สถานที่นิยมในการไปจาริกแสวงบุญ ณ ประเทศอินเดีย คือ บ้านนางสุชาดา เพราะอยู่ใกล้พุทธคยา เรื่องเล่าตามพุทธประวัติกล่าวว่า นางสุชาดาอธิษฐานขอให้ได้คู่ครองที่เหมาะสม ให้ได้ลูกคนโตเป็นผู้ชาย เมื่อนางได้สมใจตามคำอธิษฐาน จึงตั้งใจที่จะกวนข้าวมธุปายาสถวายแด่เทพเจ้าที่บันดาลให้นางได้สมความปรารถนาทุกประการ ในวันที่นางกวนข้าวเสร็จหญิงรับใช้ในบ้านมาแจ้งว่ามีเทวดาองค์หนึ่งมานั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นนิโครธ (Ficus benghalensis L.) ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านนางสุชาดาไปประมาณครึ่งกิโลเมตร ซึ่งเทวดาที่เข้าใจนั้นก็คือพระพุทธเจ้านั่นเอง นางสุชาดาจึงได้ปั้นข้าวมธุปายาสขนาดเท่าผลตาลจำนวน 49 คำ ใส่ถาดทองคำ เพื่อนำไปถวายให้กับพระพุทธเจ้า (ในเอกสารบางฉบับกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ปั้นข้าวเอง) จากบันทึกนี้ทำให้หลายท่านเกิดความสงสัยว่า ข้าวมธุปายาสขนาดเท่าผลตาลจำนวน 1 ถาดนั้น พระพุทธเจ้าทรงฉันได้หมดในคราวเดียวได้อย่างไร?
ถ้าท่านที่เคยไปอินเดียที่สถานที่จริงก็จะเข้าใจว่า ผลตาลที่มีบันทึกในพุทธประวัตินั้นไม่ใช่ผลตาลที่เรารู้จักที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในเมืองไทย ผลตาลนี้น่าจะหมายถึงผลของ “ตาลแขก” ซึ่งเป็นอินทผลัมชนิดหนึ่ง แต่เป็นไม้ที่มีขนาดเล็กกว่าอินทผลัมทั่วไป ตาลแขกเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังพบเห็นได้เป็นจำนวนมากในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของบ้านนางสุชาดา ที่เข้าใจว่าเป็นผลตาลน่าจะเพราะคนถอดความมาจากบาลี คิดไปว่าเป็นต้นตาลในเมืองไทยเพราะพืชชนิดนี้ก็จัดอยู่ในกลุ่มของปาล์มเช่นกัน เอกสารหลายชิ้นบางครั้งก็ข้ามหรือไม่ค่อยกล่าวถึงเรื่องการปั้นข้าวมธุปายาส 49 ก้อนมากนัก เพราะคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะปั้นข้าวเท่าผลตาลแล้วใส่มาในถาดใบเดียว ตาลแขกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phoenix sylvestris (L.) Roxb. แต่ในเอกสารบางแห่งในปัจจุบัน เรียกตาลแขกว่า “อินทผลัมไทย”
ความจริงแล้วตาลแขกไม่มีรายงานว่ามีอยู่ในประเทศไทย แต่จากการพูดคุยกับนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า เคยเห็นต้นตาลแขกบ้างที่ปลูกอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ตาลแขกมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและทางตอนใต้ของปากีสถาน เป็นพืชที่พบตามธรรมชาติในที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุในปากีสถาน มีรายงานว่านำไปปลูกทั่วไปในอินเดีย พม่า ไทย ศรีลังกา ภูฏาน บังคลาเทศ มอริตุส จีน แต่น่าแปลกใจที่หอพรรณไม้ของกรมป่าไม้ ไม่มีรายงานว่าพบพืชชนิดนี้ในประเทศไทย ตาลแขกชอบขึ้นตามป่าเปิดและทุ่งหญ้า ส่วนใหญ่พบได้ตามที่ราบ ตามเชิงเขาหิมาลัยและตามแนวชายฝั่ง เป็นพืชในกลุ่มปาล์ม สูงได้ถึง 10-16 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 40 เซนติเมตร ซึ่งไม่ใหญ่เหมือนอินทผลัมทั่วไป มีทรงพุ่มขนาดใหญ่และลำต้นขรุขระปกคลุมด้วยรอยของฐานใบที่ร่วงหล่นไปแล้ว ใบยาว 3-4.5 เมตร สีเขียวอมเทามีหนามสั้น ๆ สองสามอันที่ฐาน มีใบย่อยเล็ก ๆ (pinnules) จำนวนมากเรียงเป็นเส้นยาว ส่วนท้ายมีลักษณะเป็นติ่งสั้น ๆ ดอกมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม ดอกตัวผู้สีขาว ส่วนดอกตัวเมียสีเขียว ช่อผลสุกยาวประมาณ 90 เซนติเมตร
ผล สีเหลืองอมส้มเมื่อสุก ผลเป็นแบบเบอร์รี่รูปรียาว 2.5-3.2 เซนติเมตร จึงยืนยันได้ว่าหากปั้นข้าวมธุปายาสขนาดเท่าผลตาลแขกจำนวน 49 คำ ก็ได้ขนาดเท่าข้าวคำเล็ก ๆ ที่กินได้ เมล็ดยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดนำมาเพาะทันทีที่ผลสุกแล้ว ต้องใช้เวลา 2-3 เดือนจึงจะงอกออกมาเป็นต้น ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากอินทผลัมทั่วไปคือ ตาลแขกมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน แต่อินทผลัมทั่วไป ดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่คนละต้น และอินทผลัมทั่วไปไม่มีการนำเอาน้ำจากลำต้นมาทำน้ำตาลหรือเหล้าเหมือนกับต้นตาลแขก
การใช้ประโยชน์ ด้านอาหาร ผลมีรสหวานเหมือนอินทผลัมทั่วไป ส่วนยอดของต้นใช้ผลิตน้ำตาลสด เพื่อทำเครื่องดื่ม หมักเหล้า หรือเคี่ยวเป็นน้ำตาล สามารถเก็บน้ำหวานจากช่อดอกที่ยังไม่บานได้ โดยการตัดที่ปลายช่อดอก เอาภาชนะมารอง สามารถเก็บน้ำหวานได้ถึงวันละ 5 ลิตร เป็นเวลาหลายเดือน น้ำหวานนี้มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบร้อยละ 14 ผลและเมล็ดรับประทานได้ ส่วนกลางของลำต้นให้แป้งเหมือนต้นสาคู นอกจากส่วนของช่อดอกแล้วส่วนของลำต้นก็มีแป้งและน้ำตาลที่สามารถนำไปหมักเป็นแอลกอฮอล์ได้
ประโยชน์ ด้านยาสมุนไพร ผลช่วยบำรุงหัวใจ แก้อาการท้องอืดเฟ้อ แก้อาเจียนและรักษาอาการหมดสติ ผลนำมาบดแล้วผสมกับเมล็ดอัลมอนด์ เมล็ดมะตูม ถั่วพิสตาชิโอและน้ำตาล ใช้เป็นยาที่ช่วยฟื้นฟูกำลัง น้ำคั้นที่ได้จากลำต้นถือเป็นเครื่องดื่มคลายร้อน รากใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ฟื้นฟูระบบประสาทที่อ่อนแอ ขับพยาธิ เยื่อใยที่ได้จากส่วนกลางของลำต้นใช้รักษาโรคหนองใน ลดไข้ บำรุงหัวใจ ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะและต้านอนุมูลอิสระ ในประเทศอินโดนีเซียและอินเดียมีความเชื่อว่าน้ำตาลที่ได้จากต้นตาลแขกมีคุณภาพดีกว่าน้ำตาลที่ได้มาจากอ้อย น้ำที่ได้จากลำต้นมีวิตามินซีสูงมาก ใบใช้รักษาอาการอักเสบในตา
ตาลแขกเป็นต้นไม้ที่มีการใช้ในชีวิตประจำวันของคนพื้นเมืองในอินเดียและประเทศโดยรอบ โดยเฉพาะคนพื้นเมืองในบังคลาเทศ คล้ายกับการใช้ไผ่ในวัฒนธรรมของคนจีน เช่น ลำต้นใช้เป็นคานรองรับหลังคาในการก่อสร้างบ้านและใช้สำหรับเปลี่ยนเส้นทางของน้ำเข้าสู่กังหันของโรงน้ำ ใบมักใช้ทำเสื่อ ทำไม้กวาด กระเป๋า และพัดเป็นต้น ในขณะที่หนามยาวและเงี่ยงของตาลแขกใช้ทำเป็นแปรงสีฟันและเข็มแบบดั้งเดิม น้ำจากลำต้นเรียกว่า “นีรา” (Neera) นำมาทำเป็นน้ำตาล (jaggery) และเหล้า (toddy) โบราณของอินเดีย ซึ่งจัดได้ว่าเป็นรายได้หลักของครอบครัว ผลสุกนำไปเลี้ยงสัตว์ทำให้ได้น้ำนมที่มีไขมันเพิ่มมากขึ้น ลำต้นใช้ก่อสร้างและใช้ทำเชื้อเพลิง หรือใช้เป็นไม้ประดับ ตาลแขกเป็นพืชเศรษฐกิจให้กับชาวบ้านของทั้งอินเดียและบังคลาเทศเลย
น่าสนใจหากเรียนรู้จากเพื่อนบ้านแล้วนำตาลแขกมาปลูก เป็นพืชอาหารและสมุนไพรที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่สามารถถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับเยาวชนรุ่นต่อไป และยังช่วยส่งเสริมรายได้ชุมชนได้ด้วย.