เอกสารทางราชการจำนวนมากชี้ว่า จันทน์ขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Santalum album L. ซึ่งมาจากชื่อพืชที่เรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า White Sandalwood และเมื่อพิเคราะห์ตามชื่อวิทยาศาสตร์ที่ใช้คำว่า album ที่แปลว่า สีขาว ก็จึงจัดให้ จันทร์ขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Santalum album L. แต่ในสถานการณ์จริง จันทน์ขาวที่มีในท้องตลาดนั้นพบว่าเป็นสมุนไพรที่มาจากต้นไม้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tarenna hoaensis Pit. ซึ่งทางหอพรรณไม้ เรียกว่า “จันทนา” และจากการเก็บข้อมูลการใช้ของหมอพื้นบ้านนั้น พบว่าหมอพื้นบ้านส่วนหนึ่งใช้ต้น จัน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros decandra Lour. นำมาเข้ายาในตำรับจันขาวด้วย
การที่หมอแผนไทยส่วนใหญ่ใช้จันทนาเป็นจันทน์ขาว น่าจะเพราะเป็นสมุนไพรที่หาได้ง่ายในประเทศไทย เพราะจันทน์ขาว Santalum album L. เป็นไม้ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ และในเวลาเดียวกันหมอแผนไทยมีประสบการณ์การใช้พบว่า จันทนามีสรรพคุณสามารถทดแทนกันได้
ขอชวนทุกท่านมาเรียนรู้สมุนไพรชนิดนี้ให้กระจ่างชัด จันทน์ขาวที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Santalum album L. ที่จริงแล้วคนไทยทั่วไปเรียกว่า ไม้แก่นจันทน์ แก่นจันทน์หอม ไม้หอมอินเดีย หรือจันทร์หิมาลัย มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Sandalwood, Indian sandalwood, Fragrant sandalwood, White Sandalwood ไม้แก่นจันทน์นี้มีถิ่นกำเนิดในชวา หมู่เกาะซุนดา นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี (ดินแดนส่วนหนึ่งของออสเตรเลีย) ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลียตะวันตก เป็นพืชในวงศ์ย่านตีเมีย (Santalaceae) ซึ่งมีวงชีวิตกึ่งกาฝาก เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นเจริญได้ 4-9 เมตร มีอายุได้หลายปี เคยมีพบต้นที่มีอายุมากกว่า 100 ปี เปลือกต้นสีแดง น้ำตาลหรือดำ เมื่อยังอ่อนผิวเปลือกเรียบแต่เมื่อแก่ผิวเปลือกแตก มีสีแดง แก่นมีสีเขียวอ่อนหรือขาว ใบเป็นรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อสั้น กลีบดอกติดกันปลายแยกเป็น 4 แฉก บานใหม่ๆ มีสีฟางข้าว แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วง พบดอกเมื่อต้นมีอายุได้ 3 ปี จึงออกผล ผลกลมขนาดเมล็ดถั่ว เมื่อแก่จัดมีสีดำ ภายในมี 1 เมล็ด แต่เมล็ดมีความสมบูรณ์เมื่อต้นอายุ 5 ปีขึ้นไป และได้นกช่วยกระจายพันธุ์
จันทร์ขาวพบได้ทั้งแบบลำต้นตั้งตรงหรือพาดเลื้อยพันกับต้นไม้ชนิดอื่น ๆ เรียกว่าอาศัยอยู่กินกับรากของต้นไม้ชนิดอื่น แต่ไม่ได้ทำลายต้นไม้ที่เกาะอาศัยมากนัก ส่วนใหญ่ต้องการน้ำและแร่ธาตุจากดินจากต้นไม้ที่ไปอาศัยอยู่ซึ่งส่วนใหญ่ไปเกาะกับเป็นพืชในตระกูลถั่วหลายชนิด
ในฐานข้อมูลของการใช้สมุนไพรในเขตร้อน (The Useful Tropical Plants Database; https://tropical.theferns.info/) รายงานว่าจันทร์ขาวมีประวัติการใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนานในประเทศแถบตะวันออกมาไม่น้อยกว่า 4,000 ปี เป็นไม้มีมูลค่าสูง กลิ่นหอมหวาน นำมาใช้ประโยชน์ทางยา น้ำหอม เครื่องหอมต่าง ๆ ไม้แก่นจันทน์หรือจันทร์ขาวจะใช้ได้ดีเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป แก่นจันทร์เป็นสมุนไพรที่มีความสำคัญเป็นพิเศษในวิถีปฏิบัติของชาวฮินดู แต่ก็ยังนิยมใช้ในหมู่ชาวพุทธ ชาวมุสลิม และผู้คนอื่น ๆ อีกมากมาย
น้ำมันที่กลั่นจากไม้แก่นจันทน์ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง รักษาสิว แก้บิดมีตัว โกโนเรีย และอื่น ๆ ในตำรับยาแผนโบราณของจีนใช้
น้ำมันจากแก่นจันทน์เป็นยาระงับประสาทที่ดีเยี่ยม สรรพคุณในตำรายาไทย มีรสสุขุม หอม ร้อน ใช้แก้ไข้ แก้ดีกำเริบแก้กระสับกระส่าย ตาลาย ชาวฮินดูใช้แก่นจันทน์เป็นยาขม ยาเย็น ยาฝาดสมาน แก้ไข้ แก้อาการกระหายน้ำ เอาแก่นจันทน์มาบดให้เป็นผงเป็นส่วนผสมของยาทาแก้ไฟลามทุ่ง โรคผื่นคันเรื้อรัง และแก้อาการอักเสบ มีการนำแก่นนำมากลั่นเอาน้ำมันหอมระเหย เรียกว่าน้ำมันจันทน์ มีสาร santalol และ b-dantalol เป็นสารประกอบหลัก น้ำมันนี้มีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม ในอดีตเคยมีการนำมาใช้เป็นยาฆ่าเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ปัจจุบันยังใช้ผสมในเครื่องหอม แต่งกลิ่นในอาหารและสบู่ ฯลฯ เปลือกของไม้แก่นจันทน์สามารถนำมาเคี้ยวแทนหมากได้ ผลกินได้
เนื้อไม้แก่นจันทน์ยังใช้ทำเป็นเครื่องประดับ แกะสลักเป็นพระพุทธรูป ของที่ระลึกต่าง ๆ เช่น ประคำ พัด และยังเป็นไม้ที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายที่เป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงตามโบราณราชประเพณี แก่นจันทน์เคยใช้เป็นไม้ในการสำเร็จโทษเจ้านายชั้นสูงที่ทำความผิดด้วย ปัจจุบันหาต้นจันทร์ขาวได้ยากมาก ส่วนใหญ่ต้องนำมาจากต่างประเทศ ในปัจจุบันจึงใช้ไม้ที่เป็นไม้พื้นเมืองของไทยแทน เช่น จันทน์ชะมด หรือ จันทน์พม่า (Mansonia gagei J.R.Drumm.)
ปัจจุบันจันทร์ขาวในธรรมชาติลดลงมาก ขณะนี้ถูกนำเข้าไปอยู่ในบัญชีแดงของ IUCN (สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union of conservation or Nature and Natural Resources หรือ World Conservative Union : IUCN)) หมายถึงเภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ขณะนี้มีการปลูกเพิ่มในหลายประเทศรวมทั้งในไทย แต่ที่ปลูกมากและได้ผลดีอยู่ทางภาคใต้ของประเทศอินเดียตั้งแต่เมืองไมซอร์จนถึงมัทราส โดยเป็นของรัฐบาล เมื่อต้นโต 20-40 ปี จะโค่นลงมาลอกเปลือกและกระพี้ออกให้เหลือแต่แก่น ตัดเป็นท่อน ๆ ส่งขาย แก่นจันทน์ที่มีใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่นำเข้ามาจากอินเดียทั้งนั้น
แก่นจันทน์เจริญได้ดีในที่สูงไม่เกิน 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิที่เหมาะ 22-30 องศาเซลเซียส ชอบในที่ชื้นไม่มีน้ำท่วมขัง ดินกรดเล็กน้อย รับแสงแดดเต็มที่ เมล็ดสดมีระยะพักตัว 2 เดือน นำมาเพาะโดยทำเปลือกเมล็ดแตกหรือแช่ในกรดจิบเบอร์เรลลิก (gibberellic acid) เพาะในถุงพลาสติก ต้นอ่อนจะงอกภายใน 8-14 วัน อัตราการงอก 70% เมื่อต้นอ่อนสูงได้ประมาณ 15-20 เซนติเมตร ให้ย้ายปลูกโดยนำต้นกล้าไปวางบนต้นไม้ในป่าละเมาะ หรือวางบนกิ่งไม้ที่อยู่ในกระบะเพาะ เพื่อเป็นการอนุบาล กิ่งไม้ที่นำมาเพาะได้ดี เช่น ถั่วแฮ (Cajanus cajan (L.) Huth) ขี้เหล็ก (Senna siamea (Lam.) H.S.Irwin & Barneby) ไม้สกุลสมอ (Terminalia spp.) ไม้สกุลตะแบก (Lagerstroemia spp.) ไม้สกุลตะเคียน (Anogeissus spp.) ไม้ในสกุลถั่วอีกหลายๆ ชนิด เมื่อต้นอ่อนงอก 8 เดือนจะดูแลตนเองได้ ปัจจุบันใช้การขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การตัดกิ่งและการทาบกิ่ง เป็นต้น
เมืองไทยกำลังฮิต BCG จันทร์ขาวมีวงชีพเป็นกาฝาก แต่ก็พัฒนาเทคนิคขยายพันธุ์ในเชิงการค้าและรักษาสมดุลธรรมชาติได้นะจะบอกให้.