ในช่วงระยะ 4-5 ปีมานี้ กระแสน้ำหมักโพรไบโอติกส์ก็ยังมาแรง แม้จะมีข่าวการโฆษณาชวนเชื่อด้านสรรพคุณเกินจริงและมีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยขายอยู่ในตลาดออนไลน์อยู่บ้างก็ตาม แต่เนื่องจากน้ำหมักโพรไบโอติกส์ยังมีคุณค่าในการสร้างเสริมสุขภาพจึงยังได้รับความนิยมอยู่มาก โดยเฉพาะคุณประโยชน์สำคัญของโพรไบโอติกส์ที่เข้าไปช่วยสร้างสมดุลให้กับลำไส้ใหญ่ โดยควบคุมเชื้อแบคทีเรียตัวร้าย ๆ ในลำไส้ใหญ่อันเป็นสาเหตุของโรคทั้งหลายในทางเดินอาหาร และช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ ห่างไกลจากโรคริดสีดวงและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปัจจุบันมีการใช้โพรไบโอติกส์ป้องกันอาการท้องร่วงรุนแรงในทารก และลดอัตราการเสียชีวิตของทารกเนื่องจากอาการท้องร่วงได้ผลดีมาก
อีกหน้าที่หนึ่งซึ่งสำคัญคือโพรไบโอติกส์ยังช่วยผลิตวิตามินบี 12 อันเป็นวิตามินที่หายากมากในอาหารทั่วไป แต่โพรไบโอติกส์สามารถผลิตวิตามินบี 12 ได้จากการย่อยกากอาหารในลำไส้ใหญ่ และวิตามินบี 12 เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวไปซ่อมแซมการอักเสบภายในร่างกาย อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น มีไข้ต่ำ ๆ ดังนั้นถ้าร่างกายมีโพรไบโอติกส์ ก็จะลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยลงไปด้วย
เคล็ดลับของโพรไบโอติกส์ คือ หัวเชื้อแบคทีเรียชนิดดีที่ชื่อ แล็คโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และ ไบไฟโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) ซึ่งเข้าไปควบคุมเชื้อโรคตัวร้ายที่ส้องสุมอยู่ในลำไส้ใหญ่ไม่ให้แผลงฤทธิ์ มากกว่า 10 ปีมาแล้วที่หน่วยงานรัฐ สวทช. (สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ได้ศึกษาวิจัยและให้การอบรมเผยแพร่เรื่องการผลิตหัวเชื้อแล็คโตบาซิลลัสหลายสายพันธุ์ เพื่อใช้ในการผลิตน้ำหมักโพรไบโอติกส์และนมเปรี้ยว ที่น่าสนใจคือทีมวิจัยของสวทช.เลือกใช้ ผักเสี้ยนมาดองเพื่อเพาะเลี้ยงหัวเชื้อ เพราะในผักเสี้ยนมีสารอาหารที่ดีมากสำหรับเพาะเลี้ยงแล็คโตบาซิลลัส ผักเสี้ยนไม่ใช่เป็นแค่ผักพื้นบ้านรสชาติดี แต่ยังเป็นสมุนไพรที่ปรากฏในคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัดของแพทย์แผนไทย ซึ่งช่วยแก้โลหิตเน่าเสียในสตรีหลังคลอด กระจายน้ำเหลือง แก้ลมอันเป็นพิษ เป็นต้น ชาวบ้านไทยรู้จักทำส้มผักเสี้ยนเป็นอาหารพื้นบ้านมานานแล้ว เพียงแค่เด็ดยอดผักเสี้ยนมาใส่โหลดองเกลือผสมข้าวสุกเพื่อให้กลายเป็นแป้งหมักในตัวทิ้งไว้ 3-4 วันก็ออกรสเปรี้ยวเอามากินเป็นกิมจิไทยไม่น้อยหน้ากิมจิเกาหลี
ในทางพระพุทธศาสนาก็ให้ความสำคัญกับน้ำหมักโพรไบโอติกส์มากถึงกับบัญญัติเป็นพระวินัยกล่าวไว้ในหมวดยา (เภสัชชขันธกะ) ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธด้วยอาการลมพานในไส้ฉันยาดองโลณโสจิรกะได้ คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าของหมักดองเป็นของแสลงโรค แต่สำหรับยาดองโลณโสจิรกะนอกจากเป็นน้ำหมักดองที่ไม่แสลงแล้วกลับช่วยให้หายจากโรคลมในท้อง คลื่นไส้ อาเจียนได้อย่างปลิดทิ้ง เพราะสูตรยาดองสองพันห้าร้อยปีนี้ไม่ธรรมดา ในอรรถกถาอธิบายสูตรยาดองโลณโสจิรกะไว้โดยละเอียด ดังนี้
ยาดองโลณะโสจิรกะ คือเภสัชที่ปรุงด้วยข้าวทุกชนิดซึ่งดองด้วยเกลือ (โลณะ แปลว่า เกลือ,
โสจิรกะ แปลว่าข้าวชนิดต่างๆ) โดยมีส่วนประกอบหลักดังนี้ (1)น้ำฝาดแห่งผลสมอไทย มะขามป้อม และสมอพิเภก ซึ่งมีรสฝาดแกมเปรี้ยว (2)ธัญชาติ หรือพืชจำพวกข้าวทุกชนิด รวมทั้งอปรัณชาติ หรือพืชอื่นที่ไม่ใช่ข้าว ได้แก่ พืชจำพวกถั่ว งา และผักทุกชนิด (3)ข้าวสุกแห่งธัญชาติทั้ง 7 ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้ (4) ผลไม้ทุกชนิดมีผลกล้วย เป็นต้น ผลไม้ที่งอกในหัวทุกชนิด เช่น เหง้าหวาย เหง้าการะเกด และหัวเป้ง เป็นต้น (5) เนื้อปลา และเนื้ออื่น ๆ (6) เภสัชหลายอย่าง มี มธุเภสัชรสหวาน ได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และโลณเภสัชรสเค็ม ได้แก่ เกลือสินเธาว์ เกลือธรรมดา (7) เครื่องเทศต่างๆ เป็นต้น
กรรมวิธีปรุง ให้เอาของทุกอย่างดังกล่าวใส่รวมกันลงในหม้อดองน้ำเกลือ ปิดฝา ไล้ปากหม้อไว้อย่างสนิทไม่ให้อากาศเข้า เก็บไว้ 1-3 ปี จนเภสัชวัตถุยุบงวดตัวลง นำมากรองให้ใสจะได้น้ำยาดองโลณโสจิรกะที่มีรสและสีม่วงเหมือนน้ำลูกหว้าสุก ใช้เป็นยาแก้โรคอย่างชะงัดสำหรับผู้ป่วยโรคลม โรคไอ หืดโรคเรื้อน โรคผอมเหลือง นิ่ว และโรคริดสีดวงทวาร เป็นต้น ทรงมีพุทธานุญาตชัดเจนว่า “ภิกษุไข้จงฉันยาดองโลณโสจิรกะตามสบายเถิด แต่ถ้าไม่ไข้ พึงเจือด้วยน้ำ แล้วฉันต่างน้ำเถิด” ซึ่งแปลความได้ว่าทรงให้ภิกษุไข้ฉันน้ำหมักโลณโสจิรกะเป็นยารักษาโรคได้ไม่มีข้อห้าม และภิกษุทั่วไปสามารถฉันเป็นน้ำปานะต่างน้ำได้ แต่ต้องเจือน้ำเท่าตัว โดยอาจจะใช้เป็นเครื่องดื่มก่อนอาหาร (ปุเรภัต) หรือหลังอาหาร (ปัจฉิมภัต) เป็นน้ำสมุนไพรโพรไบโอติกส์ช่วยย่อยอาหารได้หมดจด ดังมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า
“จะหาเภสัชใดที่ช่วยชำระโภชนาหารให้งวดสนิทไม่ผิดสำแดงแสลงโรคเสมอด้วยยาดองโลณโสจิรกะนั้น ไม่มี”
ในท้องตลาดเวลานี้ยังไม่มีโพรไบโอติกส์สูตรยาดองโลณโสจิรกะสมัยพุทธกาล ถ้าสวทช.หรือผู้ผลิตน้ำหมักโพรไบโอติกส์จะทำวิจัยน้ำหมักสูตรนี้แล้วสร้างผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์แบรนด์พุทธนิยมอันเก่าแก่ขึ้นมา ก็จะได้เสียงตอบรับจากผู้บริโภคโพรไบโอติกส์เพื่อสุขภาพอย่างถ้วนหน้าแน่นอน.