อาหารไทย 4 ภาคมีเสน่ห์พิเศษสุดแตกต่างกันไป แม้ว่าทั้งคนเหนือและคนอีสานนิยมกินข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียวเหมือนกัน แต่รสชาติอาหารและเครื่องปรุงรสในท้องถิ่นตนเองก็อร่อยไปคนละแนว เช่น มะแขว่น เป็นอาหารและสมุนไพร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zanthoxylum myriacanthum Wall. ex Hook. F. จัดอยู่ในวงศ์ Rutaceae วงศ์เดียวกับพืชตระกูลมะกรูด มะนาว ชื่อเรียกภาคกลางว่า พริกหอม (ภาคกลาง) และถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่พบมากในภาคเหนือ พบเห็นและเติบโตได้ขึ้นดีบนดอย ในพื้นที่สูงราว 1,000 เมตร ผลของมะแขว่นรูปทรงกลมนี่แหละที่แก่แล้วแตก มีกลิ่นหอมแรง รสเผ็ดร้อน
กล่าวกันว่า มะแขว่นที่ขึ้นชื่อเป็นที่ต้องการมักมาจากพื้นที่ในตำบลโป่งแยง เฉพาะเจาะจงกันว่าที่บ้านดงหมู่ 3 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ที่พ่อค้ามารับซื้อผลผลิตมะแขว่นกันมาก และพื้นที่นี้ยังมีการเพาะกล้ามะแขว่นกันมาก โดยใช้เมล็ดใส่ถุงวางจำหน่ายด้วย มีการเล่าลือกันว่า หากรับประทานน้ำแกงที่ใส่มะแข่นจากบ้านอื่น จะทราบได้ทันทีว่าไม่ใช่ใส่มะแขว่นของบ้านโป่งแยง เพราะของบ้านโป่งแยงจะมีรสชาติ และกลิ่นหอมกว่า
ใครที่เคยทำงานกับพื้นที่สูงหรือกับกลุ่มชาติพันธุ์บนดอย ก็คงเคยรับรู้มาว่ากลุ่มพระธัมมจาริก ที่ป็นภิกษุและสามเณรที่อาจเป็นทั้งชาวเขาหรือในพื้นราบก็ตาม ท่านจะเป็นพระนักพัฒนาเดินทางไปส่งเสริมทั้งพระพุทธศาสนาและให้ความรู้ด้านการศึกษาต่างๆ รวมถึงการเกษตร ซึ่งได้ส่งเสริมการปลูกพันธุ์ พืชต่าง ๆ หรือพืชเครื่องเทศที่ขึ้นดีบนดอย เช่น พืชตระกูลเทียน ไพลดำ การบูร และมะแขว่น เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีรายได้จากพืชเหล่านี้ และต้องขอบคุณพระธัมมจาริกที่ช่วยสร้างความยั่งยืนของสายพันธุ์พืชสมุนไพรด้วย
มะแขว่นส่วนของใบและยอด กินเป็นผักกับน้ำพริก ส่วนเครื่องเทศจะใช้ผลแก่แห้งซึ่งมีรสเผ็ดร้อนปรุงอาหาร หรือบดผลแห้งใส่ในแกงปริมาณเล็กน้อย นิยมปรุงในแกงผักกาดจะทำให้มีกลิ่นหอม อร่อยกลมกล่อม หรือปรุงผสมในเครื่องลาบเมืองเหนือเพิ่มรสลำแต๊แต๊ ส่วนของผลอ่อนสามารถนำไปดองน้ำปลาแล้วกินเป็นเครื่องเคียงกับลาบได้ สำหรับประโยชน์ทางยาสมุนไพรนั้น ใบ แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน เมล็ด แก้ลมวิงเวียน บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ แก้ฟกช้ำ แก้หนองใน ราก แก้พิษสัตว์หรือถอนพิษงูได้โดยนำรากของมะแขว่นบดให้ละเอียดแล้วนำมาพอกไว้ตรงปากแผลหรือบริเวณที่โดนพิษ รากและเนื้อไม้ยังนำมาต้มดื่มเป็นยาขับลมในสำไส้ แก้ลม แก้วิงเวียนศีรษะ และขับโลหิตระดูของสตรี และมีการนำเมล็ดมาเผาสูดดมควันใช้รักษาแผลในจมูก
ในต่างประเทศก็มีการใช้มะแขว่นเช่นกัน แต่เนื่องจากมะแขว่นมีหลายชนิดจึงใช้ประโยชน์ต่างจากในประเทศไทยบ้าง เช่น ใครที่นิยมอาหารญี่ปุ่นน่าจะเคยลิ้มรสเครื่องปรุงมิโสะกันได้ หรือที่เป็นผงโรยบนเนื้อปลาไหลย่าง เครืองปรุงรสนี้เรียกว่า ชิจิมิ หมายถึง 7 รสชาติ ได้แก่ พริกญี่ปุ่น ซันโชว เปลือกส้ม งา เมล็ดกัญชา (แบบดั้งเดิม-ปัจจุบันไม่ได้ใส่) ขิงผง และสาหร่าย ซึ่ง ซันโชว คือพืชตระกูลเดียวกับมะแขว่น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zanthoxylum piperitum (L.) DC. บางทีก็เรียกว่า พริกไทยญี่ปุ่น และส่วนผลแห้งเหมือนมะแขว่นของไทย และเป็นพืชเศรษฐกิจเช่นกัน นอกจากนี้ในการแพทย์ดั้งเดิมของญี่ปุ่น หรือ การแพทย์กำโป มีตำรับที่มีมีผลมะแขว่นญี่ปุ่น (Zanthoxylum piperitum DC.) ใช้รักษาอาการเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร และในประเทศเนปาลมีการศึกษาน้ำมันหอมระเหยของพืชตระกูลนี้เพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์ และนำมาใช้ในแนวกลิ่นบำบัดด้วย ซึ่งน้ำมันหอมระเหยมีส่วนระงับเชื้อโรค ช่วยให้สงบ ระงับ บรรเทาอาการปวดฟันและข้ออักเสบ
สมุนไพรพืชในสกุลหรือตระกูล แซนโทซีรั่ม Zanthoxylum ที่พบในประเทศไทยมี 4 ชนิด ดังนี้ 1) มะมาด ,หมักก้ากดอยสุเทพ ชื่อวิทยาศาสตร์ Zanthoxylum acanthopodium DC. 2) ห่อเจียว (บะก๊ะ) หมักก้าก ชื่อวิทยาศาสตร์ Zanthoxylum armatum DC. 3) มะข่วง, กำจัดต้น, ลูกระมาศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Zanthoxylum rhetsa (Roxb.) DC. (Z. budrunga Wall. ex Hook.f. , Z. limonella (Dennst.) Alston) 4) มะแขว่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Zanthoxylum myriacanthum Wall. ex Hook. F. ในปัจจุบันพืชที่นำมาใช้มากที่สุด คือ มะแขว่น และมะข่วง
ผลของพืชในสกุลเดียวกันทั้ง 4 ชนิด พบว่าสารองค์ประกอบของน้ำมันระเหยที่พบร่วมกัน คือ แอลเฟลลาดรีน (-phellandrene), ลิโมนีน (limonene) และพบแอลเทอร์พีนีออล (-terpineol) มีฤทธิ์เบื้องต้นในการต้านแบคทีเรียและเชื้อรา และพบว่าในน้ำมันหอมระเหยนี้มีองค์ประกอบอนุพันธ์ฟีนอลอยู่จำนวนสูง ซึ่งมีรายงานว่าสารกลุ่มโพลีฟีนอลนี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง น่าจะมีผลปกป้องและลดอันตรายจากการเกิดการทำลายเซลล์ร่างกายได้ จึงกล่าวได้ว่ามะแขว่นมีผลการศึกษาที่มีสรรพคุณต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ หากได้ส่งเสริมและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับป้องกันและบรรเทาอาการโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับการอักเสบก็น่าจะมีศักยภาพที่ดี
มะแขว่น อาหารพื้นเมืองรสชาติดั้งเดิมที่มีโอกาสต่อยอด หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งด้านอาหารและยาสมุนไพร หากหน่วยงานรัฐลงทุนศึกษาวิจัยและพัฒนาน่าจะตอบโจทย์วิถีชีวิตสมัยใหม่ได้แน่นอน.