน้ำ แก้โรคปวดข้อ เปลือกราก ใช้แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ทำให้ชุ่มคอ บำรุงไต ดับร้อน ช่วยย่อย และเพิ่มความสดชื่น เมล็ด กินได้ช่วยเพิ่มกากใยอาหาร เปลือก เป็นยาระบายและยาถ่ายพยาธิ ราก ใช้ขับพยาธิและเป็นยาสมาน รากนำมาตากแห้งต้มผสมน้ำผึ้ง เป็นยาที่มีรสหวานเย็น ใช้กับในโรคทางเดินหายใจ ใช้แก้ความดันโลหิตสูง
ข้อน่าสังเกตจากมูลนิธิสุขภาพไทย คือ สรรพคุณดีและเด่นของหม่อนที่กล่าวไว้นั้น อาจมาจากหม่อนสายพันธุ์ไทย 2 ชนิดข้างต้นก็เป็นได้ เพราะอยู่ในรากวัฒนธรรมไทยและมีการสืบทอดการใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุใดไม่ทราบที่ทำให้นักวิชาการและหน่วยงานรัฐของเรา หลงลืมหรือละเลยหม่อนสายพันธุ์ไทยที่มีสรรพคุณดีและเด่นเช่นนี้
ไม่มีสิ่งใดสายเกินไป ถ้าช่วยกันนับหนึ่งรักษาสายพันธุ์และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ไม่นานก็จะมีหม่อนสายพันธุ์ไทยมากขึ้น กระซิบบอกว่าทางมูลนิธิสุขภาพไทยกำลังทดลองเพาะขยายพันธุ์หม่อนไทยในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัดจ้า.