วันที่ 12 เดือน 12 ปี 2562 เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 14 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage – ICS-ICH) มีมติให้ขึ้นทะเบียน “นวดไทย” หรือ “Nuad Thai, Traditional Thai Massage” ในบัญชีรายชื่อตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งมวลมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity – RL) ภายใต้อนุสัญญา ว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage 2003) ขององค์การยูเนสโก
การยอมรับระดับโลกนี้ มีความุ่งหมายให้ทั้งคนไทยและทุกชาติมีความตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของนวดไทยในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในระดับสากล รวมถึงเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้างการเรียนรู้ เข้าถึง พัฒนา และสงวนรักษาศาสตร์ด้านการนวดไว้ให้แก่ชนรุ่นหลัง รวมถึงส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ อาชีพ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ แต่ก็ควรคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนมิใช่มุ่งแต่การค้าจนทำลายวัฒนธรรม คุณค่า และจริยธรรมของการนวดที่สืบทอดมาจากครูบาอาจารย์
ปีหน้าครบ 5 ปีของการขึ้นทะเบียนฯ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงวัฒนธรรมจะต้องทำรายงานสถานะการเปลี่ยนแปลงของมรดกภูมิปัญญานี้ให้กับทางยูเนสโก เพื่อดูว่ามรดกภูมิปัญญานี้ยังคงสงวนรักษาไว้หรือมีความเสี่ยงใด ๆ หรือไม่ ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการปกป้อง รักษา ส่งเสริม พัฒนาสิ่งใดอยู่บ้าง ซึ่งทางยูเนสโกก็จะพิจารณาและให้ความคิดเห็นกลับมายังประเทศไทย เพื่อให้ นวดไทย ยังคงเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งมวลมนุษยชาติต่อไป
ในโอกาสครบรอบในเดือนธันวาคมที่นวดไทยได้รับการขึ้นทะเบียน จึงอยากให้ทุกท่านได้รับรู้คุณค่าของนวดไทยอีกครั้ง บวกกับกระแสซอฟต์พาวเวอร์ ถ้าจะให้แรงและรักษาความหมายแท้จริงไม่ให้ผิดเพี้ยน ก็ควรเข้าใจนวดไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสตร์การดูแลสุขภาพของไทยที่สืบทอดมาหลายร้อยปี
หลักฐานเก่าแก่อาจย้อนได้ไกลกว่านี้ แต่หลักฐานบันทึกด้วยตัวหนังสือที่เก่าแก่ที่สุด คือ ทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตราขึ้นในปี พ.ศ.1998 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) กล่าวคือ มีข้าราชการในกรมแพทยา กรมแพทยาโรงพระโอสถ กรมหมอยา กรมหมอนวด กรมหมอยาตา กรมหมอวรรณ
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มองสิเออร์เดอลาลูแบร์ เอกอัครราชฑูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เข้ามาในกรุงสยาม พ.ศ. 2230-2231 ได้เขียนจดหมายเหตุพระราชพงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการรักษาของหมอนวดว่า “ชอบขยำบีบไปทั่วตัว เมื่อใครป่วยไข้ลงในกรุงสยาม บางทีก็ขึ้นเดินเอาเท้าเหยียบบนกายคนไข้ แม้ในสตรีก็พอใจให้เด็กเหยียบที่หลังเพื่อให้คลอดบุตรง่าย” หลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่าการนวดเป็นที่นิยมและใช้กันในทุกครัวเรือน
บันทึกเก่าแก่ของคัมภีร์การนวดไทย ที่สำคัญและชัดเจน ขอกล่าวถึง ศิลาจารึกภาพแผนนวด 60 ภาพ ของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่จัดทำขึ้นในรัชกาลที่ 3 และตำราโรคนิทาน คำฉันท์ “กล่าวเส้นสิบ” ของพระยาวิชยาบดี (กล่อม) อดีตเจ้าเมืองจันทบูร ในสมัยรัชกาลที่ 2 (บางประวัติว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1)
ศิลาจารึกวัดโพธิ์ว่าด้วยแผนนวด มีจำนวน 60 ภาพ บอกจุดและเส้นต่างๆ ที่สำคัญในร่างกาย ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กล่าวถึง โรคและอาการ 301 โรคและอาการ เส้นประธานมี 10 เส้น จำนวนเส้นในจารึกมีทั้งหมด 75 เส้น ลมมี 257 ลม สมุฏฐานโรคมี 85 สมุฏฐาน จุดต่างๆ ที่ใช้รักษาอาการมี 303 จุด นวดไทยเชื่อว่า ร่างกายมีเส้นทางเดินของลม 72,000 เส้น แต่มีเส้นทางเดินลมหลัก 10 เส้น จึงเรียกว่า เส้นประธานสิบ การนวดเพื่อให้ลมเดินทางไปตามแนวเส้นประธานจึงเป็นแบบแผนการนวดไทยในการบำบัดโรคและอาการ
สำหรับตำราโรคนิทานคำฉันท์ “กล่าวเส้นสิบ” ประพันธ์โดยพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) อดีตเจ้าเมืองจันทบูร โดยจารไว้บนใบลานผูกเป็นท่อน ต่อมา นายพันโทหม่อมเจ้ากัมสิทธิ์ ได้รวบรวมเนื้อหาไว้ได้ครบบริบูรณ์ทุกผูก ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือแบบฝรั่งเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2456 ปัจจุบัน ต้นฉบับอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ “กล่าวเส้นสิบ” ร้อยกรองเป็นกาพย์ยานี 11 จำนวน 196 บท ตำรานี้มีความสำคัญต่อนวดไทยอย่างมาก เป็นการกล่าวถึงเส้นประธานทั้งสิบ โดยอธิบายถึง ชื่อเส้น ทางเดินเส้น ลมประจำเส้น โรคหรืออาการที่เกิดจากเส้นประธานแต่ละเส้น ลมร้ายที่เกิดในเส้น การบำบัดตั้งแต่ การนวด การใช้ยา และพิธีกรรมบางอย่าง
มูลนิธิสุขภาพไทยเห็นว่า เนื้อหาในตำราโรคนิทานคำฉันท์ “กล่าวเส้นสิบ”น่าจะเป็นบันทึกจรรยาแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุด (ให้ผู้แสวงหาความรู้ลองไปค้นคว้าศึกษา) และที่เป็น”หัวใจ” ของ “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่รักษาคุณค่านวดไทยไว้ (ขอตัดทอน)
ข้าขอประณมหัตถ์ พระไตรรัตนนาถา
ตรีโลกอมรมา อภิวาทนาการ……
ไหว้ครูโกมารภัจ ผู้เจนจัดในคัมภีร์
เวชศาสตร์บรรดามี ให้ทานทั่วแก่นรชน
ไหว้ครูผู้สั่งสอน แต่ปางก่อนเจริญผล
ล่วงลุนิพพานดล สำเร็จกิจประสิทธิ์พร
จะเห็นว่าก่อนการนวด จะกราบไหว้พระรัตนตรัย แล้วกล่าวบูชาเทพเทวดาต่างๆ บูชาครูชีวกโกมารภัจ และครูผู้สั่งสอน เพื่อครองสติไม่ให้วอกแวก ไม่นวดท่าพิสดาร โลดโผน และส่อเจตนาลวนลาม นี่คือพลังสร้างสรรค์ Soft Power นวดไทยจะไปได้ไกล