ช่วงนี้ใครอยากเที่ยวก็ไม่ได้เที่ยว แต่ถ้าเริ่มให้เดินทางชิลๆ ได้อีกครั้ง แนะนำไปเที่ยวที่ ๆ คนไม่นิยม แต่ผู้นิยมสมุนไพรหายากเชิญไปชม ที่ “ละลุ” อยู่ที่บ้านเนินมะขามและบ้านคลองยาง ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
“ละลุ” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ทะลุ” ละลุเกิดจากน้ำฝนกัดเซาะพื้นดิน ทำให้เกิดการยุบตัวหรือพังทลายได้ แต่พื้นดินบางแห่งมีความแข็งมากไม่ยุบตัว เมื่อถูกลมพัดจึงมีการกัดกร่อน ทำให้ดินส่วนที่เหลือมีรูปต่าง ๆ กันไป มองภาพรวมคล้ายกำแพงเมืองหรือหน้าผา บางแห่งมีลักษณะเป็นแท่งๆ ละลุมีพื้นที่กว้างกว่า 2,000 ไร่ ลักษณะคล้ายกับ “แพะเมืองผี” ที่จังหวัดแพร่ แต่มีขนาดเล็กกกว่า และ ละลุเป็นสถานที่มีเรื่องน่าเรียนอยู่จำนวนไม่น้อย ที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งคือ มีพันธุ์ไม้หายากอยู่หลายชนิด เช่น ต้นแจง ต้นหนามพรหม ฯ โดยเฉพาะ ต้นหนามพรหม ที่มีเอกสารเผยแพร่ภูมิปัญญาของสมุนไพรชนิดนี้ค่อนข้างน้อย
ต้นหนามพรหม เป็นชื่อของสมุนไพรที่มีการจัดแบ่งทางวิชาการในไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ หนามพรหมชนิด ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pachygone dasycarpa Kurz และชื่อ Carissa spinarum L.
หนามพรหมชนิดที่พบจำนวนมากที่ ละลุ คือชนิด Pachygone dasycarpa Kurz อยู่ในวงศ์บอระเพ็ด (Menispermaceae) มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า pachygone ramiflora ไม่ทราบว่าทำไมชื่อในภาษาไทยกลางจึงเรียกพืชชนิดนี้ว่า “หนามพรหม” ทั้ง ๆ ที่ไม่มีส่วนใดของต้นมีหนามเลย พืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคอินโดจีน มีรายงานว่ากระจายอยู่ใน เมียนมาร์ ไทย เวียดนามและกัมพูชา ในไทยพบได้ทุกภาค แต่พบมากในภาคหนือ ภาคกลางและภาคอีสาน จึงมีชื่อท้องถิ่น เช่น หนามพรหม กะต่อมไก่ พระพาย (ภาคกลาง) ก้องเกาะ ก้อมเกาะ(ภาคเหนือ) กำแพงเจ็ดชั้น (ปราจีนบุรี) เครือหมักเห็บ เครือหมากเก็บ (อุดรธานี) ย่านางช้าง (นครพนม) เครือด่าง (บุรีรัมย์) เครือด่างบักเห็บ (มหาสารคาม) เป็นต้น
ในเอกสารของราชบัณฑิตเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “โพกพาย” หนามพรหม ชนิด Pachygone dasycarpa Kurz นี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบรีกว้าง โคนใบมนถึงกลม ดอกช่อเชิงลด ออกดอกที่ซอกใบ ดอกมีขนาดเล็ก สีเหลือง ผล มีขนหนานุ่มสีเหลือง เมล็ดเดี่ยวแข็ง โค้ง ยาว หนา ผลสุกกินได้มีรสหวาน เย็น สรรพคุณทางยาของหนามพรหมชนิดนี้ เช่น นำเอาลำต้นผสมกับกำแพงเจ็ดชั้น (Salacia chinensis L.) ต้มดื่ม แก้บวมช้ำ แก้กษัยเส้น หรือผสมกับลำต้นตับเต่าต้น (Diospyros ehretioides Wall. ex G.Don) ลำตันเถาพันซ้าย (Spatholobus parviflorus (DC.) Kuntze) รากหญ้าคา (Imperata cylindrica (L.) Raeusch.) แห้วหมูทั้งต้น (Cyperus rotundus L.) หญ้าแพรกทั้งต้น (Cyperus rotundus L.) รากหนามเล็บแมว (Ziziphus oenopolia (L.) Mill.) แก่นฝาง (Caesalpinia sappan L.) ลำต้นกระทงลาย (Celastrus paniculatus Willd.) ลำต้นเกล็ดปลาช่อน (Phyllodium pulchellum (L.) Desv.) และรากก้างปลาแดง (Phyllanthus reticulatus Poir.) ต้มดื่ม แก้ปวดเมื่อย
สำหรับ หนามพรหมอีกชนิด คือ Carissa spinarum L. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า conkerberry or bush plum อยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (Apocynaceae) เป็นไม้พุ่มที่มีกิ่งก้านมากจนหนาทึบ สูงประมาณ 4-5 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง มีหนามแหลมยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ตามกิ่ง ลำต้น และบริเวณโคนต้น และลำต้นมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด สีขาว มีกลิ่นหอม ผลสด รูปกระสวย เมื่อสุกสีม่วงดำ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด และจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง พบขึ้นตามบริเวณป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป และมีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนของทวีปเอเชียและออสเตรเลีย
ทางด้านพฤกษศาสตร์มีรายงานว่าในโลกนี้มีพืชสกุล Carissa L. ประมาณ 7 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยถือว่าเรามีพืชพื้นเมืองนี้ชนิดเดียว คือ หนามพรหม Carissa spinarum L. และมีอีก 2 ชนิดที่มีการนำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับ คือ มะนาวไม่รู้โห่ Carissa carandas L. ซึ่งมีกลีบดอกสั้นกว่าหลอดกลีบ เส้นแขนงใบข้างละ 4–12 เส้น มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย และ หีบไม้งาม Carissa macrocarpa (Eckl.) A. DC. ที่มีกลีบดอกยาวกว่าหลอดกลีบ มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ ชื่อสกุลมาจากภาษาสันสกฤต “kryshina” หรือภาษามาลายาลัมในอินเดีย หมายถึงสีดำของผลสุก
ในความเชื่อมีการนำเอากิ่งหนามพรหมมาใช้ในพิธีกรรม โดยนำกิ่งหนามพรหมมาเคี้ยวกับหมากและพลู อย่างละ 7 ชิ้น แล้วพ่นให้เด็กทารกเพื่อคุ้มครองป้องกันอันตรายจากสิ่งชั่วร้าย ในภูมิปัญญาดั้งเดิมกล่าวถึงสรรพคุณทางยาว่า แก่นหนามพรม มีรสฝาดเฝื่อน ขมและมันเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยบำรุงไขมัน ทำให้ร่างกายแข็งแรง ส่วนเนื้อไม้มีรสเฝื่อนมันขมฝาด ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้เช่นเดียวกับแก่น
ตำรับยาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากของต้นหนามพรม (Carissa spinarum L.) ผสมกับลำต้นไส้ไก่ (Jasminum elongatum (P.J.Bergius) Willd.) นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร ใช้ผสมกับรากไส้ไก่ และรากนมแมว (Uvaria siamensis (Scheff.) ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงในจมูก นอกจากนี้ยังพบว่าหนามพรหมชนิดนี้ยังมีสรรพคุณแก้ไวรัสตับอักเสบ และไขข้ออักเสบด้วย ในภาคอีสานยังนิยมนำมาปรุงเป็นครื่องหอมสำหรับบุรุษ เช่น นำรากมาทำเป็นน้ำมันใส่ผม ทั้งบำรุงผมและให้กลิ่นหอมแบบแมน ๆ ด้วย
แนะนำให้รู้จัก แล้วชวนกันอนุรักษ์และส่งเสริมการปลูก รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมมาใช้ประโยชน์กันต่อไป