หมาว้อ ในภาษาอีสานหมายถึง หมาบ้า ที่ยังก่อปัญหาในสังคมไทยไม่น้อย แต่ในภาคอีสานมีสมุนไพรอย่างน้อย 3 ชนิด ที่มีชื่อว่า “หมาว้อ” คือ เครือหมาว้อ ต้นหมาว้อ และว่านหมาว้อ ขอแนะนำให้รู้จัก ดังนี้
เครือหมาว้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Connarus semidecandrus Jack ชื่อภาษาไทยว่า “ถอบแถบเครือ” จัดอยู่ในวงศ์ถอบแถบ (CONNARACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะลำเพาะ จำเพาะ ทอบแทบ (ภาคกลาง) ขางขาว ขางแดง ขางน้ำครั่ง ขี้อ้ายเครือ (ภาคเหนือ) เครือไหลน้อย (เชียงราย) เครือหมาว้อ (หนองคาย) ตองตีน ลำเพาะ ไม้ลำเพาะ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้) ลาโพ หมากสง (ภาคใต้) บบเจ่ยเพย (เมี่ยน) เป็นต้น เครือหมาว้อ หรือถอบแถบเครือ เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดเล็กถึงใหญ่ พาดพันต้นไม้อื่น มีความสูงได้ 2-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาล ผิวเปลือกเป็นตุ่มเล็ก ๆ ทั่วทั้งเถา กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม ใบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ผลเป็นกระเปาะรูปทรงกระบอกเบี้ยวและสั้น ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อและเพาะเมล็ด ชอบแดดปานกลางและขึ้นในที่ค่อนข้างชื้น พบได้ทุกภาคในประเทศไทยตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ ป่าแพะ หรือตามริมฝั่งแม่น้ำและตามที่รกร้างตั้งแต่พื้นราบถึงสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร
เครือหมาว้อกินได้ยอดอ่อนมีรสมันฝาดเล็กน้อย กินเป็นผักสดกับลาบ ก้อย หรือนำมาลวก ต้มกินกับน้ำพริก ในอินโดจีนและหมู่เกาะโมลุกกะ ( Moluccas) ก็กินยอดอ่อนเป็นผักเช่นกัน และยังนำลำต้นใช้ทำเชือกมัดของ ด้านสรรพคุณทางยา ประเทศไทยและมาเลเซียนำเอาเครือมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง ทั้งต้นและใบมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ขับพยาธิ ใช้เป็นยาแก้พิษตานซาง รากมีรสเอียนเบื่อ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาถ่ายเสมหะ ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาการเจ็บหน้าอก และถ้าใช้ใบถอบแถบเครือ 3 ใบ ใส่เกลือต้มให้เด็กกินน้ำยาเพียงเล็กน้อยก็ใช้เป็นยาแก้ท้องผูก และนำใบต้มกับน้ำใช้ล้างแผลที่เกิดจากน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ เปลือกต้นมีรสเบื่อ ใช้ต้มกับน้ำดื่มกินแก้ปวดท้อง รากใช้ตำพอกแก้หิด ในฟิลิปปินส์ใช้รากต้มดื่มแก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ และเป็นยาบำรุงมดลูก ในกัมพูชาใช้รากรักษากาฬโรค
หมาว้อต้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepisanthes senegalensis (Poir.) Leenh. ในภาษาไทยเรียกว่า “หมากว้อ” ภาคเหนือเรียกว่า “ลำเนียงป่า” เป็นกลุ่มเดียวกับชำมะเลียง พบในแอฟริกา มาดากัสการ์ ศรีลังกา อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย นิวกินี ในไทยพบได้ทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งริมลำธาร ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น หรือป่าเสื่อมโทรม ที่ความสูงถึงประมาณ 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล หมากว้อ เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก แต่บางครั้งอาจสูงได้ถึง 20 เมตร ใบประกอบส่วนมากมีใบย่อยใบเดียวหรือมีคู่เดียว ดอกสีครีมอมเขียว มี 5 กลีบ ผลมี 2 พู พูรูปรีกว้างเกือบกลม เมื่ออ่อนมีสีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินอมเทาหรือสีม่วงเข้ม เกลี้ยง เมล็ดรูปรี สีน้ำตาลดำ ออกดอกเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ติดผลเดือนมกราคม-เมษายน
หมาว้อต้น มีสรรพคุณ เปลือกใช้แก้พิษ ส่วนใบใช้สระผม และภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านใช้มีวิธีการใช้ผลบำรุงกำลัง รากแก้ไข้เหนือ (มาลาเรียขึ้นสมอง) ไข้สันนิบาต (ไข้ที่มีอาการวิงเวียน ตาลาย แน่นหน้าอก เลือดกำเดาออก เกิดขึ้นร่วมกัน) หรือผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่มแก้อาการกล้ามเนื้อเกร็ง หมอพื้นบ้านอีสานกมีการใช้เข้ายาแก้ลงท้อง คือให้เอา ฮากแคบ้าน 1 ฮากหมาว้อ 1 ฮาก หวดข้า 1 ฮาก หมอน้อย 1 ฮาก ยานาง 1 ฮาก งัวซุม 1 เอามาแช่กินดีแล และยังมีการบันทึกอย่างไม่เป็นทางการว่าต้นหมาว้อเข้ายารักษาแก้พิษสุนัขบ้าโดยใช้ รากหมาว้อ รากโนฝ้าย รากอีทก นำรากยาทั้งสามอย่างละ 1 กำมือต้มดื่มถอนพิษสุนัขบ้า ถ้าสุนัขดำกัดให้ต้มดื่ม 7 หม้อ ถ้าเป็นสุนัขอื่น ๆ ใช้ 5 หม้อ ส่วนแผลใช้รากหมาว้อและรากอีทกฝนผสมน้ำปูนใสทาพอกรักษาแผลแก้ปวดบวมอักเสบ ทาเสร็จแล้วให้ตั้งจิตสวดคาถาว่า”โอมยะกะพุทธัง โอมยะกะธัมมัง โอมยะกะสังฆัง เอหิสิริสะวังตุเต พุทธังตุธัมมังตุเต สังฆังสะหายยะวะ” เป่าลงตรงบาดแผลสามครั้งถอนพิษหายแล
ว่านหมาว้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma comosa Roxb. ไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน สูง 40-60 เซนติเมตร มีเหง้าใต้ดิน ลักษณะคล้ายว่านชักมดลูก หัวรูปกลมโต ป้อม เนื้อในสีขาว ใบมีแถบสีแดงเข้ม ผิวใบทั้งสองด้านเกลี้ยง มีต่อมเล็กสีน้ำตาลแดงระจายอยู่ทั่วไปทั้งสองด้าน ช่อดอกเจริญจากโคนลำต้น ก้านช่อดอก สั้น ใบประดับ รูปไข่แกมหอก พบตามป่าเบญจพรรณและป่าชื้นทั่วๆไป
ในฐานข้อมูลของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าว่า ภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี มีการใช้ เหง้า ฝนทาแผล แก้พิษสุนัขกัด ในตำรายาไทยใช้เหง้า แก้เลือดออกจากมดลูกหลังคลอด แก้มดลูกอักเสบ แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ตกขาว ขับน้ำคาวปลา แก้ตับอักเสบ แก้ปวดท้อง ขับน้ำดี แก้ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย แก้ริดสีดวงทวาร และถ้านำหัวหรือเหง้ามาตำแล้วดองด้วยสุรากินครั้งละไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ สำหรับหญิงคลอดบุตรใหม่ ๆ แก้เจ็บปวดมดลูก ทำให้มดลูกเข้าอู่หรือเข้าที่ไม่อักเสบ ถ้าเป็นผู้ชายที่มีอาการไส้เลื่อนหรือกระษัยกล่อนลงฝักปวดเสียวลูกอัณฑะ อัณฑะแข็งเป็นเส้น เจ็บปวด ใช้หัวฝนกับสุราทาบริเวณที่เจ็บปวด 3-4 วัน
หมาว้อ ไม่ใช่ หมาบ้า แต่คือภูมิปัญญาสมุนไพรของ พืช 3 ชนิด เครือหมาว้อ ต้นหมาว้อ และว่านหมาว้อ ที่ควรศึกษาให้ลึกซึ้ง รวมถึงสรรพคุณที่รักษาพิษสุนัขบ้าก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจในการถอดองค์ความรู้นี้จากหมอพื้นบ้าน และทำการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปด้วย.