ปี 2565 โควิด 19 ยังไม่ได้ซาขาลงเหมือนปีนี้ มูลนิธิสุขภาพไทยได้ร่วมด้วยช่วยกันกับเพื่อนที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนหรือที่ปัจจุบันเรียกว่าภาคประชาสังคมที่จังหวัดยโสธร ทำโครงการ “พัฒนาห่วงโซ่สมุนไพรสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม แก้ปัญหาความยากจน จังหวัดยโสธร” โดยมีหัวหน้าทีม คุณอุบล อยู่หว้า และทีมน้องๆ ช่วยขับเคลื่อน เป้าหมายนั้นยิ่งใหญ่ตามเงินทุนที่ได้รับ คือ ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเพิ่มโอกาสและลดช่องว่างของการเข้าถึงการพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
โจทย์ใหญ่ทำงานยากอยู่ที่ บพท. หรือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยให้ทุนนี้ต้องการให้ประชาชน ที่มีรายชื่อจากหน่วยงานรัฐที่เข้าเกณฑ์ “คนจน” ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี และยกระดับขีดความสามารถให้เป็นผู้ประกอบการหรือเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้มีรายได้พ้นจากความยากจน
งานนี้ไม่ใช่งานง่าย ๆ เพราะคนกลุ่มนี้มีพื้นหรือต้นทุนชีวิต ต้นทุนทางสังคมจำกัด ทักษะ ความรู้ก็จำกัด อายุก็วัยกลางคนจนถึงสูงวัย การจะริเริ่มทำงานสู่อาชีพระยะยาวจึงเป็นเรื่องต้องใช้เวลา ยังถือว่าโชคดีหรือมีจุดแข็งที่ชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายพอมีพื้นเพการทำเกษตร โครงการฯ จึงมุ่งเป้าใช้การปลูกสมุนไพรเป็นวัตถุดิบเพื่อสร้างรายได้ และได้เครือข่ายหนุนเสริมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจในจังหวัด เช่น โรงพยาบาลกุดชุม สำนักงานสาธารณสุข กลุ่มเกษตรอินทรีย์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น โดยเฉพาะสำนักงานปฏิรูปที่ดินอนุญาตให้ใช้พื้นที่ สปก. ให้กลุ่มคนจนเข้ามาปลูกฟ้าทะลายโจร สู้ภัยโควิดได้อย่างทันเหตุการณ์
กลุ่มคนจนจำนวน 178 ครัวเรือนผ่านการอบรมความรู้ ช่วยกันเตรียมและปรับพื้นที่การปลูกด้วยกัน จำนวน 16 ไร่ครึ่ง โดยใช้วิธีช่วยกันปลูกในแปลงรวม และมีแปลงส่วนตัว แต่ต้องเป็นการปลูกที่ไม่ใช่สารเคมีทางการเกษตร ใช้ปุ๋ยคอก(ปุ๋ยขี้ไก่) บำรุงดิน ผลผลิตที่ได้รอบแรก ฟ้าทะลายโจรแห้ง 335 กิโลกรัม แต่กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ยังได้รับการอบรมเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ สร้างรายได้อีก เช่น ขี้ผึ้งสมุนไพร 1,100 ขวด น้ำมันไพล 400 ขวด และจัดชุดของขวัญหรือของชำร่วยได้ถึง 800 ชุด
ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณและมีวิธีใช้อย่างไร น่าจะเข้าใจกันทั่วไปแล้ว ขอย้ำให้เชื่อมั่นได้ว่า ฟ้าทะลายโจรช่วยบรรเทาหรือแก้อาการหวัดต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนถ้ารีบกินฟ้าทะลายโจรให้เร็ว ฤทธิ์ยาจะช่วยตัดไฟแต่ต้นลมได้ดี หากอาการรุนแรงมากและเป็นมานานหลายวันแล้ว ฟ้าทะลายโจรมักจะได้ผลน้อย
สำหรับในปีนี้ที่พื้นที่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร กำลังบุกเบิกการปลูก “บัวบก แก้จน” ทำไมจึงเป็นบัวบกที่เหมือนเป็นพืชผักสวนครัวหาได้ทั่วไป อยากบอกความต้องการของบัวบกอย่างน้อย 2 ข้อ คือ บัวบกเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณอินเทรนด์กับโลกยุคนี้มาก ๆ และในท้องตลาดผักสดนั้น บัวบกที่ผลิตและขายอยู่เป็นบัวบกที่ปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร แต่บัวบกออร์แกนิคหรืออินทรีย์นั้น หายากมากๆ
บัวบก มีสรรพคุณที่เราคุ้นเคย คือ แก้ช้ำใน เป็นยาเย็นแก้ร้อนใน ช่วยลดไข้ ในตำรายาไทยกล่าวว่า บัวบกมีรสเฝื่อน ขม เย็น เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย และอาการเริ่มเป็นบิด แก้ลม แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า เป็นยาบำรุงกำลัง ยาอายุวัฒนะ ที่น่าสนใจขอกล่าวถึงคัมภีร์อายุรเวทของอินเดีย บันทึกไว้ว่า บัวบกทั้งต้นมีกลิ่นฉุน มีรสขมหวาน ย่อยได้ง่าย เป็นยาเย็น ยาระบาย ยาบำรุง ช่วยฟื้นฟูสภาพ บำรุงเสียง ช่วยให้ความจำดีขึ้น เป็นยาเจริญอาหาร ยาแก้ไข้ แก้อักเสบ ผิวหนังเป็นด่างขาว โลหิตจาง มีหนองออกจากปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ น้ำดีในร่างกายมากเกินไป ม้ามโต หืด กระหายน้ำ โรคเกี่ยวกับเลือดและโรคที่มีสมุฎฐานจากเสมหะ
มองในการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบสารสำคัญในบัวบกหลายชนิด ที่ออกฤทธิ์สำคัญ ๆ เช่น มีฤทธิ์ระงับประสาท ลดความดันโลหิตสูง ขับปัสสาวะ ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายดีขึ้น (ตรงนี้อาจหมายถึงโบราณที่กล่าวว่าช่วยบำรุงร่างกายก็ได้) ต้านการอักเสบ และยังมีสรรพคุณยาภายนอกที่ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และช่วยบำรุงผิวพรรณด้วย
บัวบกไม่ใช่เพียงผักจิ้มน้ำพริกหรือเครื่องดื่มน้ำบัวบกเท่านั้น แต่บัวบกมีศักยภาพเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ออกฤทธิ์หรือสรรพคุณที่น่าสนใจ ทั้งช่วยบรรเทาอาการความดันโลหิต และจากภูมิปัญญาดั้งเดิมช่วยบำรุงสมอง แต่ด้วยบัวบกมีรสเย็นกินมากทำให้เสียสมดุลจึงมีการปรุงบัวบวกับพริกไทยเพื่อไม่ให้ร่างกายเย็นจัดเกินไป
ขณะนี้กลุ่มคนจนที่ อ.กุดชุมกำลังปรับที่ขนาด 10 ไร่ จัดระบบน้ำ เตรียมพันธุ์บัวบกพร้อมปลูก รออีก 60 วันได้ผลผลิต “บัวบกออร์แกนิค” พร้อมส่งสู่กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งใช้ภายในและภายนอก เป็นวัตถุด้านยาและเครื่องสำอาง และกลุ่มชาวบ้านกำลังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ค้าขายในตลาดสีเขียวในท้องถิ่น รวมถึงเป็นชุดของขวัญ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าสมุนไพรไม่ใช่เพียงบำบัดโรค แต่ช่วยแก้ความยากจนและให้มีอาชีพเป็นวิสาหกิจของชุมชนด้วย.