ในอดีตยามนี้ จะได้ยินเสียงราชาเพลงลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญครวญเพลงจากวิทยุทรานซิสเตอร์ บนหลังเจ้าทุยว่า “ย่างเข้าเดือนหกฝนก็ตกพรำพรำ กบมันก็ร้องงึมงำ ระงมไปทั่วท้องนา”เพราะฤดูกาลในสังคมเกษตรของเราและในอุษาคเนย์ ถือว่าเดือน 6 เป็นหน้าฝน จึงมีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพราหมณ์พิธีทุก ๆ ปี ในช่วงต้นเดือน 6 เป็นอาณัติสัญญาณจากวังหลวงถึงชาวนาให้เริ่มฤดูกาลปลูกข้าวกันได้แล้ว
แต่สำหรับชาวพุทธและชาวแพทย์แผนไทยเราขีดเส้นแบ่งภูมิอากาศไว้ 3 ฤดูกาล ฤดูละ 4 เดือน ตามจันทรคติอย่างชัดเจน เฉพาะคิมหันตฤดูหรือฤดูร้อน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 (วันอาสาฬหบูชา) ซึ่งปีมะโรง 2567 นี้ ตรงกับวันที่ 25 มีนาคมถึง 20 กรกฎาคม รุ่งขึ้นเป็นวันเข้าพรรษา เข้าฤดูฝนวันแรก พระแก้วมรกตจะเปลี่ยนเครื่องทรงจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน เป็นอาณัติสัญญาณเปลี่ยนฤดูกาลของขาวพุทธไทยอย่างเป็นทางการ ดังนั้นจึงต้องนับว่าเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ยังอยู่ในขอบเขตฤดูร้อนตามหลัก 3 ฤดูของแพทย์แผนไทย เพียงแต่เป็นช่วงกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ต้นฤดูฝน ความร้อนจึงผ่อนคลายลงกว่าต้นร้อนตอนเดือน 5 มหาไฟบรรลัยกัลป์แห่งเดือนเมษายน
มีโจทย์ว่าหากจะรับประทานสมุนไพรรักษาสุขภาพในช่วงปลายร้อนต้นฝน จะเลือกใช้ตำรับใด ตอบได้ตามหลักการเลยว่าต้องใช้ยาสมุนไพรสำหรับฤดูร้อนคือ “ตรีผลา” หรือผลไม้พื้นบ้าน 3 อย่างคือ สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ที่พระฉันกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโพ้น เพราะ “ตรีผลา” ที่ใช้ส่วนประกอบสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด อย่างละเท่ากันโดยน้ำหนักที่เรียกว่า เสมอภาค เป็นตำรับที่ใช้ระงับโรคอันบังเกิดจากความร้อนของคิมหันตฤดูกำเริบ จึงเหมาะกับในต้นหน้าร้อน แก้ร้อนใน ป้องกันโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heatstroke) แต่ถ้าจะใช้เฉพาะสำหรับช่วงฤดูร้อน ระคนฝนเช่นในขณะนี้ ต้องปรับสูตรตำรับเป็นยา “มหาพิกัดตรีผลา” คือใช้สมุนไพรทั้งสามในส่วนน้ำหนักที่ไม่เท่ากัน ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านการปรับธาตุ เสมหะ ปิตตะ วาตะ ที่กำเริบ หย่อนพิการ ใน 3 ฤดู ให้สมดุลเป็นปกติธาตุ ช่วยฟื้นฟูระบบร่างกายแบบองค์รวมให้กลับเป็นปกติแข็งแรง
ในธาตุไฟทั้ง 4 มีธาตุไฟตัวหนึ่งชื่อ “สันตัปปัคคี” มีทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้เป็นปกติระหว่าง 36.5-37.5 องศาเซลเซียส แต่ความร้อนแรงแห่งคิมหันต์จะส่งผลให้ธาตุไฟสันตัปปัคคีกำเริบ อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นกว่าขีดปกติมาก เกิดภาวะเสียสมดุลย์ธาตุไฟ ทำให้วูบจากโรคลมแดด และเป็นเหตุทางอ้อมที่อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเส้นเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจ ปกติหมอไทยจะใช้ยาตรีผลาสูตรเสมอภาคแก้ฮีสโตรกในช่วงเดือน 5 อากาศร้อนจัด แต่เมื่อตกถึงเดือน 7 ต้องปรับสูตรยาเป็นมหาพิกัดเพื่อแก้ปิตตะปลายร้อนระคนวาโยลมร้อนชื้นต้นฝน
สูตรยามหาพิกัดตรีผลาสำหรับใช้ประจำฤดูร้อนโดยแก้วาตะสมุฏฐานจากลมฝน มีส่วนประกอบโดยน้ำหนักของผลไม้ป่า 3 ชนิด ลดหลั่นกันดังนี้ 1.เนื้อลูกสมอพิเภก 4 ส่วน (ปิตตะ) 2.เนื้อลูกมะขามป้อม 8 ส่วน (เสมหะ) 3.เนื้อลูกสมอไทย 12 ส่วน (วาตะ) จะเห็นว่าในมหาพิกัดนี้ใช้ส่วนของสมอไทยมากที่สุดเพื่อแก้ภาวะธาตุลมกำเริบจากลมฝน ในคัมภีร์สรรพคุณกล่าวว่า สมออัพยาหรือสมอไทยมี “รสอันขมแลร้อน” ซึ่งฟังแล้วเหมือนเป็น “รสที่ขัดแย้ง”ในสมุนไพรตัวเดียวกัน ซึ่งหมอไทยย่อมรู้ดีว่านี่คือ รสของ “สมอไทยแก่” ซึ่งมีรสขมเย็นแก้ร้อนใน และรสร้อนแก้ลมเย็นในร่างกายเมื่อต้องละอองฝน
วิธีใช้ยาตรีผลาสูตรใหญ่สำหรับแก้ภาวะร้อนระคนเย็นภายในร่างกายอันเกิดจากฤดูกาลยามนี้ ใช้ได้ทั้งวิธีต้มหรือชงดื่มเป็นน้ำผลไม้ หรือจะใช้ในรูปแบบแคปซูล เม็ดและผง ขนาดรับประทานเพื่อสุขภาพ ชนิดน้ำ(ต้มหรือชง) ครั้งละ 200 มล. ชนิดแคปซูล(ขนาด 500 มก.) ครั้งละ 2 แคปซูล ชนิดเม็ด (ขนาด 200 มก.) ครั้งละ 5 เม็ด ทุกรูปแบบใช้วันละ 3 เวลา หลังอาหารหรือจะรับประทานก่อนนอนอีกครั้งก็ดี
ยาตรีผลาเป็นตำรับยาดีมาแต่โบราณจนโลกสมัยใหม่ ก็ต้องบอกว่ายาตรีผลาตำรับใหญ่นี้จึงเป็นสมุนไพร Wellness ที่ช่วยคุ้มครองสุขภาพในช่วงฤดูสะบัดร้อนสะบัดเย็นยามนี้ไปจนกว่า จะถึงวันเข้าพรรษาหน้าฝน.