มีคนกล่าวว่าภาพยนตร์ผี ๆ ที่มีพล็อตเรื่องแปลกและน่ากลัวนั้น ไม่ใช่หนังผีฝรั่ง แขก จีน แต่เป็นผีไทย ๆ นี่ล่ะ มะนาวผี ไม่ใช่สมุนไพรชวนสยองน่ากลัวแต่อย่างใด
แต่เป็นสมุนไพรที่อยู่กลุ่มวงศ์ส้ม ซึ่งเป็นพืชตระกูลที่มีศักยภาพกล่าวขวัญถึงการใช้เป็นอาหารป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโควิด19 ด้วย มะนาวผีซึ่งเป็นไม้ที่อยู่ในตระกูลส้มชนิดหนึ่ง ที่น่าจะเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในด้านนี้เช่นกัน มะนาวผีเป็นสมุนไพรที่อยู่ในวงศ์เดียวกับมะนาวบ้าน แต่อยู่คนละสกุล มะนาวบ้านอยู่ในสกุล Citrus แต่มะนาวผีอยู่ในสกุล Atalantia พืชในสกุลนี้มีรายงานว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย จำนวน 2 ชนิด คือ Atalantia monophylla DC. และ Atalantia roxburghiana Hook.f.
มะนาวผี ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Atalantia monophylla DC. มีชื่อสามัญว่า Indian Atalantia หรือ Wild Lime มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กรูดเปรย (เขมร-จันทบุรี) กรูดผี (สุราษฎร์ธานี) กะนาวพลี (ภาคใต้) ขี้ติ้ว จ๊าลิว (ภาคเหนือ) นางกาน (ขอนแก่น ภาคอีสาน) มะนาวผี (เชียงใหม่ ราชบุรี) มะลิว (เชียงใหม่) มะนาวผีชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ในแถบหมู่เกาะอันดามัน อินเดีย (อัสสัม) บังคลาเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ มาลายา หมู่เกาะนิโคบา ศรีลังกา ไทย เวียดนาม สำหรับในไทยพบที่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สกลนคร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี
มะนาวผีชนิดนี้จัดเป็นไม้พุ่ม มักพบหนามแหลมตามกิ่งก้านทั่วไป ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับ มีใบย่อย 1 ใบ ใบรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบหยักเว้าตื้น หรือแยกเป็น 2 พู ก้านใบสั้น ใบหนาและเหนียวสีเขียว มีต่อมน้ำมันใสอยู่ทั่วไป ดอกออกเป็นช่อกระจุกหรือเป็นช่อสั้นๆ ที่ซอกใบ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 3-5 แฉก กลีบดอก 4 กลีบ สีขาว กลิ่นหอม ผล สด รูปกลม 1.0-2.5 ซม. เปลือกหนา ระยะเวลาออกดอกและติดผลประมาณเดือน มกราคม-พฤษภาคม
ในตำรายาไทย ใบมะนาวผีมีกลิ่นคล้ายใบมะกรูดหรือใบมะนาว ซึ่งก็มีตำรับยาใช้ใบมะนาวผีเป็นยาแก้โรคทางเดินหายใจ แก้จุกเสียด แก้ท้องเสีย รักษาโรคผิวหนัง ผลมะนาวผีก็ใช้รักษาโรคทางเดินหายใจ น้ำมันจากเปลือกผลใช้ทาภายนอก แก้โรคไขข้ออักเสบ ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านใช้ใบและผลมะนาวผี แก้โรคทางเดินหายใจ ใบเข้ายาแก้อาการจุกเสียด แก้อาการท้องเสีย และใช้เป็นยาภายนอกโดยผสมเข้าในตำรับยาแก้โรคผิวหนัง
ในตำรับยาทางอายุรเวทและสิทธา ซึ่งเป็นการแพทย์ดั้งเดิมของอินเดีย ทำการสกัดน้ำมันจากเปลือกผล แล้วนำน้ำมันมาอุ่นให้ร้อนใช้ทาแก้ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) ในหลายประเทศนิยมนำผลมะนาวผีมาดองกินเป็นอาหาร น้ำมันจากเปลือกมะนาวผียังมีกลิ่นหอมช่วยผ่อนคลายหรือลดความเครียดด้วย ต้นมะนาวผีจัดเป็นไม้ประดับคนนิยมปลูกด้วยเพราะดอกมีกลิ่นหอม ผลมีสีเหลืองดูแล้วสบายตาสบายใจ และเนื้อไม้สามารถนำมาทำเป็นกล่องใส่ของต่างๆ ได้ หรือนำไม้มาแกะสลักต่างๆ
มะนาวผี อีกชนิดหนึ่ง ชื่อ Atalantia roxburghiana Hook.f. มีถิ่นกำเนิดในอัสสัม จีน มาลายา เมียนมาร์ หมู่เกาะนิโคบา ไทย ในทางวิชาการได้มีการทบทวนพันธุ์ในวงศ์นี้เมื่อปี พ.ศ. 2564 แล้วทำการตีพิมพ์ในวารสารของกรมป่าไม้ (THAI FOREST BULL.) กล่าวไว้ว่า เกิดความสับสนในตัวอย่างที่เก็บมาใช้ในการศึกษา ทำให้มะนาวผีที่เคยรายงานว่าเป็น Atalantia roxburghiana Hook.f. ควรเป็นชนิด Atalantia simplicifolia (Roxb.) Engl. ซึ่งชนิดนี้แตกต่างจากชนิดแรกตรงที่ไม่มีหนามตามกิ่งก้าน ปลายใบแหลมไม่ทู่หรือเว้าเหมือนชนิดแรก กลีบเลี้ยงของดอกมีลักษณะสม่ำเสมอ ในขณะที่ชนิดแรกกลีบเลี้ยงของดอกมีขนาดไม่สม่ำเสมอ
การแพทย์ดั้งเดิมของศรีลังกามีการใช้สมุนไพรในสกุล Atalantia เพื่อกำจัดเสมหะ รักษาหวัด อาการเจ็บหน้าอกและอาการผิดปกติหลังคลอด
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพบสมุนไพรในสกุลนี้อีกชนิดหนึ่ง เป็นสายพันธุ์ที่นำมาจากต่างประเทศ แล้วเอาเข้ามาปลูกในประเทศไทย คือ มะนาวดำ ที่ได้ชื่อนี้เพราะมีผลเป็นสีดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Atalantia buxifolia (Poir.) Oliv. ex Benth. มะนาวดำมีถิ่นกำเนิดในจีนตอนกลาง ตอนใต้และตะวันออกเฉียงใต้และเกาะไหหลำ ลาว ฟิลิปปินส์ ไต้หวันและเวียดนาม มะนาวดำ มีชื่อสามัญว่า Chinese Box Orange ในการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดจากกิ่งของมะนาวดำสามารถใช้ต้านไว้รัสที่ทำให้เกิดไข้เลือดออก ต้านอักเสบและต้านมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ สารสกัดจากใบใช้เป็นยาฆ่ายุงและแมลงได้ โดยเฉพาะแมลงที่อยู่ตามห้องเก็บของหรือที่อับชื้น
พืชตระกูลส้มมากมายที่เป็นอาหารและมีศักยภาพด้านยาสมุนไพร ข่าวล่าสุดนักวิจัยจากประเทศจีนพบว่าสารสำคัญในมะกรูดมีส่วนช่วยลดและกำจัดไวรัสโควิดในระดับสัตว์ทดลอง มะนาวทั้ง 2 ชนิดก็เป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพมาก ยิ่งในสถานการณ์ที่สังคมต้องเผชิญโควิดและลองโควิดอยู่ในขณะนี้ สรรพคุณสมุนไพรพื้นบ้านจึงเป็นสิ่งใกล้ตัวที่ควรเรียนรู้และนำมาใช้ประโยชน์
ข้อดีอย่างหนึ่งของมะนาวผี คือ เจริญงอกงามได้ดีในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ปลูกเป็นไม้ประดับก็สวยงาม ให้กลิ่นหอม ปลูกและพัฒนาเป็นเครื่องจักสาน เครื่องมือใช้สอยภายในบ้านและเฟอร์นิเจอร์ก็ยังได้ ที่สำคัญปลูกเป็นไม้ยา พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้ด้วย