งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ปี 2567 หรือ Thailand Herbal Expo 2024 และการประชุมวิชาการปีนี้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เนื่องเพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณแห่งศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชธานี เสด็จทรงเป็นองค์ประธานพิธีเปิดงานและพระราชทานโล่รางวัลหมอแผนไทยดีเด่นแห่งชาติและบุคคลต่าง ๆ ที่สำคัญยิ่งคือได้พระราชทานพระดำรัส อันมีใจความตอนหนึ่งว่า
“งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติจะเป็นเวทีในการสร้างมูลค่าให้กับภูมิปัญญาของประเทศไทย ประชาชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และรับบริการสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐานและปลอดภัย เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพ รวมถึงการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาไม่ให้สูญหาย ประสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ”
รางวัล “หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ”เป็นรางวัลระดับประเทศเพื่อเชิดชูเกียรติและขวัญกำลังใจของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพในการทำประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ ผู้ได้รับเลือกเป็น”หมอไทยดีเด่น”เทียบได้กับนางสาวไทย ที่มีเพียงหนึ่งเดียว ผ่านตะแกรงการคัดกรองคุณสมบัติอย่างถี่ยิบ ทั้งทางด้านคุณธรรม จริยธรรมเป็นที่ยอมรับนับถือของชุมชน มีความรู้ความเชี่ยวชาญในดูแลรักษาผู้ป่วยและการถ่ายทอดองค์ความรู้ มีประสบการณ์ในการดูแลรักษามาไม่น้อยกว่า 10 ปี ยิ่งกว่านั้น ยังพิจารณาถึงความสามารถพิเศษ เช่น ทักษะการแปลคัมภีร์ การบันทึกตำรา เทคนิคเฉพาะในการรักษา การประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อการรักษา เป็นต้น
ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็น “หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567” คือ หมอภาณุพงศ์ ปริยวงศ์กร หรือหมอใหญ่ ผู้สืบทอดภูมิปัญญาการรักษากระดูกหักและการใช้น้ำมันนวดบำบัดอัมพฤกษ์อัมพาตจากพ่อท่านจบ หรือพระครูธรรมธราธิคุณ(บรรจบ ฐิตญาโณ) เกจิอาจารย์และหมอพระชื่อดังแห่งวัดธาราวดี(วัดบางจากบน)แห่งนครศรีธรรมราช วิชาที่หมอใหญ่ถ่ายทอดจากครูบาอาจารย์คือการเข้าเฝือกรักษากระดูกหัก กระดูกร้าว ข้อเคลื่อน ข้อเคล็ด ข้อติด ข้อหลุด และการใช้น้ำมันประสานเส้นเอ็นกระดูก กำกับด้วยพระพุทธมนต์ บอกได้เลยว่าการที่วิชารักษากระดูกของพ่อท่านจบได้ผลชะงัดนั้น นอกจากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้ว ยังเป็นเพราะพ่อท่านบำเพ็ญทานบารมีด้วยการรักษาผู้ป่วยแบบให้เปล่า ไม่คิดแม้กระทั่งค่าตั้งราดหรือค่ายกครู เลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว จรรยาบรรณหมอพระข้อนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงหมอใหญ่ผู้เป็นศิษย์ก้นกุฏิด้วย ท่านมักบอกแก่ลูกไข้ทั้งหลายว่า “ไม่มีค่าครู หมอก็รักษาให้ทุกคน ไม่ต้องกังวล แค่ยกมือไหว้ครูก็พอแล้ว”ต่อไปนี้คือ สูตรตำรับน้ำมันนวดสมุนไพรของพ่อท่านจบและยาหม่องหมอใหญ่ ให้เป็นโอสถทาน ตำรับน้ำมันนวดสมุนไพร ส่วนประกอบสมุนไพรสด
ส่วนใบ ได้แก่ใบกระดูกไก่ดำ ใบกุ่มบกหรือกุ่มน้ำ ใบเสลดพังพอนตัวผู้ ใบเสลดพังพอนตัวเมีย ใบยอ ใช้อย่างละ 2 กก. ส่วนเถา ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน ใช้อย่างละ 2 กก. ส่วนเหง้า ได้แก่ ไพล ขมิ้นชันหรือขมิ้นอ้อย ข่า ใช้อย่างละ 2 กก. ส่วนธาตุวัตถุ ได้แก่ การบูร พิมเสน เกล็ดสะระแหน่หรือเมนทอล ใข้อย่างละ ประมาณ 200 กรัม ส่วนของเหลวที่ใช้สกัดสมุนไพร ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว 5 ปี๊บ (ปี๊บละ 18 กก.) หรือราว 90 กก.
วิธีปรุงน้ำมันยาสมุนไพร 1.ล้างสมุนไพลสดทั้งหมดให้สะอาด นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ 2.นำมาตำหรือบดให้ละเอียด 3.ตั้งกะทะใบบัวบนเตาไฟ ใส่น้ำมันมะพร้าว ตั้งไฟอ่อนประมาณ 50-60 องศาเซลเซียส 4.นำสมุนไพลสดที่บดแล้วลงกะทะเคี่ยวในน้ำมันมะพร้าว เคี่ยวตลอดเวลาเพื่อช่วยให้ได้การสกัดที่สมบูรณ์ จนกระทั่งสมุนไพรกรอบ(ตักบีบดู) ใช้เวลาราว 3 ชม. 5.ปลงกะทะน้ำมันจากเตานำมากรองเอากากออก ได้น้ำมันสมุนไพรใสสีเขียวอ่อน ขณะน้ำมันยังอุ่น ใส่ของเหลวที่ได้จากการหลอมตัวของการบูร พิมเสน และเมนทอล ลงละลายในน้ำมัน 6.ก่อนบรรจุน้ำมันลงขวดตามขนาดที่ต้องการ หากเป็นสายมูก็ต้องท่องคาถาพระมหาโมคคัลลาน์ต่อกระดูก 108 จบ เพื่อความเข้มขลัง ดังนี้ “เถโรโมคคัลลาโน อันตรายิตตะวา ภูมิสุขุมัง ปะระมาโน ภะคะวะโต อิทธิยา อัตตะโน สะรีเร มังสัง โลหิตัง”
สรรพคุณ เป็นน้ำมันที่ใช้ประสานกระดูกหักและเส้นเอ็นพิการในระหว่างการเข้าเฝือก และยังใช้นวดแก้อัมพฤกษ์ บรรเทาอาการอัมพาต แก้เส้นตึง ปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออักเสบ ใช้ใส่รักษาแผลสด และแผลเบาหวานที่รักษายาก ได้ผลดี
ตำรับยาหม่องหมอใหญ่ ส่วนประกอบ น้ำมันนวดสมุนไพรพ่อท่านจบ เพิ่มพาราฟิน วาสลิน น้ำมันยูคาลิปตัส และน้ำมันระกำตามสัดส่วนที่ต้องการ วิธีปรุงยาหม่อง นำส่วนผสมทั้งหมดมาหลอมละลายกวนให้เป็นเนื้อเดียวกัน ในภาชนะที่หล่อน้ำ ตั้งบนไฟให้น้ำอุณหภูมิประมาณ 50-60 องศาเซลเซียส บรรจุลงขวดตามขนาดที่ต้องการ สรรพคุณ:ใช้ทาถูนวดบรรเทาอาการปวดเมื่อย เคล็ด ขัดยอก สูดดมแก้หวัดคัดจมูก ใช้แก้ลมวิงเวียนแทนยาดมได้
ปีมะโรงงูใหญ่ 2567 นี้ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มขั้น นั่นหมายความว่าเราจะมีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เกิน 1 ใน 5 ของประชากร หรือ อัตราเฉลี่ยในกลุ่มคนไทย 5 คนจะพบผู้สูงวัย 1 คน โดยเฉพาะในท้องถิ่นชนบท จะมีอัตราผู้สูงอายุมากกว่าในเมือง เพราะคนหนุ่มสาวทิ้งชนบทเข้าเมืองกัน จนหมู่บ้านเหลือแต่เด็กกับคนแก่ และความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่พบบ่อยในชนบทคือ ภาวะกระดูกหักในผู้สูงอายุที่ประสบอุบัติเหตุจากการหกล้ม การมีหมอกระดูกพื้นบ้านจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเป็นที่พึ่งของครอบครัวผู้สูงอายุ ที่มีหมอรักษากระดูกอยู่ในชุมชน ไม่ต้องถ่อสังขารคนแก่กระดูกหักไปรอเข้าคิวรักษาในเมือง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีงานวิจัยว่าหมอกระดูกพื้นบ้าน และหมอพื้นบ้านทั่วไปให้การดูแลรักษาฉันญาติพี่น้องตอบสนองความพึงพอใจของกลุ่มผู้เฒ่าเป็นอย่างดี
ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย มีคำตอบกับปัญหาสุขภาพในพื้นที่ หมอไทยดีเด่นปีนี้เป็นตัวอย่าง ผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้มีหมอพื้นบ้านทำหน้าที่เป็นหมอคนที่หนึ่งในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิใกล้บ้านในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป.