เชื่อว่าทุกคนมีความหวังในสิ่งที่ดีขึ้นหรืออย่าให้แย่ลงกว่าเดิมแน่ และเมื่อวัยเพิ่มขึ้นก็เข้าใจความจริงข้อหนึ่งว่าทรัพย์สมบัติเงินทองนั้นจำเป็นแต่ก็ยังสู้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและจิตใจผ่องแผ้วไม่ได้
เริ่มต้นปีลองตั้งปณิธานกันสักนิดดีหรือไม่ ? เรื่องไม่น่าจะยากเพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนชอบ คือ เรื่องกิน (ฮา) เพียงแต่ตั้งหลักกับความคิดและคิดค้นเมนูให้ถูกปาก ให้กินผัก ผลไม้ และให้ดียิ่งขึ้น เลือกกิน ผักพื้นบ้านให้ได้ทุกวัน และเพิ่มดีกรีให้ได้ทุกมื้อ เข้าทำนองกินพืชผักให้มากเข้าไว้สุขภาพดีแน่ ตรงตาม ระดับโลกคือองค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำไว้เลย เมื่อปี 2563 เราน้อมฟังข้อแนะนำจาก WHO สู้ภัยไวรัสโควิด-19 อย่างดี ปีใหม่นี้เรามากินผักผลไม้เพิ่มขึ้นให้ร่างกายแข็งแรงและอายุยืนยาวน่าจะดีที่สุด
ที่น่าสนใจ คือ ผักพื้นบ้าน มีคุณค่าตามโภชนาการ และยังมี สารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิว
เทรียนท์ (Phytochemical หรือ Phytonutrients) วงการนักวิทยาศาสตร์ กล่าวถึง สารพฤกษเคมีนี้ว่ามี ประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น เป็นกลไกการออกฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นหรือต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง เพิ่มภูมิต้านทานโรค เป็นต้น และยังมีคุณค่าตามหลักภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยด้วย โดยกล่าวถึงรสยาไว้ 9 รส หากเทียบเคียงเป็นรสอาหารหรือรสของพืชผักพื้นบ้านแล้ว น่าจะช่วยส่งเสริมสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น รสยา 9 รส ได้แก่
รสฝาด สรรพคุณ คุมธาตุ แก้ท้องร่วง สมานแผล ผักพื้นบ้าน เช่น ผักเม็ก ยอดฝรั่ง ยอดจิก ยอดกระโดน ยอดมะม่วงหิมพานต์ กล้วยดิบ หัวปลี เมนูรสแซ่บขอแนะนำที่มูลนิธิสุขภาพไทยรณรงค์ให้กินเป็นประจำ เช่น ยำหัวปลี ปรุงรสใส่ปลากรอบ รสอร่อย
รสหวาน สรรพคุณ ซึมซาบไปตามเนื้อ บำรุงกล้ามเนื้อ บำรุงหัวใจ ชุ่มคอ แก้กระหาย และทำให้ผิวหนังสดชื่น ผักพื้นบ้าน เช่น ผักหวานบ้าน ผักหวานป่า ยอดมะพร้าว ผักปลัง ผักเหมียง บวบ แตง ดอกแค เป็นต้น เมนูแกงดอกแค แก้ไข้รับกับอากาศเปลี่ยนน่าจะเป็นที่คุ้นเคย เตรียมทำไว้เลย
รสขม สรรพคุณ บำรุงโลหิตและดี แก้ไข้ เจริญอาหาร ช่วยย่อยอาหาร ผักพื้นบ้าน เช่น มะระขี้นก มะระจีนก็ได้ ฝักเพกา ยอดผักข้าว กุ่ม สะเดา ผักขม ใบยอ เป็นต้น เมนูผักรสขมจะเป็นน้ำปลาหวานกับยอดสะเดาที่กำลังออกรับลมหนาวปีใหม่นี้ หรือน้ำพริกกินกับมะระขี้นก แกงจืดมะระจีนก็อร่อย ห่อหมกใบยอก็เป็นอาหารสมุนไพรทั้งนั้น
รสเปรี้ยว สรรพคุณ แก้โรคเสมหะเหนียว ฟอกเลือดสตรี แก้ไอ กัดเสมหะ แก้กระหาย ผักพื้นบ้าน เช่น ส้มเสี้ยว ส้มกบ ส้มป่อย สมอ มะกอก แต้ว ผักเสี้ยน ผักหนาม มะขาม มะนาว มะกรูด มะเฟือง มะดัน มะยม ตะลิงปลิง กระเจี๊ยบ เป็นต้น เมนูผักรสเปรี้ยวนี้คนไทยใช้กันมาก ทั้งเป็นเครื่องแต่งรสยำ และจะทำส้มตำใส่มะกอก สมอ ก็ได้รสอร่อยดี เป็นสมุนไพรบำรุงเลือด เครื่องดื่มช่วงฤดูร้อนให้นึกถึง น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะนาว ช่วยแก้กระหายได้ดี
รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ บำรุงธาตุไฟ แก้โรคลม แก้จุกเสียด ท้องอืด ขับลม ขับเหงื่อ ผักพื้นบ้าน เช่น พริกไทย พริก ดีปลี กระเทียม โหระพา แมงลัก สะระแหน่ กะเพรา กระชาย ขิง ข่า ขมิ้น ไพล ชะพลู ผักคราด ผักแพว ผักแขยง เป็นต้น คนไทยคุ้นเคยและชอบเมนูรสเผ็ดร้อนจนไม่ต้องแนะนำ ถ้าลมหนาวเช่นนี้แนะนำให้กินอาหารรสเผ็ดร้อนจะช่วยขับเหงื่อ และสู้หวัดต่างๆ ได้ดีด้วย
รสมัน แก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงไขมัน บำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ ผักพื้นบ้าน เช่น ขนุนอ่อน ถั่วพู ดอกขจร ฟักทอง สะตอ เนียง เหรียง กระถิน มันปู ชะอม ผักกระเฉด ผักติ๊ว รากบัว เป็นต้น เมนูยำถั่วพู ผัดผักกระเฉด รากบัว กินได้ทั้งปี
รสเค็ม แก้โรคพรรดึก (แก้ท้องผูก อุจจาระแข็ง) ถ่ายเมือกมันในลำไส้ น้ำเหลือง ฟอกโลหิต กัดเสมหะ ผักพื้นบ้าน ใบกระชาย ผักที่นำมากินเป็นอาหารที่มีรสเค็มมีไม่มากนัก ในทางยาสมุนไพรมักแต่งรสยาด้วยเกลือ สมุนไพรที่มีรสเค็มและใช้เป็นยา เช่น ต้นเหงือกปลาหมอเป็นยาแก้น้ำเหลืองและโลหิตไม่ดี แก่นแสมทะเล เปลือกต้นลำพู โคกกระสุน
รสเมาเบื่อ สรรพคุณ แก้พิษ ดับพิษโลหิต แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน แมลงกัดต่อย ระงับประสาท ผักพื้นบ้าน เช่น กลอย ที่ต้องรู้จักทำให้สุกเพื่อกำจัดพิษเมา และส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรทางยา เช่น ชุมเห็ดเทศ สะแกนา หัวข้าวเย็น ขันทองพยาบาท(มะดูก) สลอด มะเกลือ หนอนตายอยาก ทองพันชั่ง พืชผักที่มีรสเมาเบื่อและเค็มคงไม่ได้นำมาทำเป็นอาหารกินเป็นประจำ แต่ใช้ในทางยามากกว่า
รสหอมเย็น สรรพคุณ บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง และแก้กระหาย ผักพื้นบ้าน เช่น ใบเตยหอม เกสรบัวหลวง เกสรดอกไม้ต่าง ๆ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เปลือกชะลูด หญ้าฝรั่น เมนูอาหารรสหอมเย็นนี้ จะทำสลัดจากดอกไม้กินได้ หรือทำกินทั้งปีแนะนำให้เป็นเครื่องดื่ม ชาชงดอกไม้หอมต่างๆ ช่วยให้จิตใจชุ่มชื่นฟันฝ่าอุปสรรค ช่วยให้หลับสบาย และแน่นนอนบำรุงกำลังให้แข็งแรงเสมอ
ผักพื้นบ้านที่สัมพันธ์กับภูมิปัญญาทั้ง 9 รสนั้น ไม่ได้หมายถึงให้ทุกท่านกินทีละรส เชิญชวนให้กินเมนูที่มีหลายรส แล้วก็ไม่ควรจะเน้นหรือรสจัดจ้านรสใดมากเกินไป ด้วยหลักสมดุลของธาตุ ถ้ามีสิ่งใดมากไปน้อยไป แทนที่จะก่อผลดีก็กลับทำให้กำเริบ พร่อง หย่อนไปได้ มองจากมุมวิทยาการสารพฤษเคมี คุณค่าโภชนาการ และพืชผักสมุนไพรตามรสยา 9 รส มีแต่สิ่งดี ๆ
ตลอดปี 2564 มาสร้างเสริมสุขภาพ กินผักพื้นบ้านกันจร้า…