เฉาก๊วยเป็นของหวานที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันมานาน ยิ่งอากาศร้อน ๆ เฉาก๊วยใส่น้ำแข็งใสก็เป็นหนึ่งในอาหารกินเล่นคลายร้อนที่ดี เดินไปกินร้านไหน ๆ ก็บอกว่าเฉาก๊วยของแท้กันทุกร้าน บางเจ้ากล่าวว่าของแท้ต้องมาจากจังหวัดนั้น บางเจ้าว่าของแท้ต้องตัดเป็น 4 เหลี่ยม 6 เหลี่ยม ก็มี แล้วเฉาก๊วยแท้ต้องมาจากจีนจริงหรือ ?
คงเพราะชื่อ เฉาก๊วย เรียกันตามภาษาจีน และด้วยการรับรู้มาเนิ่นนานว่า เฉาก๊วยต้องสั่งซื้อนำเข้าหญ้าเฉาก๊วยมาจากเมืองจีน ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจว่าต้นเฉาก๊วยเป็นพืชเฉพาะถิ่นของจีนเท่านั้น แต่ถ้าดูข้อมูลวิชาการจากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว มีรายงานว่าเฉาก๊วยมีถิ่นกำเนิดใน อัสสัม บังคลาเทศ กัมพูชา จีนตอนใต้ ลาว เมียนมาร์ เกาะนิวกีนี ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน เวียดนาม และในประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม เพราะจีนเป็นประเทศที่มีการปลูกและส่งออกเฉาก๊วยมากที่สุด ซึ่งก็ส่งเขามาเมืองไทยมากมายด้วย ต่อมาอินโดนีเซียและเวียดนามมีการปลูกเป็นการค้าเช่นกัน และช่วงนี้เข้าสู่หน้าร้อนและร้อนที่สุด เฉาก๊วยจึงเป็นสมุนไพรทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยการดูแลสุขภาพ ด้วยการรู้จักกินอาหารให้เข้ากับฤดูกาล เฉาก๊วยจึงเป็นทั้งอาหารและยา
เฉาก๊วยมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Black cincau หรือ Grass black jelly เดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mesona chinensis Benth.อยู่ในวงศ์กะเพรา หรือ วงศ์มินต์ (Lamiaceae) ต่อมามีการศึกษาทางโมเลกุลเชิงลึก ค้นพบข้อมูลใหม่จึงเปลี่ยนชื่อวิทยาศาสตร์มาเป็น Platostoma palustre (Blume) A.J.Paton เฉาก๊วยเป็นไม้ล้มลุก ประเภทคลุมดิน หรือเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ขนาดเล็ก สูง 15-100 ซม. ลำต้นกลม เปราะ หักง่าย เป็นพืชเดียวกับสะระแหน่ กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า และมินต์ ใบมีขนาดใหญ่กว่าใบมินต์ และเรียวแหลมรูปรี แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบสีเขียวสด ดอกมีสีขาว สีแดงอ่อน หรือสีฟ้า คล้ายดอกกะเพรา สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ขึ้นได้กับสภาพดินทั่วไป ชอบแสงแดด และความชุ่มชื้น พบในธรรมชาติบนที่สูง ปัจจุบันมีการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ.
วิธีการสกัดสารออกมาจากต้นเฉาก๊วย ทำได้โดยตัดต้นออกเป็นท่อนสั้น ๆ ซึ่งมีใบติดอยู่ด้วย แล้วนำไปต้มน้ำจนเดือดก็จะมีสารที่มีลักษณะคล้าย ๆ วุ้นออกมา ซึ่งเป็นสารเคมีที่เรียกว่า เพกติน (Pectin) ซึ่งจัดเป็นสารประกอบจำพวกคาร์โบไฮเดรต พร้อมกับมีส่วนที่เป็นยางออกมาด้วย สารที่ออกมานี้มีสีน้ำตาลเข้มเกือบเป็นสีดำ นี่เองคือที่มาที่เราเห็นเฉาก๊วยมีสีดำก็เพราะมาจากสาร 2 ชนิดนี้นั่นเอง
วิธีทำอีกอย่างหนึ่งจะนำใบเฉาก๊วยแห้ง ผสมกับแป้งมันสำปะหลัง แล้วนำมาต้มให้เดือดก็จะได้เฉาก๊วยออกมาเช่นกัน หรือวิธีทำที่นำต้นเฉาก๊วยตากแห้งแล้วค่อยนำไปต้มให้ได้น้ำสีดำ มีลักษณะเป็นเมือกเล็ก ๆ จากนั้นนำน้ำต้มเฉาก๊วยไปกรองแล้วไปผสมกับแป้งเท้ายายม่อมหรือแป้งมันสำปะหลัง คนให้เข้ากันแล้วตั้งทิ้งไว้จนเย็น จะได้วุ้นสีดำแบบเฉาก๊วยเช่นกัน
เฉาก๊วย มีสรรพคุณ แก้ร้อนใน ช่วยดับกระหาย ช่วยขับเสมหะ แก้อาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร ช่วยลดไข้ แก้อาการตัวร้อน ลดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ลดอาการตับอักเสบ ลดความดันโลหิตสูงและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด บรรเทาอาการหวัด บรรเทาอาการเบื่ออาหาร แก้ปวดท้อง มวนท้อง บรรเทาอาการไขข้ออักเสบ และในระยะหลัง ๆ มานี้ยังมีการนำเฉาก๊วยเป็นอาหารให้ผู้ป่วยในระยะให้เคมีบำบัดด้วย เพื่อช่วยบรรเทาอาการข้างเคียง ลดความร้อนในร่างกาย ฯลฯ
ในประเทศจีน แพทย์แผนจีนแนะนำว่าเฉาก๊วยมีสรรพคุณทางยา ที่ดีต่อคนเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูง หากนำเฉาก๊วยมาต้มและดื่มเป็นประจำ อาการของโรคจะบรรเทาลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องระวังปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไปในน้ำเฉาก๊วยด้วย หรือดื่มน้ำเฉาก๊วยที่ใส่น้ำตาลเล็กน้อย หรือไม่เติมน้ำตาลเลยก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
แต่เมื่อค้นคว้าในตำรายาจีน พบว่ายังมีสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า เฉาก๊วย เช่นกัน เขียนเป็นภาษาจีนได้ว่า 草果仁( Cao guo, Fructus Tsaoko ) เฉาก๊วยชนิดนี้เป็นผลสุกของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lanxangia tsao-ko (Crevost & Lemarié) M.F.Newman & Škorničk อยู่ในวงศ์ ขิงข่า (Zingiberaceae) พืชนี้คนไทยเรียกว่า “กระวานดำ” มีรสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์สลายความชื้น ขับความเย็น แก้ความเย็นกระทบกระเพาะอาหารและลำไส้ (แก้ความเย็นที่ทำให้ปวด จุกเสียด แน่นท้อง อาเจียน ท้องเสีย) มีฤทธิ์ขับเสมหะ และแก้ไข้มาลาเรีย
ในอินโดนีเซียก็มีการปลูกต้นเฉาก๊วยเป็นการค้าแล้ว แต่ก็พบว่าคนท้องถิ่นนิยมกินวุ้นจากพืชชนิดหนึ่งคล้ายเฉาก๊วย เรียกว่า “Cincau Hijau” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cyclea barbata Miers. หรือ เรียกว่า หญ้าวุ้นสีเขียว ( green grass jelly) ซึ่งคล้ายกับเฉาก๊วยที่เรียกว่าหญ้าวุ้นสีดำ (black grass jelly) โดยนำใบสดมาปั่น กรองเอากากออก ปล่อยไว้ประมาณ 5 นาที น้ำที่กรองได้จะกลายเป็นวุ้นสีเขียว ใช้เป็นของหวานเหมือยเฉาก๊วย สรรพคุณก็คล้ายกัน
ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นรายงานพบว่า หญ้าวุ้นสีเขียวของอินโดนีเซียก็คือ “หมาน้อย” ที่เป็นภูมิปัญญาอีสานนำมาสกัดเอาวุ้นมาประกอบอาหารคาวหวานนั่นเอง แต่เดิมหมาน้อยมีชื่อวิทยาศาสตร์อันเดียวกับพืชที่ภาคกลางเรียกว่า “กรุงเขมา” ใช้ชื่อว่า Cissampelos pareira L. แต่จากการศึกษาในระดับโมเลกุลพบว่า หมาน้อยเป็นพืชที่อยู่คนละสกุลกับกรุงเขมา พืชหมาน้อยมีอย่างน้อย 2 ชนิด Cyclea polypetala Dunn และ Cyclea peltata (Burm.f.) Hook.f. & Thomson และหญ้าวุ้นสีเขียวของอินโดนีเซีย ชนิด Cyclea barbata Miers ก็มีรายรายงานว่าพบในประเทศไทยเช่นเดียวกัน
เมืองไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง พืชกลุ่มนี้มีสารเพคตินที่เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ให้พลังงานในปริมาณที่สูงด้วย จึงนำมาใช้ประโยชน์และสร้างโปรดักซ์ด้านสุขภาพได้มากมาย ร้อนปีนี้ยังอีกยาวไกล เฉาก๊วย หมอน้อย หญ้าวุ้นเขียว มีอยู่มากมายในไทยมีสรรพคุณดี