พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า เครื่องเทศ มีความหมายถึงของหอมฉุนและเผ็ดร้อนที่ได้มาจากต้นไม้ สำหรับใช้ทำยาไทย และปรุงอาหาร โดยมากมาจากต่างประเทศ เช่นลูกผักชี ยี่หร่า
เมื่อวิเคราะห์เบื้องต้นในตำรับยาดั้งเดิมที่มีการผสมเครื่องเทศทั้งในตำรับยาไทย และในตำรับยาของชาวล้านนาภาคเหนือ พบว่าโดยทั่วไปเครื่องเทศมักผสมอยู่ในตำรับยาที่มีสรรพคุณบำรุงธาตุ ยาขับลมในลำไส้ และยาอายุวัฒนะ คำว่า เครื่องเทศ กับคำว่า สมุนไพร บางครั้งก็เรียกรวม ๆกันไป แต่ก็ขอแยกแยะแนะนำหากท่านใดยังนึกเครื่องเทศยาไทยไม่ออก ขอยกตัวอย่างเครื่องเทศ 10 ชนิด ที่มีการนำไปใช้ประโยชน์กันทั่วไป เช่น
1. เมล็ดพริกไทย รสเผ็ดร้อน สรรพคุณแก้ลม แก้เสมหะ บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร และขับผายลม 2.เหง้าขิงแห้ง รสหวานเผ็ดร้อน สรรพคุณเจริญอากาศธาตุ แก้ลมพานไส้ แก้พรรดึก แก้แน่นหน้าอก แก้เสียดแทง แก้นอนไม่หลับ 3. กานพลู รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ กระจายเสมหะ และโลหิต แก้เสมหะเหนียว และ แก้ปวดฟันแก้รำมะนาด และ แก้ปวดท้อง แก้พิษเลือด 4. ใบกระเพราขาว รสร้อน สรรพคุณ แก้ธาตุพิการ ขับผายลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ลมจุกเสียด ขับลมในลำไส้ 5. ลูกกระวาน รสร้อนหอม สรรพคุณ บำรุงธาตุ ขับผายลม ช่วยขับเสมหะ โลหิต และลม
6.หัวกระเทียม รสร้อนฉุน สรรพคุณ ระบาย แก้ริดสีดวงงอก บำรุงธาตุ บำรุงปอด แก้โรคผิวหนัง แก้กระหายน้ำ แก้ปวดมดลูก ขับลม บำรุงโลหิต 7. ลูกจันทน์เทศ รสร้อนหอมและจะออกรสฝาด สรรพคุณแก้ธาตุพิการ แก้จุกเสียด แก้กำเดา แก้ท้องร่วง แก้กระหาย แก้ปวดมดลูก ขับลม บำรุงโลหิต
8.เปลือกอบเชย รสเผ็ดหวานร้อน สรรพคุณ บำรุงธาตุ ขับผายลม บำรุงโลหิต แก้อ่อนเพลีย 9. ดอกดีปลี รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้ธาตุดินทั้ง 20 ประการ ขับลมในลำไส้ และเจริญอาหาร 10. เถาสะค้าน เป็นยารสร้อน สรรพคุณ ขับลมบำรุงธาตุ ขับลมให้ผายและเรอ แก้จุกเสียด แก้ธาตุพิการ แก้แน่น เป็นตัวยาประจำธาตุลม
ตัวอย่างทั้ง 10 ชนิดเป็นเครื่องเทศที่มีรสยาไปทางยารสร้อนทั้งหมด ช่วยเพิ่มไฟธาตุ มีสรรพคุณหลักคือ ขับลม ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ โดยตัวยาประจำธาตุลม ได้แก่เถาสะค้าน ประจำอากาศธาตุคือ ขิงแห้ง ดอกดีปลี เป็นยาประจำธาตุดิน มีสรรพคุณทางด้านขับลมในลำไส้
ความเจ็บป่วย ซึ่งเรียกว่า วัสสานะสมุฏฐาน มักจะมีผลกระทบมาจาก ธาตุลม หรือพิกัดวาโย เป็นสาเหตุแห่งการเจ็บป่วย เรียกว่าไข้เพื่อลม (ไข้คือความเจ็บป่วย) หรือเพราะลม เป็นหลัก และยังเรียกได้ว่าเป็นยาตัวกลางคอยควบคุมธาตุลม ได้แก่ หทัยวาตะ (การเต้นของหัวใจ) สัตถกะวาตะ (ลมที่คมเหมือนอาวุธ) สุมนาวาตะ (ลมกลางลำตัว) นอกจากนี้ ลมที่แปรปรวนไป จะกระทบธาตุลมของร่างกาย ที่เรียกว่า “ฉกาลวาโย” คือ ธาตุลมทั้ง 6 ประการ และมี “กาลวาโย” หมายถึงลมที่เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาแต่ละวัน หรือกองลมใดที่จรมากระทบนั่นเอง
ในหลักทฤษฎีเกี่ยวกับธาตุลมที่มีผลต่อสุขภาพนั้น ภูมิปัญญาดั้งเดิมยังอธิบายไว้อีกมาก แต่ยกตัวอย่างถึงสมุฏฐานของโรคที่ต่างกันอีก ได้แก่ หทัยวาตสมุฏฐาน ลมก็มักจะทำให้มีจิตใจแปรปรวน ระส่ำระสาย เป็นต้น สัตถกะวาตสมุฏฐาน อาจอธิบายได้ทำนองว่ามีโอกาสเกิดความผิดปกติของลมที่มีความเร็ว ความรุนแรง เสียดแทง คม ประหนึ่งอาวุธกระทำต่อร่างกายของเรา มีการเปรียบให้เข้าใจง่าย ๆว่า ลมชนิดนี้มักส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวกับอาการทางหลอดเลือดฝอย และอาการของระบบประสาทส่วนปลาย สุมนาวาตสมุฏฐาน ลมนี้เปรียบได้ว่าจะกระทบกับระบบเลือดแดงใหญ่กลางลำตัว ความเจ็บป่วยในเวลานี้ จะมีผลต่อเส้นเลือดแดงใหญ่ ซึ่งจะเชื่อมโยงให้เกิดอาการไม่สบายไปที่การเต้นของหัวใจ อารมณ์ และจิตใจด้วย อาจเทียบเคียงได้ว่า ถ้ามีอาการลมชนิดนี้แล้วมักจะต้องระวังเกี่ยวกับโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไตวาย โรคของมดลูก และเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะด้วย
ขณะนี้แม้ว่าจะเป็นปลายฤดูฝน แต่ก็เชื่อว่าหลายท่านยังพบกับอาการแปรปรวนจนต้องมีการปรับธาตุกันบ้างเพื่อให้สุขภาพเป็นปกติ ตัวอย่างยาสมุนไพรที่แนะนำ ได้แก่ ตำรับยาตรีกฏุก หรือใช้วิธีการปรับธาตุด้วยมหาพิกัดเบญจกูล สำหรับภูมิปัญญาล้านนา มักใช้วิธีกินยาที่เรียกว่าตำรับยาผงแดง หรือยาลมกองละเอียดสูตรต่างๆ ช่วยบรรเทาอาการ และยาแก้ลม ที่สำคัญๆ ได้แก่ ยาจิตรารมณ์ ยากล่อมอารมณ์ ยาวาตาพินาศ ยาเขียวประทานพิษ ยาชุมนุมวาโย ยามหาสมมิทธิ์ใหญ่ ยาหอมสรรพคุณ ยาสมมิทธิ์น้อย ยานัตถุ์ธนูกากะ ยาประสะการบูรดีปลี
ตำรับยาที่ทุกท่านน่าจะหาไว้ประจำบ้านตำรับหนึ่งที่หาได้ง่าย ๆ คือ ตำรับยาธาตุบรรจบ ที่มีเครื่องเทศผสมอยู่หลายชนิด ตำรับยานี้ช่วยแก้ธาตุไม่ปกติ ท้องเสีย หรือแก้ธาตุลมในท้องในไส้ กระทำโทษ ตัวยาที่เป็นเครื่องเทศกับตัวยาอื่นๆ ได้แก่ ขิง โกฏเขมา โกฏพุงปลา โกฏเชียง โกฏสอ เทียนดำ เทียนขาว เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี เทียนแดง ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กานพลู การบูร เปลือกสมุลแว้ง ลูกกระวาน ลูกผักชีลา ใบพิมเสน ดีปลี เปราะหอม หนักสิ่งละ 4 ส่วน โกฏก้านพร้าว หนัก 8 ส่วน เนื้อลูกสมอไทยหนัก 16 ส่วน น้ำประสานทองสะตุหนัก 1 ส่วน ทั้งนี้ ส่วน อาจใช้แทนด้วยน้ำหนักส่วนละ 15 กรัม ทำเป็นผง และปั้นเป็นลูกกลอน กินแล้วเพิ่มไฟธาตุ ทำให้ขบวนการย่อยอาหารดีขึ้น ช่วยขับลม และทำให้จิตใจดีด้วย
แต่ถ้าหาตำรับยาไม่ได้ขอแนะนำให้กินอาหารที่มี พริกไทยและขิงก็ได้ ลองใช้หลักอาหารเพื่อปรับสมดุลร่างกาย กรณีจะแก้ปัญหาธาตุลม ลองกินอาหารรสอุ่นรสเผ็ดร้อน ได้แก่ แกงเลียง แกงป่า แกงแค หรือแกงที่มีรสเผ็ดร้อน หรือกินอาหารที่มีขมิ้น ขิงหรือพริกไทย หรือเครื่องเทศอื่น ๆ เช่น ดอกจันทน์ กานพลู
ยาไทย อาหารไทย เป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่สืบทอดมานาน ที่ควรส่งเสริมให้แพร่หลายยิ่งขึ้น หากท่านใดมีอาการทางลมในระดับซับซ้อนก็ให้พบหมอยาไทยได้ หากอาการไม่รุนแรง ตำรับยาและอาหารที่มีเครื่องเทศ คือสิ่งที่ควรมีประจำบ้านเพื่อส่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนได้.