เมื่อดูจากรายงานของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.)ซึ่งล่าสุดทำไว้แค่ปี พ.ศ.2564 อาจทำให้ย่ามใจว่าตัวเลขคนไทยสูบบุหรี่ลดลงเหลือแค่ 9 ล้าน 9 แสนคน หรือ 17.4 %ของประชากรทั้งประเทศ แต่ถ้าสแกนตัวเลขลงไป จะพบว่าในจำนวนนี้มีคนเสพติดแบบสูบทุกวันถึง 8 ล้าน 7 แสนคน ที่น่าห่วงคือ มีคนวัยเรียนป.ตรี (อายุ 20-24 ปี) ติดบุหรี่เกือบ 2 ล้านคน และคนวัยทำงาน (อายุ 25-44 ปี) ติดบุหรี่อีกกว่า 2 ล้านคน รวม 2 กลุ่มวัยสร้างชาตินี้ ก็ร่วม 5 ล้านคนเข้าไปแล้ว
ในที่นี้อยากชวนให้สังคมไทยหันมาใส่ใจกลุ่มเยาวชน (15-19 ปี) ที่ติดบุหรี่ แม้เวลานี้จะมีไม่ถึง 7 แสนคน แต่ด้วยกลยุทธ์การมอมเมาทางการตลาดเหนือรัฐของบรรษัทบุหรี่ข้ามชาติ ที่มุ่งเป้าขยายตลาดไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นนักสูบหน้าใหม่ ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่คือ บุหรี่ไฟฟ้า ไร้ควัน จุดขายของบุหรี่ไฟฟ้า คือโฆษณาชวนเชื่อว่า การหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดาที่มีอันตรายจากสารพิษต่าง ๆ ที่มากับควันบุหรี่ เช่น น้ำมันดิน ไซยาไนด์ คาร์บอนมอน็อกไซด์ ฯลฯ ที่เข้าไปทำลายปอดของผู้สูบมือหนึ่งและผู้สูบมือสองที่อยู่รอบข้าง
ขนาดกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ก็ยังหลงกลข้อมูลผิดบิดเบือนของบรรษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่มาแล้ว ถึงกับประกาศสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าอย่างชัดเจน โดยมีนโยบายแจกบุหรี่ไฟฟ้าฟรีด้วยสโลแกนสวยหรูว่า “Swap to Stop” (หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนเพื่อหยุดบุหรี่ควัน) แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ สัดส่วนผู้ใหญ่ที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดากลับมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนเด็กและเยาวชนอังกฤษที่เข้ามาติดบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้น จากข้อมูลการสำรวจช่วงปี 2560-2565 พบเยาวชนอังกฤษติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จาก 8% เป็น 24% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าในวัยรุ่นอเมริกันเสียอีก ขณะนี้รัฐบาลซูนัคของอังกฤษกำลังออกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งและห้ามขายบุหรี่แก่คนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังค.ศ.2009 ด้วย เพราะนอกจากอันตรายกว่าและเสพติดง่ายกว่าบุหรี่ธรรมดาหลายเท่าแล้ว ยังมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน แถมไม่มีข้อห้าม คำเตือนและภาพน่าเกลียดน่ากลัว แสดงอันตรายของบุหรี่ติดไว้เหมือนบุหรี่ซอง
เดี๋ยวนี้มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าสูบแล้วทิ้งในรูปลักษณ์ของกระบอกน้ำรูปตุ๊กตา หรือกล่องนมที่เด็กนำเข้ามาสูบในบ้าน โดยที่ผู้ปกครองไม่รู้เพราะคิดว่าเด็กกำลังดูดน้ำผลไม้ หรือดูดนมที่มีกลิ่นหอมต่าง ๆ หลากหลายให้เลือกกว่าหมื่นกลิ่นและชุดหนึ่งสามารถสูบได้ถึง 5,000 ครั้ง มีนิโคตินมากกว่าบุหรี่มวนใบยาสูบถึงพันเท่า รับรองว่านักสูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่ต้องเสพติดแน่นอนอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เคยมีการคำนวณว่าสูบบุหรี่ 1 ม้วน เท่ากับสูบชีวิตหมดไป 7 นาที แต่สูบบุหรี่ไฟฟ้าน่าจะบั่นทอนอายุมากกว่าหลายเท่า ตอนนี้เริ่มพบว่าเด็กไทยอายุแค่ 6-7 ขวบ ติดบุหรี่ไฟฟ้ากันงอมแงมแล้ว
ภาวะติดบุหรี่เกิดจากการเสพติดสารนิโคตินในบุหรี่ โดยสารนี้จะกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทในสมอง หนึ่งในนั้น คือ สารโดพามีน (Dopamine) ที่มีคุณสมบัติช่วยให้อารมณ์ดี มีความสุข ความรู้สึกรื่นรมย์ดังกล่าวทำให้ผู้สูบไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ หากพยายามเลิกสูบก็อาจเกิดอาการขาดยา เช่น รู้สึกอยากสูบบุหรี่อย่างมาก วิตกกังวล หงุดหงิด กระสับกระส่าย เป็นต้น ดังนั้นหากจะเลิกบุหรี่ให้ปลอดภัย ได้ผลจึงต้องมีตัวช่วย มีสมุนไพรที่เป็นหญ้าวัชพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการวิจัยสมุนไพรต้านบุหรี่ คือ หญ้าดอกขาว ชื่อพฤกษศาสตร์ Vernonia cinerea (L.) Less. มีชื่อสามัญของฝรั่งว่า Little ironweed หรือ ”หญ้าเหล็กน้อย”เพราะมีธาตุเหล็กมาก
หมอไทยใช้ทั้งต้น 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 4 ถ้วย ดื่มต่างน้ำชาเป็นยาบำรุงเลือด แก้ตกเลือด เนื่องจากหญ้าดอกขาวใช้แก้สารพัดโรค ได้แก่ แก้ไข้ ไอ หวัด คัดนม ช่วยให้สตรีคลอดง่าย แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับปัสสาวะ ขับนิ่วแก้ปวดข้อ ไปจนถึง รักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในชายก่อนวันอันควร ฯลฯ ดังนั้น สมุนไพรวัชพืชตัวนี้จึงมีอีกฉายาว่า “หมอน้อย” และเพราะมีฤทธิ์ลดไข้ได้ภายใน 3 วัน จึงถูกเรียกขานว่า”หญ้าสามวัน” และยังมีอีกสรรพคุณหนึ่งซึ่งค้นพบจากงานวิจัยคือ ฤทธิ์ลดความอยากสูบบุหรี่
ผลจากการวิจัยในหลอดทดลองล่าสุด ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี พบว่า น้ำยาชงเข้มข้นของหญ้าดอกขาวมีกลุ่มสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไซโตรโครม (Cytochrome) ในตับไม่ให้ย่อยสลายนิโคติน ทำให้นิโคตินยังคงอยู่ในร่างกาย จึงไม่อยากบุหรี่มวนต่อไปช่วยลดความถี่และความอยากสูบบุหรี่ลงได้มาก โดยผู้หยุดสูบบุหรี่จะไม่มีอาการหงุดหงิดกระวนกระวายอยากนิโคติน (Nicotine Withdrawn Syndrome) เหมือนคนลงแดงเมื่อถอนยาเสพติด ที่สำคัญคือช่วยให้การหยุดสูบบุหรี่ได้ผลถึงร้อยละ 59.52 และจะได้ผลมากถึงร้อยละ 62.7 หากดื่มยาชงหญ้าดอกขาวร่วมกับการออกกำลังกายภายใน 2 เดือน การวิจัยนี้นับเป็นการค้นพบกลไกใหม่ของหญ้าดอกขาว ที่ออกฤทธิ์ลดการสูบบุหรี่แทนความเชื่อเดิมที่เข้าใจว่าสารไนไตรท์และสารไนเตรตในหญ้าดอกขาวทำให้ลิ้นเฝื่อน ชา จนไม่อยากสูบบุหรี่
ยาชงหญ้าดอกขาว เป็นยาที่ปลอดภัยหากใช้ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ระบุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้ใช้ผงยาขนาด 2 กรัม ชงกับน้ำร้อนปริมาณ 120-200 มล. วันละ 3-4 เวลา หลังอาหาร มีข้อบ่งใช้ลดอาการอยากบุหรี่ไว้ชัดเจน สสส.เคยสนับสนุนให้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หญ้าดอกขาวในรูปแบบใหม่ เช่น เม็ดอม และหมากฝรั่ง พบว่าสารสกัดหญ้าดอกขาวเป็นลูกอมแบบเม็ด หรือหมากฝรั่งช่วยเลิกได้เร็วกว่าแบบชาชง ลดการสูบได้ 50% ภายใน 3 -11 วัน ที่สำคัญเป็นรูปแบบที่คนรุ่นใหม่และคนทั่วไปเข้าถึงง่ายใช้สะดวกกว่ายาชง
ข่าวดีคือ เมื่อกลางปี 2566 มหาวิทยาลัยนเรศวร กำลังพัฒนาสมุนไพรไทย ”หญ้าดอกขาว” รูปแบบอัดเม็ด แคลอรี่ต่ำ ช่วยลดความอยากบุหรี่ โดยกำลังออกสู่ตลาดในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ภูมิปัญญาสมุนไพรไทยซึ่งเปรียบเสมือน”หมอน้อย”ได้มีส่วนร่วมด้วยช่วยกันสร้างสังคมไทยให้ ”ปลอดบุหรี่ควัน” และ ”ปลอดบุหรี่ไร้ควัน” อย่างเป็นรูปธรรม.