เนื้อหาในฉบับที่ผ่านมาได้กล่าวถึงสมุนไพร 2 ชนิด ที่มีการใช้และการเรียกชื่อสมุนไพรที่อาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ จึงแนะนำการใช้ประโยชน์ให้ถูกต้องไว้ คือ กระเช้าผีมด และ หัวร้อยรู
ที่นำมาขยายความกล่าวซ้ำ ก็เนื่องจากเกือบ 2 ปีเต็มที่ทั้งชาวโลกและชาวไทยต้องเผชิญกับโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา หรือกระทบไปทุกเรื่อง หากมองด้วยสายตาของคนทำงานด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพก็พบการเปรียบเทียบกับประเทศจีน ที่มีการนำเอาตำรับยาดั้งเดิมมาพัฒนาใช้รับมือกับโรคอุบัติใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เป็นเพราะได้รับการสนับสนุนงานทางวิชาการอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง หันกลับมาดูภูมิปัญญาของไทยเราก็มิได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่น แต่ด้วยการถ่ายทอดความรู้ การส่งเสริมการศึกษาวิจัยของเราดูเหมือนไม่เข้มข้นและไม่ต่อเนื่อง
นักวิจัยคนรุ่นหนุ่มสาวอาจยังไม่ค่อยเข้าใจหัวใจของภูมิปัญญาดั้งเดิม การวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรจำนวนมากจึงเน้นไปทางการศึกษาประสิทธิภาพของสมุนไพรเชิงเดี่ยวมากกว่าการศึกษาเป็นตำรับยาเหมือนในประเทศจีนหรืออินเดีย แม้ว่าการวิจัยกับสมุนไพรตัวเดี่ยวๆ จะสำคัญ แต่ถ้าได้ทุ่มเทอย่างต่อเนื่องกับตำรับยาดั้งเดิมก็จะพบขุมทรัพย์มีค่าอีกมากมาย และเตรียมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ได้
ตัวอย่างเช่น กรณีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่โควิด-19 นี้ หากเรามีแผนงานวิจัยระดับชาติ รวบรวมนักวิจัยเมธีอาวุโสและนักวิจัยหนุ่มสาวทำการศึกษาในคัมภีร์โบราณก็น่าจะพบตำรับยาช่วยดูแลสุขภาพคนไทยและเพื่อนๆ ชาวโลกได้ ดั่งเช่นในคำภีร์ตักศิลา ซึ่งกล่าวถึงการรักษาพิษไข้ประกอบด้วยศิลปะการรักษา 3 ขั้นตอน คือ 1) กระทุ้งไข้ 2) ทำการแปรไข้ (ทำให้ไข้ลดลง) และ 3) การครอบไข้ (ทำให้ไข้ไม่กลับมา)
ในเวลานี้ ได้มีการทำความเข้าใจกับศิลปะการแก้ไข้และอธิบายให้เข้าใจพื้นฐานง่ายๆ ด้วยตำรับยาที่ไม่ซับซ้อนมากนัก (ในความจริงศาสตร์แพทย์แผนไทยมีวิชาความรู้อีกมาก) แสดงให้เห็นภูมิปัญญาที่ลึกซึ้ง คือ การกระทุ้งไข้(หรือพิษไข้) แนะนำให้ใช้ตำรับยาห้ารากหรือเบญจโลกวิเชียร ต่อมาขั้นแปรไข้ถ้าหมอไทยที่ชำนาญก็จะใช้ตำรับยาได้หลายตำรับ แต่ในเวลานี้แนะนำตำรับยาที่เริ่มรู้จักกันดี เช่น ยาแก้ไข้จันทลีลา ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่าช่วยลดไข้ได้ดี เป็นต้น และขั้นการครอบไข้นั้นก็มีความซับซ้อนการใช้ตำรับยาของหมอผู้ชำนาญการอีกหลายขนาน
ในที่นี้กล่าวถึงที่ตำรับยาที่เป็นข่าวและได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งใช้ในตำรับยารักษาไข้หรือแปรไข้นั้น คือ ตำรับยาขาว ที่บันทึกไว้ในตำรายาของวัดโพธิ์ ตำรับยานี้ประกอบด้วย “กระเช้าผีมด หัวคล้า รากทองพันชั่ง รากชา รากง้วนหมู รากสมเส็ด รากข้าวไหม้ รากจิงจ้อ รากสวาด รากสะแก รากมะนาว รากย่านาง รากฟักข้าว รากผักสาบ รากผักหวานบ้าน เอาเสมอภาค ทำเป็นจุณ บดทำแท่ง เอาไว้ละลายน้ำซาวข้าว”
จะเห็นว่าในตำรับนี้ประกอบด้วยรากสมุนไพร 15 ชนิด ในแต่ละชนิดมีคุณสมบัติหรือสรรพคุณแตกต่างกันไป แต่เมื่อนำมาประกอบเป็นตำรับแล้วจะช่วยในการแก้ไข้ เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม อุปสรรคประการหนึ่งของตำรับยาที่ใช้สมุนไพรทั้ง 15 ชนิด คือ ในปัจจุบันสมุนไพรบางชนิดไม่เป็นที่รู้จักแล้ว บางชนิดยังมีความเข้าใจกันสับสนว่าเป็นพืชสมุนไพรชนิดใดกันแน่ ปัญหาอุปสรรคเหล่านี้แก้ไขได้ หากสนับสนุนการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องก็สามารถไขคำตอบได้แน่
ดังเช่นที่เคยกล่าวไว้ แต่ขอกล่าวเสริมอีกครั้ง เริ่มจากสมุนไพรตัวแรกในตำรับนี้ คือ กระเช้าผีมด ซึ่งต้องจำแนกให้ดี เพราะในวงการยาไทยหมายถึงสมุนไพรได้ 2 ชนิด คือ กระเช้าผีมดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aristolochia acuminata Lam. จัดอยู่ในกลุ่มสมุนไพรของไคร้เครือ ซึ่งพืชไคร้เครือนี้ทางองค์การอนามัยโลกถือว่าเป็นพืชพิษ ห้ามใช้ในตำรับยาสมุนไพรทั่วโลก ภูมิปัญญาดั้งเดิมจึงต้องมีการทบทวนศึกษากันใหม่ หากดูสรรพคุณที่กล่าวไว้แต่ดั้งเดิมพบว่า กระเช้าผีมดชนิดนี้ ในส่วนของใบ ต้น ราก มีรสเผ็ดขมเล็กน้อย เป็นยาเย็นไม่มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและปอด ใช้เป็นยาช่วยขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ลำต้นใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาทำให้ธาตุปกติ ใบใช้ตำเป็นยาพอกศีรษะลดไข้ เป็นต้น
กระเช้าผีมด อีกชนิดหนึ่งเป็นชื่อเรียกเครื่องยา ซึ่งคือสมุนไพรชื่อว่า “หัวร้อยรู” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hydnophytum formicarum Jack ชื่อกระเช้าผีมดนี้ อาจมาจากมีชื่อสามัญในภาษาอักฤษว่า Ant plant เนื่องจากพบว่ามดใช้ชีวิตดำรงชีพคู่กับพืชนิดนี้เสมอ ซึ่งเคยมีการศึกษาพบว่าถ้าเพาะเลี้ยงเนื่อเยื่อของพืชชนิดเป็นการเฉพาะจะมีคุณสมบัติทางยาไม่เท่ากับหัวร้อยรูตามธรรมชาติที่มีมดร่วมอาศัยอยู่ด้วย จึงเข้าใจว่ามดและพืชอยู่แบบพึ่งพากันและกัน ช่วยให้มีสารสำคัญออกฤทธิ์ได้ดี หัวร้อยรูเป็นพืชจำพวกหัวที่ชอบขึ้นตามคาคบไม้ หัวมีรสเมา ในตำรายาไทยใช้ หัวบำรุงหัวใจ ขับชีพจร ขับพยาธิ แก้พิษในข้อในกระดูก แก้พิษประดง แก้ข้อเข่า ข้อเท้าบวม รักษามะเร็ง ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าหัวร้อยรูมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง และสารต้านจุลินทรีย์ เป็นต้น
ในเวลานี้หมอแผนไทยหลายท่านแลกเปลี่ยนความรู้กัน สรุปเบื้องต้นว่า กระเช้าผีมด ในตำรับยาขาว น่าจะเป็นสมุนไพรที่มาจากหัวร้อยรู มากกว่าที่จะเป็นต้นกระเช้าผีมดที่อยู่ในกลุ่มไคร้เครือ แต่สรรพคุณของสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด มีลักษะคล้ายกัน ถ้ามีการสนับสนุนทางวิชาการให้กระจ่างชัดในสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดว่ามาใช้แทนกันได้หรือไม่ก็จะเป็นการยกระดับตำรับยาไทย
ฉบับหน้าจะมาไขข้อสงสัย รากง้วนหมู คือสมุนไพรชนิดใดแน่ ?