ใครฟังชื่อ “โด่ไม่รู้ล้ม” ร้อยละร้อยก็มักมีความเข้าใจไปในเรื่องสรรพคุณเสริมพลังเพศชาย แต่ที่มาของชื่อเรียกนี้มาจากลักษณะของช่อดอกที่ตั้งตรง สูง ใครจะเหยียบย่ำลงไปก็สามารถเด้งกลับไปตั้งตรงได้ใหม่ นี่ล่ะคือที่มาของชื่อ โด่ไม่รู้ล้ม ในทางวิชาการ พืชในกลุ่มของโด่ไม่รู้ล้มในประเทศไทย มี 3 ชนิด แยกตามชื่อวิทยาศาสตร์ คือ 1) Elephantopus mollis Kunth (โด่ดอกขาว) 2) Elephantopus scaber L. (โด่ดอกม่วง) และ 3) Pseudelephantopus spicatus (Juss. ex Aubl.) C.F.Baker
ต้นโดไม่รู้ล้มนี้อย่าคิดว่ามีใช้แค่ในประเทศไทยเท่านั้น ที่ไต้หวันมีตำรับยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง ชื่อ “Teng-khia-U” ซึ่งเป็นยาที่นำเอาโด่ไม่รู้ล้มทั้ง 3 ชนิดข้างต้นมาใช้และในปัจจุบันมีการนำยาตำรับนี้มาศึกษาด้วยการนำมาสกัดด้วยน้ำ พบการออกฤทธิ์ว่าช่วยปกป้องตับจากการทำลายด้วยสารเคมี β-D-galactosamine และ acetaminophen โดยทำให้ระดับ sGOT และ sGPT ลดลง ตำรับดังกล่าวยังมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบโดยใช้การทดสอบด้วย carrageenan ในการเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าหนูด้วย
สำหรับโด่ไม่รู้ล้มที่มีการกล่าวถึงในตำรับยาไทยนั้น จะเป็นโด่ไม่รู้ล้ม ชนิด Elephantopus scaber L. มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ที่หลากหลาย เช่น ขี้ไฟนกคุ่ม (เลย) คิงไฟนกคุ่ม (ภาคอีสาน) หนาดมีแคลน (สุราษฎร์ธานี) ตะชีโกวะ ติ๊ซิเควาะด๊ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) โน๊ะกะชอย่อตะ กาว่ะ เนาะดากวอะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) เคยโป้ หนาดผา หญ้าปราบ หญ้าไก่นกคุ่ม หญ้าไฟนกคุ้ม หญ้าสามสิบสองหาบ (ภาคเหนือ) ก้อมทะ เกดสะดุด ยาอัดลม (ลั้วะ) จ่อเก๋ (ม้ง) และมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Prickly-leaves elephant’s foot
การใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรของโด่ไม่รู้ล้ม ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบต่อมาและยังใช้กันกว้างขวางอยู่ในเวลานี้นั้นมักใช้ในรูปตำรับมากกว่าการใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยว เช่น หมอยาพื้นบ้านทั้ง 4 ภาคจะใช้โด่ไม่รู้ล้มเข้าตำรับยาที่หลากหลาย ตามภูมิปัญญากล่าวถึงสรรพคุณโด่ไม่รู้ล้มไว้ด้วยว่า ใช้ทั้งต้น รสกร่อยขื่น เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น ขับน้ำเหลืองเสีย แก้บิด แก้ท้องเสีย แก้ไอ แก้วัณโรค บำรุงหัวใจ ขับเหงื่อ ขับระดู ขับพยาธิตัวกลม แก้ปัสสาวะพิการ แก้กระษัย ขับไส้เดือน แก้กามโรค แก้บวมน้ำ แก้นิ่ว แก้ไข้หวัด แก้เจ็บคอ แก้ตาแดง แก้ดีซ่าน แก้เลือดกำเดาออกง่าย แก้ฝี แก้แผลมีหนอง แก้แมลงมีพิษกัดต่อย แก้อักเสบ แก้แผลในกระเพาะอาหาร แก้แผลเปื่อยในปาก แก้เหน็บชา
ราก รสกร่อยขื่น ใช้ขับปัสสาวะ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้หวัด แก้ไอเรื้อรัง แก้ท้องเสีย แก้บิด ขับพยาธิ ขับระดู บีบมดลูก ต้มเอาน้ำอมแก้ปวดฟัน แก้ฝี แผลมีหนอง บวมอักเสบทั้งหลาย เป็นยาคุมสำหรับหญิงที่คลอดบุตรใหม่ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับไส้เดือน รักษาโรคบุรุษ ต้มดื่มแก้อาเจียน ต้มดื่มแก้ปวดหลังปวดเอว ใบ รสกร่อยขื่น รักษาบาดแผล แก้โรคผิวหนัง แก้ไข้ ขับปัสสาวะ แก้อ่อนเพลีย รักษากามโรค รักษาโรคบุรุษ เป็นยาคุมสำหรับหญิงที่คลอดบุตรใหม่ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับไส้เดือน แก้ไอ ทำให้เกิดความกำหนัด รากและใบ รสกร่อยขื่น ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง แก้โรคแผลในกระเพาะอาหาร แก้บิด แก้กามโรคในสตรี
ตัวอย่างวิธีปรุงยา เช่น ใช้สดหรือแห้งประมาณ 2 กำมือ ต้มดื่ม ยาต้มโดไม่รู้ล้มเช่นนี้ช่วยได้หลายสรรพคุณ คือ ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง แก้กระเพาะอาหารเป็นแผล บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย ขับนิ่ว แก้อาการเวียนศีรษะ แก้ริดสีดวง แก้ปวดเมื่อย แก้อาการอ่อนเพลีย บางครั้งสามารถนำเอาต้นโด่ไม่รู้ล้มมาทำลูกประคบแก้ปวดเมื่อยก็ได้ และยังนำมาใช้ต้มอาบสำหรับหญิงหลังคลอด สำหรับยาภายนอกก็มีการใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ เคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ทาแผล แก้โรคผิวหนังผื่นคันได้ด้วย
ในบางพื้นที่มีภูมิปัญญาในการจัดจำแนกโด่ไม่รู้ล้มออกเป็น 2 ชนิด คือ โด่ไม่รู้ล้มที่มีใบแบนราบไปกับดินกับโด่ไม่รู้ล้มที่มีใบแผ่เหนือดิน โด่ไม่รู้ล้มที่มีใบแบนราบไปกับพื้นดินหมอพื้นบ้านที่ภาคเหนือเรียกว่า “ช้างย่ำเป้อ” ส่วนหมอพื้นบ้านภาคใต้เรียกว่า “ปราบดิน” หมอพื้นบ้านภาคใต้ใช้โด่ไม่รู้ล้มทั้ง 2 ชนิดเข้ายาคนละตำรับ โดยปราบดินใช้เข้ายาตำรับแก้ไข้ ส่วนโด่ไม่รู้ล้มใบแผ่เหนือดินใช้เป็นยาในตำรับแก้ริดสีดวง
หมอพื้นบ้านในภาคเหนือยังได้จำแนกโด่ไม่รู้ล้มอีกชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pseudelephantopus spicatus (Juss. ex Aubl.) C.F.Baker มีชื่อในภาษาไทยว่า “โค่ลาโด่” หรือ “ต้นใต้ดิน” มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า dog’s-tongue หรือ false elephant’s foot หรือหมายถึงโด่ไม่รู้ล้มเทียม โด่ไม่รู้ล้มเทียมนี้มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ แต่ได้มีการนำเข้ามาปลูกในอาฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางหมู่เกาะในแปซิฟิค แต่บางรายงานว่าเป็นพืชเกิดเองตามธรรมชาติในรัฐฟอริดา สหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบได้ทางภาคเหนือ แต่ในขณะนี้มีการนำไปปลูกในภาคอีสานในหลายพื้นที่แล้ว ในภูมิปัญญาภาคเหนือจะใช้ตำรับที่มีโด่ไม่รู้ล้มตามปกติ แต่จะแบ่งชนิดของต้นโด่ไม่รู้ล้มต่างกันคือ ถ้าคนไข้เป็นเพศชายให้ใช้โด่ไม่รู้ล้มเทียมในการปรุงยา ถ้าคนไข้เป็นเพศหญิงให้ใช้โด่ไม่รู้ล้มธรรมดา
งานวิจัยจากมาเลเซียและเวียดนามพบว่าการแพทย์ดั้งเดิมของเขาใช้โด่ไม่รู้ล้มเข้ายาขับปัสสาวะ ลดไข้ ขับนิ่วในขณะเดียวกันทำให้ลดอาการอักเสบในไต ลดอาการบวมน้ำ ลดอาการเจ็บแน่นหน้าอกด้วย และมีการใช้รักษานิวมอเนีย แก้หิด ลดอาการปวดข้อ และศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งในเม็ดเลือดขาวด้วย ที่น่าสนใจยังมีงานวิจัยสนับสนุนการใช้รักษาและป้องกันการติดเชื้อในการเลี้ยงปลานิลด้วย
ในทางพฤกษศาสตร์ยังพบอีกว่า โด่ไม่รู้ล้ม ชนิด Elephantopus scaber L. ยังแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ย่อย คือ Elephantopus scaber var.argenteus C.Jeffrey, และ Elephantopus scaber var. plurisetus O.Hoffm. และ Elephantopus scaber L. var. scaber ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาว่าแต่ละชนิดย่อยมีสรรพคุณทางยาเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร น่าสนใจศึกษามาก.