เที่ยวกันเองในประเทศก็สนุกและได้ความรู้ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวัดคูเต่า จังหวัดสงขลา ยลแลความงามโบราณสถานที่สำคัญ ตั้งแต่ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และศาลาท่าน้ำ ซึ่งมีอายุหลายร้อยปีนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ลึกซึ้งมีคุณค่าต่อการศึกษาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “ศาลา 100 ปี วัดคูเต่า” ได้รับ “รางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2011” ( พ.ศ.2554) จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ไม่ได้ถ่ายภาพศาลาเก่ามาให้ดู ได้ภาพชอบใจโบสถ์เก่าสวย ๆ มาให้ดู
วัดแห่งนี้อยู่ติดกับคลองที่เรียกว่า คลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นชื่อของเฟิร์นชนิดหนึ่ง แต่จากการเดินสำรวจอย่างคร่าว ๆ ยังไม่พบเฟิร์นอู่ตะเภาในบริเวณนี้เลย ที่ประทับใจมากตรงบริเวณลานวัด ใครที่มาเที่ยวชวนให้มาชมต้นไม้ที่มีผลเหมือนกับต้นอัมพวา (Cynometra cauliflora L.) จำนวนมาก สอบถามพระในวัดไม่มีรูปใดรู้จักเลยว่าไม้ชนิดนี้มีชื่อท้องถิ่นว่าอะไร จึงกลับมาศึกษาค้นคว้าพบว่า ไม้ในสกุลนี้ (Cynometra) มีการกระจายตัวอยู่ในแถบศูนย์สตูรของโลก จากรายงานของ Plant of the World (https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:22178-1) พบว่าในโลกนี้มีการจัดจำแนกพืชในสกุลนี้ไว้แล้วจำนวน 113 ชนิด แต่มีรายงานว่าพบในประเทศไทยจำนวน 5 ชนิดเท่านั้น คือ
1)อัมพวา (Cynometra cauliflora L.) มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ว่า นัมนัม (ภาคใต้) นางอาย (กรุงเทพฯ) บูรานัม (ภาคกลาง) หีหมา (ปัตตานี) อัมพวาเป็นไม้ต่างถิ่น (มีถิ่นกำเนิดในมาเลเซียและอินโดนีเซีย) ที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ลักษณะที่สำคัญคือ ผลติดตามลำต้น 2)แหะ (Cynometra craibii Gagnep.) มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ว่า แหะ แห่น้อย (นครพนม) พบถิ่นกำเนิดในไทยและเวียดนาม จัดอยู่ในกลุ่มพืชที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 3)มังคะ (Cynometra iripa Kostel.) มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ว่า กาต๋ง แตดลิง (ภาคใต้) มีถิ่นกำเนิดใน อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย นิวกีนี ฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย ใบค่อนข้างเล็ก ผลเล็ก ผิวหยักมาก มีจำนวนประชากรมาก
4)มังคาก (Cynometra malaccensis Meeuwen) มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ว่า กลี กาตง (นราธิวาส)
มังคาก (ภูเก็ต) ร้อยเด (ปัตตานี) มีถิ่นกำเนิดในอัสสัม ภาคใต้ของไทยและมาเลเซีย 5)มะคะ (Cynometra ramiflora L.) มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ว่า พังคะ มังคะ (ภาคกลาง ภาคใต้) พังค่า (ตรัง) แมงคะ (ตราด) มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ไทย กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย นิวกีนี ฟิลิปปินส์และรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย
ไม้ในสกุลนี้ทั้ง 5 ชนิด มีลักษณะของผลที่คล้ายกัน แตกต่างกันที่ขนาดของลำต้น ลักษณะของ
ใบ และตำแหน่งของการติดผล ซึ่งคนภาคใต้เรียกผลไม้ในสกุลนี้รวมกันว่า “ส้มคางคก” เนื่องจากมีผิวของผลขรุขระเหมือนหนังคางคกและรสเปรี้ยวจัด แต่เมื่อผลส้มคางคกสุกความเปรี้ยวจะลดลงกลายเป็นหวานอมเปรี้ยว นิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น แกงส้ม น้ำพริก สลัด หรือนำมาแช่อิ่ม กินเป็นของหวานหรือของว่าง ผลที่มีรสเปรี้ยวเมื่อประกอบอาหารจึงช่วยกระตุ้นให้อยากอาหารและมีการขายผลส้มคางคกในตลาดพื้นเมืองหลายแห่ง ส่วนของใบอ่อนยังนำมากินเป็นผักได้เช่นกัน น้ำมันจากเมล็ดใช้รักษาโรคผิวหนัง
แต่ส่วนเนื้อไม้ของส้มคางคก มีลักษณะแตกต่างกันมาก เช่น ไม้จากต้นอัมพวา (Cynometra cauliflora) จัดว่าเป็นไม้ที่ไม่มีราคา เหนียว เลื่อยยาก ไม่สามารถนำมาใช้ได้แม้กระทั่งทำฟืน ไม้จากต้นมังคะ (Cynometra iripa ) มีเนื้อไม้ที่แข็ง นำมาใช้ในการก่อสร้างได้ดี โดยเฉพาะทำเป็นไม้พื้นกระดาน หมอนรางรถไฟ ในทางอายุรเวทของอินเดียกล่าวถึงสรรพคุณว่า ใช้รักษาแผล ต้านแบคทีเรีย ต้านจุลินทรีย์ โดยใช้ส่วนของ ใบ เมล็ดและลำต้น ไม้จากมังคาก (Cynometra malaccensis) มีเนื้อไม้ที่เหมาะนำมาใช้งานมากกว่าชนิดอื่น ๆ นิยมนำมาทำเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ของเล่นเด็กหรือทำสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ และเนื้อไม้มีคุณภาพดีเหมาะที่จะนำมาทำเป็นถ่าน
ไม้จากมะคะ (Cynometra ramiflora) มีเนื้อไม้ที่แข็งและหนัก นิยมนำมาใช้ทำกรอบวงกบ ใช้ทำเครื่องมือ งานแกะสลัก ตกแต่งงานต่างๆ มีรายงานการใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ส่วนของใบใช้เป็นยารักษาเริม ส่วนของรากใช้เป็นยาระบาย ชนพื้นเมืองในแถบเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ในประเทศอินเดียนำใบมาต้มกับนม แล้วนำมาผสมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นโลชั่นทาผิวหรือใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง หิดและแผลที่เกิดจากโรคเรื้อน หรือจะใช้น้ำมันที่ได้จากเมล็ดรักษาได้เช่นกัน ส่วนรากใช้เป็นยาถ่ายและยาระบาย
สำหรับ ไม้แหะหรือแห่น้อย (Cynometra craibii) ไม่ควรนำมาทำอะไรทั้งสิ้นเพราะเป็นเพียงชนิดเดียวในกลุ่มนี้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อไม้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในประเทศไทยพบไม้ชนิดนี้อยู่บ้างบริเวณป่าบุ่ง ป่าทามของภาคอีสาน และไม่เพียงแต่ไม้แหะที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ในปัจจุบันป่าบุ่ง ป่าทาม หรือสภาพป่าทั้งป่าก็อยู่ในภาวะวิกฤตเพราะถูกคุกคามมากเช่นเดียวกัน
มังคะ มังคากและมะคะ เป็นไม้ที่ยังพบได้มากทางภาคใต้ ที่สงขลาเรียกไม้ในกลุ่มนี้ว่า “ต้นหน้าหนำ” เพราะนิยมปลูกไว้หน้าขนำ เป็นไม้ที่ให้ร่มเงาดี แต่น่าเสียดายที่ไม้ชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันน้อยมาก ทำให้การนำมาใช้ประโยชน์น้อยตามลงไปด้วย ในต่างประเทศนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ทำไม้ดัด บอนไซ
ไม่น่าจะมีอะไรช้าไปถ้ามาช่วยกันสืบค้นภูมิปัญญาดั้งเดิมและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เหมือนศาลาเก่าร้อยปียังขึ้นมรดกยูเนสโกได้ ส้มคางคก ก็น่าจะกลับมาเพื่อประโยชน์ชุมชนได้เช่นกัน