วันนี้แอดมินยังอยู่ที่ จ.เชียงราย แต่ย้ายจาก อ.ขุนตาลมาอยู่ที่ อ.ป่าแดด
ช่วงนี้แอดมินตระเวนไปหลายจังหวัดค่ะ เพื่อไปพูดคุยพร้อมๆ กับเก็บข้อมูลเรื่องการสร้างสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น
หลายๆ พื้นที่ที่แอดมินได้พูดคุยมีแต่เรื่องราวที่น่าสนใจ อยากจะเล่าทุกพื้นที่เลยค่ะ …จะทยอยเล่าไปทีละพื้นที่นะคะ
ที่เทศบาลตำบลโรงช้างเริ่มดำเนินงานการสร้างสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน มาตั้งแต่ ปี 2542
เป็นระยะเวลา 24 ปี เป็นระยะเวลาไม่น้อยทีเดียวกับการผลักดันเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น
ที่ตำบลโรงช้างเป็นตำบลเล็กๆ ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่โด่งดัง แต่ที่นี่เคยมีหมอพื้นบ้านที่มากไปด้วยความสามารถ ก็คือ
พ่อหมอสำราญ มาฟู และพ่อสุรชาติ รักมนุษย์ ซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านที่ทรงคุณค่า ปัจจุบันท่านได้เสียชีวิตแล้ว
เมื่อมีหมอพื้นบ้านที่มากความสามารถชาวบ้านยอมรับ ก็แสดงว่า ที่นี่ต้องมีองค์ความรู้ของหมอพื้นบ้านและตำรับยา และมีต้นทุนเรื่อง “ม่อนยา”
“ม่อนยา” ก็คือ ดอยหรือภูเขาลูกเล็กๆ ที่มีพืชสมุนไพรปกคลุม
ที่นี่มีครบเลย…มีทั้งองค์ความรู้ของหมอพื้นบ้าน มีทั้งพื้นที่สมุนไพร
การมีหมอพื้นบ้านในชุมชนเปรียบเสมือนมีแหล่งความรู้มีปราชญ์อยู่ในชุมชน
บอกได้เลยว่าหมอพื้นบ้านก็คือนักอนุรักษ์ป่าสมุนไพรตัวยงเลยค่ะ
หมอพื้นบ้านจะมีตำรับยาสมุนไพรประจำตระกูล แต่ละตำรับมีจำนวนสมุนไพร 5-10 ชนิด ปริมาณการใช้สมุนไพรนั้น หมอหนึ่งคนจะเก็บสมุนไพรแต่ละชนิดไว้ในคลังยาของหมอประมาณ 20-50 กิโลกรัมต่อปี และดูแลรักษาคนไข้ประมาณ 5-10 คนต่อเดือน หมอบางคนดูรักษาคนไข้มากกว่า 50 คนต่อเดือน หมอพื้นบ้านในแต่ละชุมชนมีประมาณ 5-10 คน
เห็นมั้ยคะว่า…หมอพื้นบ้านต้องใช้สมุนไพรค่อนข้างมาก และหลากหลายชนิด
หมอพื้นบ้านไม่ใช่แค่รักษา แต่ยังสะท้อนถึงการดูแลและจัดการป่าสมุนไพรในพื้นที่อีกด้วย
การที่ชุมชนมีพื้นที่ป่า นั่นไม่ใช่เรื่องของการหาอยู่หากินเพียงอย่างเดียว มันยังแสดงถึงเราจะมีสมุนไพรนำมาทำเป็นยาได้ด้วย
เรื่องราวยังไม่จบนะคะ…รออท่านโพสต์หน้านะคะ
#มูลนิธิสุขภาพไทย #สร้างสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลโรงช้าง
#สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ #สสส.