ต้นสะตือเป็นไม้เก่าโบราณ พบได้มากตามวัดที่มีการสร้างมาอย่างยาวนาน เช่น วัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ และแน่นอนว่าที่เรียกว่า วัดสะตือ เพราะมีต้นสะตือใหญ่เติบโตอยู่ในวัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้นสะตือมีมาก่อนสร้างวัด ในวัดนี้มีหลวงพ่อโต ปางพระพุทธไสยาสน์ จัดเป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดของไทยด้วย และเป็นหนึ่งของการไหว้พระเก้าวัดในจังหวัดอยุธยาอีกเช่นกัน ใครเคยไปท่องเที่ยวไหว้พระ ไม่แน่ใจเคยสังเกตเห็นต้นสะตือหรือไม่ ?
ต้นสะตือยังพบที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล หรือชื่อเดิมคือวัดลุ่มมหาชัยชุมภูพล ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล อำเภอเมือง จังหวัดระยอง วัดนี้ไม่มีประวัติความเป็นมาว่าผู้ใดสร้างและสร้างเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างมา 300 กว่าปีแล้ว เพราะมีจารึกในประวัติหน้าหนึ่งว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พาทหารและพลเรือนอพยพมาผูกช้าง ม้า พักแรมที่โคนต้นสะตือใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณวัดลุ่มกับวัดเนินติดต่อกัน ก่อนจะบุกไปเมืองจันทบุรีเพื่อรวบรวมไพร่พลและจัดตั้งทัพ เพื่อยกทัพกลับมากอบกู้เอกราช ต้นสะตือที่วัดแห่งนี้น่าจะมีอายุมากกว่า 300 ปี และยังคงปรากฏอยู่ มีขนาดใหญ่โต แผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มรื่นเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ที่วัดสิงห์ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ก็มีต้นสะตือใหญ่อายุไม่น้อยกว่า 320 ปี แวะไปชมกันได้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก
มารู้จักต้นสะตือกันสักนิด ในภาษาอีสานเรียกว่า “กกแห่” ซึ่งมีการนำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่หลายแห่งในภาคอีสาน เช่น วัดท่ากกแห่ ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีข่าวใหญ่เรื่องตลิ่งพัง เมื่อครั้งน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ต้นสะตือยังมีชื่อท้องถิ่น เช่น ดู่ขาว เดือยไก่ (สุโขทัย) ประดู่ขาว (สุรินทร์) สะตือ (ภาคกลาง) แห้ (สกลนคร) กกแห่ (ภาคอีสาน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crudia chrysantha (Pierre) K.Schum. สะตือเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นมักแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกว้าง ถึงค่อนข้างกลม เปลือกสีน้ำตาลเทาเรียบหรือแตกเป็นแผ่นหนา เปลือกชั้นในสีน้ำตาลถึงแดงเข้ม กิ่งอ่อน ยอดอ่อน และใบอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีเทา และเกลี้ยงในเวลาต่อมา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนสลับ มีใบประกอบย่อย 4–6 ใบ เรียงสลับ ปลายเป็นติ่ง โคนสอบ ดอกมีขนาดเล็ก สีขาว ออกเป็นช่อเดี่ยวตามง่ามใบและปลายกิ่ง ผลค่อนข้างแบน รูปรี มีเส้นนูนตามขวางด้านข้างฝักห่างๆ และมีขนสีน้ำตาลคลุมหนาแน่น ปกติมี 1 เมล็ด ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ในช่วงเวลานี้พอดี และจะออกผลช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม
ต้นสะตือเป็นไม้ที่พบได้ในภูมิภาคอินโดจีน สำหรับในประเทศไทยพบกระจายห่างๆ ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ปราจีนบุรี ไม่ค่อยพบเห็นในภาคเหนือ เพราะขึ้นตามที่ราบ ท้องนา และริมลำธารในป่าดิบแล้ง ความสูงระดับต่ำ ๆ สะตือเป็นไม้ที่ช่วยรักษาการพังของตลิ่งได้เป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันคนไม่เข้าใจไม่มีความรู้จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากต้นสะตือ ไม่เห็นความสำคัญนี้ จึงตัดทำลายทิ้งกันไปจนเกือบหมด ปัจจุบันสะตือได้รับการขึ้นทะเบียนที่ไม่น่าภูมิใจนัก คือ เป็นพืชหายากของประเทศไทยไปแล้ว
ประโยชน์ในทางสมุนไพร สะตือจัดเป็นสมุนไพรที่มีการใช้มาแต่ดั้งเดิม เช่น ใบใช้ต้มอาบแก้อีสุกอีใส โรคหัด เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง ใช้ได้ทั้งต้น(หรือเรียกใช้ทั้งห้า)หรือนำเอาทุกส่วนของต้นสะตือ ปรุงต้มเป็นยาแล้วเอาน้ำกินและอาบ กินครั้งละ 1 ถ้วยชา แก้ไข้หัว หัดหลบลงลำไส้ เหือด ดำแดง สุกใส ฝีดาษ แก้ไข้หัวทุกชนิด ลำต้นในอดีตนำมาใช้ทำครก สาก กระเดื่อง และเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่น่าสนใจและภูมิปัญญาในโลกปัจจุบันคงจะไม่รู้กันแล้ว แต่ถ้าฟังผู้เฒ่าในภาคอีสานเล่าความรู้จะพบว่า ดอกสะตือมีกลิ่นหอม เมื่อได้กลิ่นดอกสะตือแล้วทำให้มีความสุขและอยากรับกินอาหารมากขึ้น
ต้นสะตือมีความสำคัญมาก และเชื่อว่าหลายท่านไม่เคยรู้ กล่าวคือที่จังหวัดอุตรดิตถ์ได้จัดสร้างดาบเหล็กน้ำพี้ขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในคราวมีพระชนมายุครบ 6 รอบ ในปีพ.ศ.2542 “ดาบเหล็กน้ำพี้” นี้มีความยาว 9.24 เมตร มีน้ำหนัก 450 กิโลกรัม ใช้เวลาหล่อดาบถึง 3 เดือน และตรงด้ามและฝักทำมาจากไม้สะตือนี่เอง
สะตือปลูกให้ร่มเงาในที่สาธารณะหรือริมน้ำ สะตือจัดว่าเป็นไม้ที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งที่ควรส่งเสริมให้มีการปลูก โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นที่ใกล้แม่น้ำลำคลอง เพราะนอกจากจะช่วยในการรักษาระบบนิเวศของพื้นที่ แม้ว่าปีนี้จะแล้งมาก แต่ช่วยกันปลูกเพิ่มตั้งแต่วันนี้ในปีไหนที่น้ำมากหน้าน้ำหลาก สะตือจะช่วยป้องกันรักษาตลิ่งและพื้นดินไว้ และมาช่วยกันรักษาพันธุ์ของไม้โบราณชนิดนี้ด้วย