แอดมินยังอยู่ที่ เทศบาลตำบลพญาเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ค่ะ …ไม่ได้อู้งานนะคะ มาทำงานด้วยก็เหมือนได้เที่ยวไปด้วย
บอกว่าแล้วจะปักหลักอยู่เรียนรู้ที่นี่ไปอีกหลายวัน
จั่วหัวเรื่อง 3 ฮ จะเป็น “ฮ” อะไรบ้าง แอดมินจะพาไปรู้จักคนที่จะเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง
แอดมินอยู่ที่นี่ มีโอกาสได้คุยกับผู้หญิงเก่งแห่งเทศบาลพญาเม็งรายคนนึง …เธอคือ พี่ยอมหรือพยอม ดีน้อย
เป็นรองนายกเทศบาลตำบลพญาเม็งรายเป็นผู้มีส่วนขับเคลื่อนและผลักดันเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น
พี่ยอมเล่าให้ฟังเรื่องของ โครงการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ โดยมูลนิธิสุขภาพไทย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โครงการนี้ในจังหวัดเชียงรายดำเนินการ 3 พื้นที่
ได้แก่ เทศบาลตำบลพญาเม็งราย, เทศบาลตำบลโรงช้าง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านพระเนตร
และทั้ง 3 พื้นที่ได้มีคำแต่งตั้งคณะกรรมการ ชื่อว่า “คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาด้านสุขภาพตำบล………”
เพื่อทำงานอนุรักษ์ ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ
ภายใต้แนวคิด “ฮอม ฮ้อย ฮ่าย ผญา” โดยใช้กระบวน 3 ฮ 1 ผ ดังนี้
ฮอม หมายถึง การรวบรวม ต้องรวบรวมคน รวบรวมองค์ความรู้ และจดบันทึกไว้
ฮ้อย หมายถึง การร้อยเรียง เชื่อมโยง เชื่อมประสาน ทำงานแบบบูรณาการ
ฮ่าย หมายถึง การสืบทอด สืบสาน การสอน ให้กับคนรุ่นใหม่
และอีก 1 ผ ก็คือ ผญา หมายถึง ปัญญา
ดังนั้นกระบวนการทำงาน ดังนี้
ในช่วงแรก เป็นการทำงานที่เน้นเรื่องการจัดการองค์ความรู้จากหมอพื้นบ้าน จากคนเฒ่าคนแก่ ปราชญ์ผู้รู้ในชุมชน
ต่อมาในช่วงที่สอง เราต้องสร้างกลไกทำงานในพื้นที่ระดับตำบล เพื่อทำงานพัฒนาและส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญา
ในช่วงที่สามทำงานด้านส่งเสริมการใช้ เพื่อให้เกิดการสืบทอด หรือส่งผ่านความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจจะมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ส่งเสริมเข้าไปในระบบการเรียนการสอน หรือการเปิดพื้นที่การเรียนที่เป็นสาธารณะ ที่ทางล้านนาเรียกที่สาธารณะนี้ว่า “ข่วง”
ข่วง หมายถึง ที่กว้างๆ ลานกว้างๆ ไว้ทำกิจกรรมร่วมกันในอดีตกาล เช่น ข่วงบ้าน ข่วงเมือง เอาไว้เป็นที่รวมพล ที่ประชุมแลกเปลี่ยน
ผญา หมายถึง ปัญญา
“ข่วงผญา” หมายถึง ลานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นพื้นที่เสวนาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางปัญญานั่นเอง
คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเทศบาลตำบลพญาเม็งรายมีแนวความคิดจะจัดงานมหกรรมสุขภาพ จึงได้ไอเดียว่า คำว่า “ข่วงผญา” เป็นคำที่ดีและมีความหมายจึงนำมาตั้งชื่อการจัดงานมหกรรมสุขภาพว่า “งานข่วงผญาสุขภาพเทศบาลพญาเม็งราย”
“งานข่วงผญาสุขภาพเทศบาลพญาเม็งราย” จะเป็นอย่างไร….รออ่านได้เลยค่ะ
#มูลนิธิสุขภาพไทย #เทศบาลพญาเม็งราย
#ภูมิปัญญาท้องถิ่น
#สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ #สสส.