ด้วยความสงสัยซึ่งเป็นรากฐานของการเรียนรู้ตลอดเวลา เมื่อย้อนไปศึกษาการแพทย์แผนไทยที่เชื่อมโยงกับการแพทย์ในพระพุทธศาสนา พบคำว่า ถั่วทอง ปรากฎในพระไตรปิฎก ฉบับหลวง ถึง 3 แห่ง ในเล่มที่ 11, 14 และ 23 ที่แรก เป็นลักษณะการเปรียบเปรยว่า กล่าวไว้ว่า 1 ใน 8 ข้อของความเสื่อมของธรรม คือความเกียจคร้านที่ทำตัวหนักเหมือนถั่วทองแช่น้ำ ดังข้อความ “เราเที่ยวไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ได้ความบริบูรณ์แห่งโภชนะอันเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการแล้ว กายของเรานั้นหนัก เหมือนถั่วทองที่เขาหมักไว้ ไม่ควรแก่การงาน ช่างเถิด เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร … เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๖”
ยังมีการเปรียบเปรยว่า ที่สอง คนเราตั้งแต่เท้าถึงหัวมีหนังหุ้มทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่ไม่น่าดูอยู่ภายในร่างกาย เปรียบเสมือนถุงที่บรรจุถั่วชนิดต่าง ๆ แล้วปิดปากถุงไว้ทำให้ไม่รู้ว่าภายในมีถั่วชนิดใดบ้าง ต่อเมื่อเปิดปากถุงออกมาแล้วจึงจะเห็นถั่วชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ภายใน ดังข้อความที่ว่า “ไถ้มีปากทั้ง ๒ ข้าง เต็มด้วยธัญญชาติต่างๆ ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วทอง งา และข้าวสาร บุรุษผู้มีตาดี แก้ไถ้นั้นออกแล้ว พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วทอง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด” (พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
ที่สาม ในเล่มที่ 23 ได้กล่าวไว้ว่าหนึ่งในความฉลาด เตรียมพร้อมของกษัตริย์จะมีการสะสม ธัญญาพืชชนิดต่าง ๆ ไว้ เมื่อมีภัยมาก็ไม่ต้องกลัว ประชาชนมีความสุขเพราะมีการสะสมอาหารไว้อย่างเพียงพอ เหมือนพระภิกษุหรืออริยสาวกที่ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการ และได้ฌาน 4 ประการ จะไม่มีทุกข์ใดมากล้ำกรายได้ ดังข้อความที่ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนครของพระราชา ป้องกันไว้ดีด้วยเครื่องป้องกัน 7 ประการ และหาอาหาร 4 ประการได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในกาลนั้น……อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อีกประการหนึ่ง มีการสะสมงา ถั่วเขียว ถั่วทอง และอปรัณชาติไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก ฯ……….”
ถั่งทอง คือ ถั่วอะไร ? สมัยปัจจุบันถ้าพูดถึงถั่วทองจะเข้าใจทันทีว่า คือ ถั่วเขียวที่นำมากะเทาะเปลือกออกแล้วแบ่งซีกออกเรียกถั่วนี้ว่า “ถั่วทอง” แต่ข้อความในพระไตรปิฎกจะพบว่า มีคำว่าถั่วเขียวและถั่วทองปรากฎอยู่ทั้งคู่ จึงน่าใช่ถั่วเขียว เมื่อลองสืบค้นคำภาษาอังกฤษว่า Golden bean พบว่ามีพืชชื่อสามัญว่า Golden bean หรือถั่วทอง ซึ่งมีเพียงชนิดเดียวที่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thermopsis rhombifolia (Pursh) Richardson มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาตอนเหนือและอเมริกาตอนกลาง พืชชนิดนี้มีชื่อสามัญอีกชื่อหนึ่งว่า “ถั่วควาย” (Buffalo Bean) เพราะกล่าวกันว่าคนพื้นเมืองอเมริกันจะสังเกตว่า ถ้าดอกของถั่วทองบานเป็นจำนวนมากแสดงว่าชีวิตของควายป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้สามารถล่าสัตว์ได้มากนั่นเอง และคนพื้นเมืองนิยมนำดอกไปย้อมให้สีเหลือง หรือนำไปดื่มรักษาอาการกระเพาะไม่ปกติทั้งของคนและม้า แต่อย่างไรก็ตามพืชชนิดนี้จัดเป็นพืชพิษ เมื่อกินส่วนของลำต้นเข้าไปจะทำให้เกิดการอาเจียน ปวดหัวและปวดท้อง แต่ถั่วชนิดนี้ไม่น่าจะใช่ถั่วทองในพระไตรปิฎก เพราะไม่พบในอินเดียสมัยพุทธกาล
ถั่วอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อสามัญว่า Golden bean wax seed มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phaseolus vulgaris L. ซึ่งก็คือ ถั่วแขก ที่พบเห็นทั่วไปแต่แท้จริงแล้วถั่วแขกมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง ที่เรียกว่าถั่วแขกน่าจะเป็นเพราะมีการปลูกกันมากในอินเดีย ถั่วแขกมีความผันแปรทางพันธุกรรมมากทำให้มีเมล็ดหลากสี มีการนำเข้ามาปลูกในยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 15 คาดว่าจะนำเข้ามาปลูกในอินเดียหลังจากนั้น และยังมีแนวคิดหนึ่งว่าถั่วทองน่าจะหมายถึง ถั่วเหลือง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glycine max (L.) Merr. มีประวัติการกำเนิดในจีน ประวัติการปลูกและการใช้เป็นอาหารมายาวนานกว่า 5,000 ปี แต่เมื่อค้นหลักฐานพบว่า ถั่วเหลืองเข้ามาจากจีนสู่อัสสัมในประเทศอินเดียเมื่อ 1,000 กว่าปีมานี้เอง จึงไม่น่าจะใช่ถั่วทองที่กล่าวถึงในพุทธกาลอีกเช่นกัน
ข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งพบว่ามี ถั่วทองอินเดียน หรือ Indian bean tree แต่พืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในอเมริกา ดังนั้นคำว่า อินเดียน ในที่นี้น่าจะหมายถึงชนพื้นเมืองหรืออินเดียนแดงในอเมริกามากกว่าชาวอินเดียในชมพูทวีป ในที่สุดก็สืบค้นได้ว่ามีพืชชนิดหนึ่ง ชื่อ Lathyrus aphaca L. ซึ่งมีชื่อสามัญว่า ถั่วสีเหลือง หรือ ถั่วลันเตาสีทอง (Yellow pea) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในแถบอาฟริกาตอนบน ตะวันออกกลางและอินเดีย เมล็ดเป็นสีเหลืองมีขนาดใหญ่กว่าเมล็ดถั่วลันเตา (Lathyrus oleraceus Lam.) ซึ่งในอินเดียนิยมนำไปประกอบอาหารประเภทแกง และการแพทย์พื้นบ้านอินเดียกล่าวกันว่า เมล็ดที่แก่เต็มที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและมีคุณสมบัติเป็นสารเสพติด ใช้ในการรักษาอาการปวดฟัน ทั้งต้นนำไปทำเป็นสีย้อมจะได้สีดำเมื่อใช้เหล็กเป็นมอร์แด้นท์ (สารที่ช่วยให้สีย้อมติดเนื้อผ้าหรือวัสดุอื่น)
เท่าที่ศึกษาให้คลายกังขาก็น่าจะเป็นไปได้ว่า ถั่วทอง ในพระไตรปิฎกจะคือ ถั่วลันเตาสีทองนั้นเอง แต่จะพูดภาษาตามพจนานุกรมเกรียน “ถัวต้ม” แปลว่าถูกต้องแน่แท้หรือไม่ก็ยังรับฟังการแลกเปลี่ยนได้เสมอ แต่อย่างน้อยการเรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในพระพุทธศาสนาแสดงให้เห็นว่า อาหารธัญพืชที่กินกันนั้น นอกจากข้าว งา ถั่วเขียวแล้ว ถั่วลันเตา และถั่วลันเตาสีทอง ก็เป็นอาหารที่นิยมบริโภคแต่ครั้งโบราณ ปัจจุบันมีผู้บริโภคถั่วลันเตาเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นยาบำรุงเส้นเอ็น เป็นอาหารให้โปรตีนสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมเหล็ก และมีวิตามินแร่ธาตุมากมาย
ขอมอบความรู้ ถั่วทอง ชื่อเป็นมงคลให้สุขภาพดีทั้งกายใจ