ในช่วงที่ผ่านมาหากได้สังเกตพืชพรรณตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเหมือนดอกบัวตูม สีชมพู สวยงามมาก แต่มีลำต้นทอดเลื้อยมีลักษณะคล้ายผักบุ้ง เมื่อดอกบานออกแล้วจะเป็นดอกสีขาว ธรรมชาติให้ความงดงามแต่มนุษย์จำแนกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง คงเห็นเป็นไม้ล้มลุกเลื้อยไปทั่ว และผู้ที่ยังไม่รู้จักก็มักคิดว่าเป็นวัชพืชควรแก่การกำจัดให้สิ้นซาก
แต่เมื่อนำจิงจ้อขาวมาจำแนกทางพฤกษศาสตร์พบว่า เป็นพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Merremia umbellata (L.) Hallier f. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Hogvine ในข้อมูลจากหอพรรณไม้บอกว่าสมุนไพรชนิดนี้กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศไทย มีชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่นต่าง ๆ กัน เช่น จิงจ้อขาว (ชลบุรี) เถาดอกบานตูม (ตราด) นอไวไพ้ (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี) บุหรัน ย่านขน (นครศรีธรรมราช) เอน (สุราษฎร์ธานี) อกาคอแล (มาเลย์ นราธิวาส) ผักบุ้งโคก (ภาคอีสาน) สำหรับชื่อทางราชการไทย ลงมติเรียกกันว่า “จิงจ้อขาว” ที่จริงน่าจะเรียกว่า ดอกบานตูม จะทำให้เห็นภาพของสมุนไพรชนิดนี้ได้ดีกว่า เนื่องจากดอกจิงจ้อขาว เมื่อบานแล้วส่วนของกลีบรองดอกจะพัฒนารูปร่างไปเหมือนดอกบัวตูม จึงเห็นว่าน่าตั้งชื่อว่า “ดอกบานตูม”
จิงจ้อขาวเป็นไม้ล้มลุกพันเลื้อย ยาว 5-10 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมสามเหลี่ยม ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อออกที่ซอกใบ ดอกย่อย 1-3 ดอก ดอกบานกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายบานนอก ขอบจักเป็นแฉกเล็กน้อย ดอกมีสีขาวหรือเหลืองเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ด้านนอกมีแถบขนที่กลางกลีบ เมื่อกลีบดอกร่วงหล่นแล้วจะเหลือกลีบรองดอกที่มีการพัฒนารูปร่างไปเหมือนดอกตูม สีชมพู มีผลเจริญอยู่ภายใน ผลมีลักษณะเป็นเยื่อใส ภายในมีเมล็ดอยู่ เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้มมีขน มี 4 เมล็ดหรือน้อยกว่า มีอายุได้หลายปี ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด จิงจ้อขาวมีการกระจายพันธุ์อยู่แถบเขตร้อนและกึ่งร้อนของทวีปอัฟริกามาจนถึงเอเชีย นิวกีนีและออสเตรเลีย ยังพบประเทศเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนในทวีปอเมริกา ซึ่งเจริญได้ดีในระบบนิเวศตามขอบชายป่า พื้นที่เพาะปลูก ทุ่งหญ้า ตามขอบถนนก็เห็นกันทั่วไป เจริญเติบโต ตั้งแต่พื้นราบระดับน้ำทะเลไปจนสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,100 เมตรเลย
จิงจ้อขาว ไม่ใช่วัชพืชไร้ค่า ในสรรพคุณทางยามีการกล่าวไว้เช่นกัน ในภูมิปัญญาคนเมืองเหนือมีการนำใบจิงจ้อขาวมาทุบแล้วผสมใบหมากผู้หมากเมีย คั้นเอาน้ำ ใช้ทาแผลแก้หนองในซิฟิลิส และยังมีสรรพคุณ ช่วยลดอาการบวมด้วย ใบจิงจ้อขาวยังใช้พอกบาดแผลจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ส่วนเมล็ดใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ และช่วยขับน้ำเหลืองเสียในผู้ป่วยโรคผิวหนังด้วย
ในตำรายาไทยกล่าวว่า เถาจิงจ้อขาวมีรสร้อน ปรุงเป็นยาแก้บวม แก้พรรดึก กระตุ้นลำไส้ให้ช่วยย่อยอาหาร แก้เสมหะ โลหิตและกำเดา ใบจิงจ้อขาว ตำเป็นยาพอกแผลไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก เป็นยาพอกแผล ในประเทศอินโดนีเซียนำใบจิงจ้อขาวตำผสมขมิ้นพอกใช้แก้เท้าแตก เมล็ดจิงจ้อขาว เป็นยาระบายขับน้ำเหลืองเสียในคนที่เป็นโรคผิวหนังเช่นภูมิปัญญาของไทย และยังใช้ยางจากรากจิงจ้อขาว เป็นยารุ (ยาที่ใช้ถ่ายของเสียในร่างกาย)
การใช้ประโยชน์ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ในมาเลเซียพบว่ามีการกินยอดจิงจ้อขาวเป็นผักด้วย สำหรับในประเทศอินเดียใช้เป็นสมุนไพรยาระบายและขับปัสสาวะ และถ้าปรุงยาโดยการนำทั้งต้นมาต้มน้ำดื่มจะช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อ ปวดเส้นประสาทตามใบหน้า ปวดหัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้เป็นยาหยอดหูแก้อาการหูอักเสบหรือเป็นหนองในหู ส่วนของใบนำมาใช้ทาผิวเพื่อช่วยลดอาการเซลล์ผิวที่ร่วนหรือเป็นเกล็ดได้ ใบนำมาผึ่งให้แห้ง บดให้เป็นผงละเอียดใช้ทำเป็นยานัตถุ์ รักษาอาการลมชัก ใบนำมาตำให้แหลก ใช้พอกแผลไฟไหม้ ฝีพุพองและน้ำร้อนลวก ใบจิงจ้อยังเป็นยาเกี่ยวกับผิวหนัง นำมาใช้เป็นยาพอกโดยนำใบจิงจ้อขาวมาตำรวมกับขมิ้นชัน (Curcuma longa) ใช้ทาแก้รอยแตกที่มือและฝ่าเท้า ส่วนของเมล็ดเมื่อแช่ในน้ำจะให้เกิดเมือก ในแคว้นเบงกอลในประเทศอินเดียจึงนำเมล็ดแช่น้ำจนได้เมือกแล้วนำมาเป็นยาเสริมและปรับสภาพในการรักษาโรคผิวหนัง
เพื่อนบ้านไทยในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังนำเอาหัวที่อยู่ใต้ดินใช้เป็นยาระบายอย่างอ่อนและใช้แก้อาการบิดกันอย่างแพร่หลายด้วย ในประเทศฟิลิปปินส์นำรากมาต้มดื่มรักษาอาการโลหิตเป็นพิษ (haematuria) ส่วนชาวอินโดนีเซียมีภูมิปัญญาพื้นบ้านในการนำรากมาล้างน้ำ ทำให้แห้งแล้วนำมาตำให้แหลกหรือทำเป็นผง จากนั้นนำมาผสมกับแป้งชวา (Java flour) ใช้พอกเพื่อลดอาการบวม ส่วนยางที่ได้จากรากใช้เป็นยาถ่ายด้วย ในหมู่เกาะโมลุกกะใช้ใบเป็นเครื่องประทินผิว แก้ฝีหนองและแผลต่าง ๆ
จิงจ้อขาว อาจจัดเป็นวัชพืชแต่เมื่อเห็นประโยชน์มากมายแล้ว น่าปลูกหรือปล่อยให้จิงจ้อขาวเจริญเติบโต จิงจ้อขาวชอบที่โล่งแจ้ง แดดจัด ชอบดินระบายน้ำได้ดี ปลูกขยายพันธุ์ไม่ยากแล้วเราก็จะได้ไม้ประดับสวยงามและเป็นยาสมุนไพรที่มีประโยชน์ และที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีก พบว่าดอกจิงจ้อขาวยังเป็นที่ชื่นชอบของผึ้ง ผีเสื้อและนกอีกด้วย.