นโยบายรัฐบาลหาวันหยุดให้เที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อน ๆ นักนิยมสมุนไพรก็ไปเที่ยวเองก่อนวันหยุดพิเศษเมื่อต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมาสด ๆ เที่ยวเหมืองแถวบ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ต้องบอกว่าเส้นทางสุดโหด แต่เมื่อเข้าไปถึงที่พักแล้วจะมีความรู้สึกอันซีนที่ชาวกรุงชอบบรรยากาศธรรมชาติ ต้อง “ฟิน” แน่ เพราะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอินเตอร์เน็ต ชีวิตอยู่ท่ามกลางขุนเขา ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ “สุดปังปุริเย่”
ความหลากหลายของต้นไม้อย่างน่าทึ่ง หน้าบ้านพักมีดงของเฟินต้น ที่สวยงามมาก เฟินต้นมักอยู่ในป่าดิบเขา ซึ่งทำให้คนทั่วไปพบเห็นได้ไม่ง่ายนัก กลุ่มเฟินต้นอยู่ในวงศ์เฟินต้น (Cyatheaceae) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศจีนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียกลาง โดยยังสามารถพบพืชชนิดนี้ในประเทศอื่นๆอีกเช่น ไต้หวัน เวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา และหมู่เกาะรีวกีว พบได้ต้องในที่สูง 600-1000 เมตร ในป่าดิบเขา ขอบอกว่า พืชตระกูลนี้เป็นพรรณพืชที่หลงเหลือมากจากยุคจูราสสิกตอนปลายเลยนะ
วงศ์เฟินต้นเป็นวงศ์ที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิก 500 ชนิด ซึ่งต่างจากเฟินที่ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เพราะมีลำต้นตั้งตรงขึ้นไปไม่น้อยกว่า 2 เมตร เฟินต้นที่อยู่ในสกุล Cyathea ที่มีรายงานอยู่ในประเทศไทย 8 ชนิด คือ Cyathea borneensis Copel.หรือ กูดต้น มหาสดำ มหาสิงคำ Cyathea chinensis Copel. หรือ กูดต้นดอยอ่างขาง Cyathea contaminans (Wall. ex Hook.) Copel. หรือ หัวอ้ายเป็ด Cyathea gigantea (Wall. ex Hook.) Holttum หรือ มหาสแดง Cyathea latebrosa (Wall. ex Hook.) Copel.sinv กูดพร้าว หรือ มหาละลาย Cyathea podophylla (Hook.) Copel. หรือ มหาสดำ และ Cyathea spinulosa Wall. ex Hook. หรือ กูดต้นดอยสุเทพ ขอบรรยายให้ซาบซึ้งเรียนรู้เพิ่มเติมพืชโบราณกลุ่มนี้ ดังนี้
กูดต้น (Cyathea borneensis Copel.) มีเหง้าเป็นแท่งสูงได้มากกว่า 2 เมตร มีรากสีดำปกคลุมทั่ว ข้างลำต้นมักเห็นรอยที่เกิดจากก้านใบแก่ที่หลุดร่วงไป ใบเป็นใบประกอบขนนก 2 ชั้น พบอยู่ในป่าบริเวณที่มีร่มเงา ใกล้ริมลำธาร ในป่าดิบชื้นตลอดปี ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 400-1800 เมตร หรือในป่าบนภูเขาสูง 1000 – 1600 เมตร กระจายพันธุ์ อยู่ในไทย พม่า มาเลเซียและบอร์เนียว ในบ้านเรามีรายงานพบที่ บ่อไร่ จ.บุรีรัมย์ เขาใหญ่ จ.นครนายก เขาทอง ท่าสาร จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี เขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช จ.สตูล
กูดต้นดอยอ่างขาง (Cyathea chinensis Copel.) ลำต้นสูงถึง 5 เมตรหรือมากกว่า ก้านใบยาวถึง 50 ซ.ม. ใกล้โคนสีม่วงเข้ม ด้านบนสีน้ำตาล มีปุ่มหนามค่อนข้างแน่น ผิวตะปุมตะป่ำ เกล็ดเป็นเส้นแข็ง สีน้ำตาลเข้มเป็นเงามัน มีขอบแคบๆ สีอ่อนกว่าเป็นสีน้ำตาลส้ม แกนใบหลักเรียบ ผิวเกลี้ยง สีน้ำตาลอ่อน ใบเป็นใบประกอบขนนก 2 ชั้น ด้านบนสีเขียว ด้านล่างเขียวซีด ในธรรมชาติพบตามลาดเชิงเขาในป่าระดับต่ำ ถึงระดับสูงจากน้ำทะเล 1200 เมตร กระจายพันธุ์อยู่ในเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันออก จรดตอนใต้ของมณฑลยูนาน และคาบสมุทรอินโดจีน ในประเทศไทยพบที่ ดอยผาชู จังหวัดเชียงราย
หัวอ้ายเป็ดหรือเฟินหัวอ้ายเป็ด (Cyathea contaminans (Wall. ex Hook.) Copel.) ลำต้นเหง้าสูงได้มากกว่า 10 เมตร ในป่าธรรมชาติพบอยู่ตามลาดเขา ริมลำธารหรือแอ่งน้ำ ในป่าดิบทึบชื้นตลอด หรือในพื้นที่เปิดโล่งที่ระดับความสูงไม่มากนัก กระจายพันธุ์อยู่ใน อินเดียตอนเหนือ ไทย มาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้ที่ เชียงใหม่ เกาะกะตะ เกาะกวม จังหวัดพังงา เขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช เขาช่อง จังหวัดตรัง จังหวัดสตูลและจังหวัดนราธิวาส
มหาสแดง (Cyathea gigantea (Wall. ex Hook.) Holttum) มีชื่ออื่น ๆคือ มหาสะดำ กูดโง่ง กูดโย่ง กูดหางนกยูง เนระพูสี กูดดำ ดีงูหว้า ลำต้นเป็นแท่งสูงได้มากกว่า 2 เมตร พบอยู่ตามลาดเขา ในป่าดิบทึบ ชุ่มชื้นที่ระดับไม่สูงมากถึงบนภูเขาที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 1300 เมตร กระจายพันธุ์อยู่ใน ตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย อินเดียใต้ ลังกา ตอนใต้ของจีน พม่า ลาว ไทย มาเลเซีย สุมาตรา ชวาตะวันตก ในไทยพบได้ทั่วไปทุกภาค เช่น ดอยตุง จ.เชียงราย ดอยสุเทพ ดอยอินทนนท์ ฝาง จ.เชียงใหม่ ดอยมูเซอ จ.ตาก ภูหลวง จ.เลย เขาสอยดาว เขาสระบาป จ.จันทบุรี เกาะช้าง เกาะกูด จ.ตราด วังกา จ.กาญจนบุรี เมืองแหลม เขานมสาว จ.ระนอง เป็นต้น
กูดพร้าว หรือ มหาละลาย (Cyathea latebrosa (Wall. ex Hook.) Copel.) ลำต้น มีความสูงได้มากกว่า 5 เมตร พบในป่าดิบชื้น บนภูเขาที่ระดับต่ำกว่า 1,000 ม. จากน้ำทะเล กระจายพันธุ์อยู่ในอินเดียตอนเหนือและตอนใต้ ไทย เขมร เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ สุมาตรา บอร์เนียว ในประเทศไทยพบที่ เชียงใหม่ นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส ยะลา
มหาสดำ (Cyathea podophylla (Hook.) Copel.) ลำต้นสูง 1 เมตร พบในที่สูง 600-1000 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ฐานใบย่อยแหลม ก้านใบสั้น มีเกล็ดสั้น พูใบย่อยแยกไม่ลึก เส้นใบมีขนทั้งสองด้าน ก้านใบร่วมสีม่วงเข้ม ซอรัสไม่มีเกล็ด ในประเทศไทย พบได้ในภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง และใต้ และในจีนตอนใต้
กูดต้นดอยสุเทพ (Cyathea spinulosa Wall. ex Hook.) เป็นเฟินที่มีการสร้างลำต้นสูงมาก ในสวนพฤกษศาสตร์สูงถึง 12 เมตร รูปร่างคล้ายกับ กูดต้น (มหาสะดำ) แต่ลักษณะใบไม่เหมือนกัน ที่โคนก้านใบจะมีลักษณะเด่น คือ เป็นหนามสั้น ๆ กระจาย กลุ่มของอับสปอร์รูปกลม ออกใกล้เส้นกลางใบ
กล่าวมาก็เพื่อเชื่อมโยงตำรายาสมุนไพรไทยที่ยังไม่มีการฟันธงลงไปว่า เฟินต้นหรือมหาสดำ ที่นำมาเข้ายานั้นเป็นชนิดไหนกันแน่ แต่ก็ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารบางเล่มว่าคือ มหาสดำชนิด Cyathea podophylla ใช้เป็นยาลดไข้ ยาแก้อาการบวม เป็นยาดับพิษร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้กาฬที่ทำให้มีอาการร้อนระส่ำระสาย แก้กาฬพิษในกระดูก แก้ลมวิงเวียน แก้พิษทั้งปวง ช่วยบรรเทาอาการอักเสบต่างๆ ยาทาแก้อาการฝีหนอง และเป็นหนึ่งในสมุนไพรเครื่องยา “พิกัดเบญจโลธิกะ”ที่ประกอบด้วยสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว แก่นจันทน์ชะมด ต้นเนระภูสีไทย ต้นมหาสดำ
ย่อมแสดงว่าในอดีต มหาสดำน่าจะเป็นสมุนไพรที่พอหาได้ แต่ปัจจุบันเรารุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยของสมุนไพรชนิดนี้จึงทำให้ประชากรของมหาสดำลดลงมาก ยังไม่สายช่วยกันเร่งฟื้นฟูได้