ต้นไม้ที่มีคำว่า จัน หรือ จันทน์ นำหน้า ถ้าเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตให้นิยามไว้ 2 ลักษณะ
คือ 1. จัน หมายถึงชื่อไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง 2.จันทน์ หมายถึงชื่อพรรณไม้บางชนิดที่มีเนื้อไม้ ดอก หรือผลหอม ใช้ทำยาและปรุงเครื่องหอม ส่วนคำว่า จันทร์ มี 2 ความหมาย คือ พระจันทร์และวันจันทร์ (วันที่ 2 ของสัปดาห์) ดังนั้นสมุนไพรที่ออกเสียงว่า จันขาว ก็ควรเขียนว่า “จันทน์ขาว”
ในฐานข้อมูลของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวไว้ว่า ในยาพื้นบ้านล้านนามีการใช้ แก่นจันทน์ขาว และจันทน์แดง ผสมกับสมุนไพรอื่นๆ อีก 11 ชนิด ฝนกับน้ำข้าวเจ้า กินหรือทา รักษาโรคเลือดลม ถ้าเป็นมากจนตัวแดงเป็นลูกตำลึงสุก ให้นำมาทาด้วย ส่วนในตำรายาไทยมีการใช้จันทน์ขาวในตำรับ “พิกัดเบญจโลธิกะ” คือตัวยาที่มีคุณสมบัติทำให้ชื่นใจ 5 อย่าง มี แก่นจันทน์ชะมด ต้นเนระพูสี ต้นมหาสะดำ แก่นจันทน์แดง และแก่นจันทน์ขาว สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อดี แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมวิงเวียน กล่อมพิษทั้งปวง
ยังมีตำรับยา “พิกัดจันทน์ทั้งห้า” ประกอบด้วย แก่นจันทน์ชะมด แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์ทนา แก่นจันทน์แดง และแก่นจันทน์ขาว สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อโลหิตและดี แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงตับ ปอดหัวใจ แก้พยาธิบาดแผล นอกจากนี้ยังพบในตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์ในตำรับ “มโหสถธิจันทน์” ประกอบด้วย จันทน์ทั้ง 2 (จันทน์แดงและจันทน์ขาว) ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 13 ชนิด สรรพคุณแก้ไข้ทั้งปวง ที่มีอาการตัวร้อน อาเจียนร่วมด้วยก็ได้
ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ซึ่งในบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิมนั้น พบว่ามีการใช้จันทน์ขาว อยู่ในหลายตำรับยา เช่น ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ได้แก่ “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของจันทน์ขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ซึ่งมีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง และยาแก้ไข้ “ยาจันทน์ลีลา” มีส่วนประกอบของจันทน์ขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู และ “ตำรับยาเขียวหอม” ที่มีส่วนประกอบของจันทน์ขาวในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส)
แต่มาเรียนรู้กันสักนิดว่า สมุนไพรจันทน์ขาวที่ปรากฏในตำยาต่าง ๆ นั้น มีการนำมาใช้อย่างน้อย 2 ชนิด คือ จันทน์ขาว ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Santalum album L.และ Tarenna hoaensis Pit.
จันทน์ขาว ชนิด Santalum album L. เป็นพืชในวงศ์ย่านตีเมีย (Santalaceae) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสมุนไพรชนิดนี้เป็นกาฝาก จันทน์ขาวชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะฟิลิปปินส์ เกาะชวาไปจนถึงทางตอนเหนือและแถบตะวันตกของออสเตรเลีย สันนิษฐานว่านกหรือชาวประมงนำเมล็ดพันธุ์ไปกระจายถึงอัสสัมของอินเดีย หมู่เกาะคาโรลีน ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ฟอริดาของสหรัฐอเมริกา อินเดีย มอริเชียส เมียนมาร์ เนปาล หมู่เกาะร็อดริก เกาะเรอูว์นียง ศรีลังกา ไต้หวัน ไทย เวียดนาม
จันทน์ขาวชนิดนี้บางครั้งเรียกว่า “แก่นจันทร์” หรือ “จันทร์หิมาลัย” ใช้เป็นสมุนไพรบำรุงประสาท แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ปลูกมากทางภาคใต้ของประเทศอินเดียตั้งแต่เมืองไมซอร์จนถึงมัทราส และชาวฮินดูใช้เป็นยาแก้ไข้ เมื่อนำมาบดเป็นผงผสมในยาทาแก้ไฟลามทุ่ง ผื่นคันเรื้อรัง ในอินเดียนำมากลั่นด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันจันทน์ขาว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่มีการผลิตมามากกว่า 2000 ปี น้ำมันที่ได้มีสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ใช้ผสมในเครื่องหอมและสบู่ เนื้อไม้นำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ทำพัด หรือนำมาใช้ในพิธีเผาศพของชนชั้นสูง และใช้สำเร็จโทษเจ้านายชั้นสูง เป็นต้น จันทน์ขาวชนิดนี้มีความต้องการสูงจึงเหลือในธรรมชาติน้อยมาก ปัจจุบันมีการศึกษาทางการเกษตรเพื่อนำมาปลูกในเชิงการค้า เช่นในประเทศจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และหมู่เกาะแปซิฟิค สำหรับในธรรมชาติของประเทศไทยพบน้อยมากและยังพบมีการปลูกเป็นการค้า การใช้จึงต้องสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ
ส่วนจันทน์ขาวอีกชนิด Tarenna hoaensis Pit. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ได้แก่ จันทน์ตะเบี้ย จันทน์ตะเนี้ย (ภาคตะวันออก เขมร) จันทน์หอม (ระยอง) จันทนา จันทน์ใบเล็ก (ประจวบคีรีขันธ์) และเรียกชื่อทางการว่า “จันทน์ทนา” จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นได้ถึง 2-5 เมตร มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ กัมพูชา ไทยและเวียดนาม ในไทยพบมากทางภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในปัจจุบันก็จัดว่าเป็นไม้หายาก สรรพคุณตามภูมิปัญญา เนื้อไม้ใช้บำรุงประสาท บำรุงเนื้อหนังให้สดชื่น แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้ตับ ปอดและดีพิการ แก้เหงื่อตกหนัก ขับพยาธิ บำรุงธาตุไฟ บำรุงดวงจิตมิให้ขุ่นมัว แก้ไข้ที่เกิดจากตับและดี แก้ไข้ร้อน บำรุงเลือดลม บำรุงธาตุไฟให้สมบูรณ์ แก่นใช้ แก้ไข้กำเดา บำรุงหัวใจ แก้ลม แก้อ่อนเพลีย เนื้อไม้หรือแก่นใช้บดหรือฝนผสมกับน้ำนำมาใช้ทำธูปหอมหรือนำไปปรุงแต่งเป็นเครื่องหอมได้
เข้าใจว่าแต่เดิมการใช้จันทน์ขาวในตำรับยาต่าง ๆนั้น จะเป็นชนิด Santalum album L. แต่เนื่องจากหายากและต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ และวิธีการปลูกค่อนข้างซับซ้อนเนื่องจากเป็นพืชกาฝาก จึงนำเอาจันทน์ขาวชนิด Tarenna hoaensis Pit. มาใช้ทดแทน อย่างไรก็ตามในเวลานี้จันทน์ขาวทั้ง 2 ชนิด จัดเป็นพืชหายาก แต่มีความต้องการสูงเป็นสมุนไพรที่ใช้ประกอบตำรับยาดีๆ มากมาย ถึงเวลาที่หน่วยงานทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมต้องมาช่วยกันปลูกให้มากขึ้น.