วันนี้แอดมินชวนไปรู้จัก “หมอกระดูก”
เวลาแขนหักเราจะไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่ถ้าอยู่ในชุมชนที่มีหมอพื้นบ้านที่เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกล่ะก็…
เรายังพอมีที่พึ่งไปหาหมอกระดูกได้เลย
หมอกระดูกหรือหมอต่อกระดูกพื้นบ้านเป็นภูมิปัญญาการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งเกิดความเจ็บป่วยจากโครงสร้างร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อ กระดูกและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง
โดยหมอพื้นบ้านผู้มีความชำนาญรักษา
หมอกระดูกนั้นเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านอีกแขนงหนึ่งที่เกิดขึ้นและพึ่งตนเองของท้องถิ่น
ในกระบวนการบำบัดรักษามีการผสมผสานการใช้สมุนไพร น้ำมัน น้ำมนต์ การเป่าและบริกรรมคาถา
ทำให้ชาวบ้านเรียกหมอกระดูกว่า “หมอน้ำมัน” ด้วย
หมอกระดูกมีหลายคน วันนี้จะพาไปรู้จัดหมอกระดูกแห่งเมืองกาฬสินธุ์ “หมอสุพันธุ์ ศรีริเลี้ยง”
หมอสุพันธุ์มีแหล่งเรียนรู้อยู่ที่บ้าน คือ หมอพิมพ์ผู้เป็น “ตา”
หมอพิมพ์เป็นหมอพื้นบ้านที่มีความชำนาญการรักษาความเจ็บป่วยหรืออาการบาดเจ็บเกี่ยวกับกระดูกและข้อ มีวิชาอาคม การอยู่ยงคงกระพันและล่องหนหายตัว
หมอพิมพ์จบแค่ ป.4 แต่มีโอกาสได้บวชเรียนทำให้ได้เรียนรู้หลากหลายวิชา รวมไปถึงวิชาการนวดเส้นด้วย
หมอสุพันธุ์ได้เรียนวิชาความรู้หมอพื้นบ้านจากหมอพิมพ์ผู้เป็นตา และได้นำวิชาความรู้ที่ได้เรียนมารักษาหลานสาวที่แขนหักจนหายเป็นปกติ จากนั้นชาวบ้านก็ให้การยอมรับและเชื่อถือหมอสุพันธุ์
การเป็นหมอไม่ว่าจะหมอพื้นบ้านหรือหมอแผนปัจจุบัน ก็ต้องได้รับการยอมรับ ความเชื่อถือจากชาวบ้านก่อน
เป็นเรื่องปกตินะ…ที่ชาวบ้านจะเฝ้ามองหมอคนนั้นและดูว่า หมอคนนั้นเก่งจริงๆ มั้ย
การเรียนวิชาความรู้ของหมอพื้นบ้านจะคล้ายๆ กัน คือ การสังเกต การฟัง และจดจำไว้ ไม่มีตำรา แต่ให้ท่องจำ
สิ่งสำคัญของการเรียนรู้คือ “การท่องจำ” การปฏิบัติด้วยตัวเอง พิธีกรรมและการปฏิบัติตัวของหมอ จึงจะทำให้วิชาของหมอได้ผล หมอพื้นบ้านจะไม่เรียกร้องค่าตอบแทน ไม่โฆษณาอวดรู้อวดตัว ยึดถือธรรมเนียมการตั้งคายและปงคาย ก็คือการไหว้ครู
โดยส่วนใหญ่หมอพื้นบ้านจะสืบทอดความรู้มาจากบรรพบุรุษสายตระกูล ซึ่งทำให้ชาวบ้านเชื่อถือมากขึ้นและยิ่งตัวหมอเองมีคุณธรรมและจริยธรรมก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านเคารพและศรัทธามากขึ้น
หมอสุพันธุ์ก็เป็นเช่นนั้น ชาวบ้านเคารพและนับถือมาก ทั้งๆ ที่หมอสุพันธุ์ทำมาหากินเหมือนคนอื่นๆ ก็คือ ทำนา เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย
ตอนหน้าจะพาไปดูว่า หมอสุพันธุ์รักษาต่อกระดูกอย่างไร และคนป่วยมีอาการดีขึ้นจริงหรือ?
ห้ามพลาดนะคะ!!
(เรียบเรียงข้อมูลจากหนังสือ “เรียนรู้และเข้าใจหมอพื้นบ้าน” ชุดความรู้ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน กรณีโครงการสำรวจศักยภาพหมอพื้นบ้าน 12 จังหวัด ปี 2548
จัดพิมพ์โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทวงสาธารณสุข)
#มูลนิธิสุขภาพไทย #หมอพื้นบ้าน #หมอกระดูก #หมอน้ำมันพื้นบ้าน #หมอสมุนไพร #ภูมิปัญญา