คราวที่แล้วกล่าวถึงบัวแดงหรือบัวขมในตำรายาไทย ไม่ว่าจะเป็นบัวชนิดใดเมื่อพูดถึง บัว ก็จะพาให้คนไทยโดยเฉพาะแวดวงพระพุธศาสนานึกคิดไปถึงสัญลักษณ์ความดีความงาม ตามสุภาษิตที่มีการเปรียบเปรยว่าปฏิบัติตนให้ดีเหมือนบัวที่โผล่พ้นออกมาจากโคลนตมจนออกดอกสวยงาม โดยไม่แปดเปื้อนสิ่งสกปรกใด ๆ
บัว มาจากภาษาบาลี 2 คำ คือ อุปฺปล (สันสกฤตเป็น อุตฺปล) ในภาษาบาลี อุปฺปล หมายถึง บัวสายหรือบัวก้านอ่อน มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Waterlily และคำว่า ปทุม หรือ ปทฺม ในภาษาบาลี หมายถึง บัวหลวงหรือบัวก้านแข็ง มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Lotus
บัวสายหรือบัวก้านอ่อนที่ปรากฎในพระไตรปิฎกมีหลายชื่อ เช่น บัวเขียว (อุบล) อุบล (บัวขาบ) บัวขาว (บุณฑริก) บุณฑริก (บัวขาว) บัวเผื่อน บัวแดง จงกลนี และถ้าใครศึกษาตำราการแพทย์แผนไทยในพิกัดบัวของยาไทย ประกอบด้วยบัวหลวงแดง บัวหลวงขาว บัวสัตตบงกชแดง บัวสัตตบงกชขาว บัวเผื่อน และบัวขม ซึ่ง 2 ชื่อสุดท้ายอยู่ในกลุ่มบัวสาย และจากการรวบรวมจนพอสรุปชื่อ บัวสายหรือบัวก้านอ่อน ที่ปรากฎในเอกสารของไทยน่าจะมีอยู่ 6 ชนิด คือ 1) บัวขาบหรือบัวเขียว 2) บัวขมหรือบัวขาว (บุณฑริก) 3) บัวเผื่อน 4) บัวผัน 5) บัวแดง และ 6) บัวจงกลนี
เมื่อได้พิจารณาจากฐานข้อมูลระดับสากลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว ซึ่งรายงานไว้ว่าบัวสายหรือบัวก้านอ่อนในโลกนี้ จำแนกตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วมีจำนวน 65 ชนิด ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชีย 10 ชนิด และมีถิ่นกำเนิดในไทยเพียง 4 ชนิด คือ
Nymphaea nouchali Burm.f. มีถิ่นกำเนิดในอาฟริกา เอเชียและออสเตรเลีย มี 7 ชนิดย่อย ในจำนวนนี้พบในประเทศไทย 2 ชนิด ย่อย คือ Nymphaea nouchali var. nouchali คือ บัวขาบ และ Nymphaea nouchali var. versicolor (Sims) Guruge & Yakand. คือ บัวเผื่อนและบัวผัน
Nymphaea pubescens Willd. มีดอกหลายสี แดง ชมพูขาว ถ้าดอกแดงหรือชมพูเรียกว่า บัวแดง แต่บัวชนิดนี้ที่มีดอกเป็นสีขาวเรียกว่า บัวขม (และใช้ทำยาในตำรายาไทย)
Nymphaea rubra Roxb. ex Andrews บัวสตบรรณ
Nymphaea siamensis Puripany. บัวจงกลนี
สำหรับ บัวผัน บัวเผื่อน บัวขาบ มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Blue Water Lily หรือ Frog’s Pulpit แต่ทั้ง 3 ชนิดแยกออกเป็นชนิดย่อยได้ 2 ชนิด คือ บัวขาบมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea nouchali var. nouchali ส่วนบัวผันและบัวเผื่อนมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea nouchali var. versicolor (Sims) Guruge & Yakand. บัวผันกับบัวเผื่อนมีลักษณะคล้ายกัน กลีบดอกมีสีฟ้าอ่อน แต่บัวผันมีดอกใหญ่กว่าบัวเผื่อน มีกลิ่นหอม ส่วนบัวเผื่อน มีดอกขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 8 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีขาวอมฟ้าอ่อนๆ ปลายกลีบมีสีม่วง มีกลิ่นหอม
ทั้งบัวผันและบัวเผื่อนเป็นบัวที่มีดอกบานตอนกลางวัน ในการใช้เป็นสมุนไพรพบว่า ดอกมีรสฝาดหอมเย็น ใช้บำรุงหัวใจให้แช่มชื่น บำรุงกำลัง แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้ บำรุงครรภ์ เมล็ดเมื่อฝักแก่ดอกร่วงหมดแล้วเรียกว่า ”โตนดบัว” มีเมล็ดเล็กๆ คล้ายเมล็ดฝิ่น คั่วรับประทานเป็นอาหารได้ รสหอมมัน บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง หัวบัวลักษณะเป็นหัวตะปุ่มตะป่ำ เหมือนโกฐหัวบัว รสหอมมัน เผ็ดเล็กน้อย ใช้บำรุงร่างกาย ชูกำลัง บำรุงครรภ์รักษา บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ
ในตำรายาไทย บัวเผื่อนอยู่ในพิกัดบัวพิเศษ มี 6 อย่างคือ บัวหลวงแดง บัวหลวงขาว บัวสัตตบงกชแดง บัวสัตตบงกชขาว บัวเผื่อน และบัวขม ใช้แก้ไข้ แก้ลม เสมหะ และโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้แช่มชื่น แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ตัวร้อน บำรุงครรภ์ และในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ในตำรับยาหอมเทพจิตร มีดอกบัวเผื่อนเป็นส่วนผสมร่วมกับสมุนไพรอื่นอีกหลายชนิด ตำรับยานี้มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น
บัวขาบ มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Cape Blue Water lily หรือ Cape Water lily มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea nouchali var. nouchali ชื่อบัวขาบอาจไม่ไพเราะ แต่เมื่อกวีรจนาอักษรก็จะเรียกในภาษากวีสวยงามในหลายชื่อ เช่น บัวนิล นิลอุบล นิลลุบล นิโลตบล นิลุบล นิโลตบล บัวนิล (นิล แปลว่า สีขาบ สีน้ำเงิน สีเขียว สีดำ)
บัวจงกลนี มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Pink Double Wit หรือ Frilled Petals มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea siamensis Puripany. จัดว่าเป็นบัวโบราณเฉพาะถิ่นหายาก ที่พบแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในเอกสารของพิพิธภัณฑ์บัวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่ามีหลักฐานอ้างอิงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย (พ.ศ.1800 – 1962) ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงหลายครั้งในเอกสารหลายฉบับ และบ่งชี้ว่าเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาช้านาน ปรากฏในหนังสือไตรภูมิพระร่วงที่มีประวัติความเป็นมาประมาณ 700 กว่าปี และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์บัวที่ได้รับการยอมรับจาก Water Gardeners International แต่ก็ไม่เคยได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2557 ได้มีการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาร่วมกับชีวโมเลกุลพบว่าเป็นบัวชนิดใหม่ของโลก จึงได้ตั้งชื่อว่า Nymphaea siamensis Puripany. ปัจจุบันหาได้ยากตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ลักษณะของลำต้นคล้ายกับบัวสายทั่วไปที่แตกต่าง คือ ส่วนของดอก ดอกตูมทรงดอกโคนกว้างปลายเรียว สีเขียวขี้ม้า กลีบดอกเล็กเรียว ซ้อนกันมาก สีชมพูอ่อน ปลายกลีบสีชมพูเข้ม ขนาดของดอก 8-12 เซนติเมตร ดอกลอยบานตลอดเวลา บานแล้วบานเลยไม่หุบ บานอยู่ประมาณ 3-4 วัน แล้วก็จะโรยไป มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกมีสีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวและมีสีเขียวสลับเมื่อใกล้โรย
แนะนำบัวหลายชนิดที่มีความงามแตกต่างกัน แต่ในการศึกษาพบว่าบัวเกือบทุกชนิดมีสรรพคุณทางยาคล้ายกัน โดยใช้ดอกบำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น บำรุงกำลัง แก้ร้อนใน เมล็ดบำรุงกำลัง ส่วนหัวบัว ใช้บำรุงครรภ์ บำรุงธาตุ ถ้าจะดียิ่งขึ้นน่าจะช่วยกันศึกษาสรรพคุณของบัวแต่ละชนิดให้ลึกซึ้ง เพื่อการใช้ประโยชน์จากบัวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป.