สวัสดีปีหนูกับผู้อ่านทุกท่าน ขอให้ประสบความสุขสำเร็จกันตลอดปี…
เริ่มปีใหม่มาได้2เดือนชวนรู้จักต้นเติม ต้นไม้อันแสนจะทนทานมีพลังชีวิตมากมายและส่งให้ทุกท่าน ดั่งเรื่องจริงต่อไปนี้
ถ้าจำกันได้ เหตุการณ์ระดับโลก ณ วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เรื่องราวจริงอันเป็นตำนานของ “13 หมูป่า” สถานการณ์ตอนนั้นที่จำเป็นต้องสูบน้ำออกจากถ้ำเพื่อให้การทำงานช่วย 13 ชีวิตได้จนประสบผลสำเร็จ น้ำที่สูบออกมาได้ท่วมต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งยืนจมน้ำจนตาย เจ้าหน้าที่จึงทำการขุดย้ายขึ้นมา เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่โหมดปกติ ได้จัดทำอนุสรณ์ไว้และนำต้นไม้ยืนตายต้นนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของความจดจำจึงมาปักลงตรงเนินอนุสรณ์ด้วย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ต่อมาปรากฎว่าไม้ต้นนี้กลับมีชีวิต งอกใบใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ต้นไม้อันทรงพลังนี้ คือ “ต้นเติม” หรือ ประดู่ส้ม ชื่อสามัญ Java cedar มีชื่อวิทยาศาสตร์ Bischofia javanica Blume อยู่ในวงศ์มะขามป้อม (Phyllanthaceae) ต้นเติมมีการกระจายทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ จึงมีชื่อท้องถิ่นที่หลากหลาย เช่น ดู่ส้ม (กาญจนบุรี นครราชสีมา) ดู่น้ำ ประดู่ส้ม (ชุมพร) ประส้มใบเปรี้ยว ประดู่ใบเปรี้ยว (อุบลราชธานี) ยายตุหงัน (เลย) กระดังงาดง (สุโขทัย) จันบือ (พังงา) ส้มกบ ส้มกบใหญ่ (ตรัง) กุติ กุตีกรองหยัน กรองประหยัน ขมฝาด จันตะเบือ ย่าตุหงัน (ยะลา) ยายหงัน (ปัตตานี) ไม้เติม (คนเมือง) ซะเต่ย (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ซาเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ชอชวาเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง) ด่งเก้า (ม้ง) เดี๋ยงซุย (เมี่ยน) ไม้เติม ลำผาด ลำป้วย (ลั้วะ) ด่อกะเติ้ม (ปะหล่อง) ละล่ะทึม (ขมุ) ชิวเฟิงมู่ ฉง หยางมู่ (จีนกลาง) เป็นต้น
เติม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ถึง 40 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดค่อนข้างทึบ กิ่งมักคดงอ เนื้อไม้ลำต้นสีน้ำตาลอมสีเหลือง มีกลิ่นหอม เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรืออมแดง และเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่ออายุมากขึ้น เปลือกชั้นในเป็นสีน้ำตาลอมแดง และมียางสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง การกระจายพันธุ์จากอินเดียไปจนถึงประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ หรือริมลำห้วยที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,000 เมตร
ใบเติม เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบเรียงสลับกัน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักโค้งแกมฟันเลื่อย เนื้อใบหนาเกลี้ยง ด้านหลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ใบเมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด ดอกออกเป็นช่อ มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก สีเหลืองอ่อนอมเขียว ออกดอกระหว่างเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ผลเป็นช่อ ๆ ผลสดฉ่ำน้ำผลอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีเหลืองหรือสีส้มแกมน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ด 3-4 เมล็ด มีเนื้อหุ้มอยู่ ผลจะแก่จัดในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ประโยชน์ทางยาสมุนไพร ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้เสียงแหบแห้ง หรือจะใช้เปลือกลำต้นและใบนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้เจ็บคอ ดอกมีรสร้อนหอม ช่วยแก้เสมหะ ใบช่วยแก้ตานซางในเด็กและช่วยแก้ปอดอักเสบ เนื้อไม้มีรสฝาดขม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต แก้โลหิตกำเดา แก้ไข้เพื่อโลหิต รากและเปลือกใช้เป็นยาฟอกโลหิต แก้โลหิตกำเดา เปลือกต้นใช้ตำผสมกับอาหารที่มีรสจัด จะช่วยป้องกันอาการท้องเสียได้ ชาวเขาเผ่าแม้ว ลีซอ ใช้ ลำต้น ต้มน้ำดื่ม แก้เจ็บคอ เสียงแหบ แก้บิด ในภูมิปัญญาพื้นบ้านมีการใช้ เปลือกต้น ตำผสมกับอาหารที่มีรสจัด ป้องกันอาการท้องเสีย ต่างประเทศมีรายงานใช้รักษาแผลในกระเพาะ ขับพยาธิและแก้บิดมีตัว เปลือกสดแก้อาการปวดท้อง น้ำคั้นเปลือกสดผสมน้ำมะนาวแก้เจ็บคอด้วย
ประโยชน์ทางอาหาร ยอดอ่อนและดอกนำไปประกอบอาหาร เช่น อาหารประเภทยำ ยำกับปลากระป๋อง ฯลฯ หรือนำไปลวกหรือกินสดจิ้มกับน้ำพริก บางท้องที่นำไปหมกกับเกลือกินแบบกินเมี่ยง หรือใบอ่อนนำมาสับให้ละเอียดเป็นส่วนผสมอาหารประเภทลาบ และยังนำยอดอ่อนลนไฟปรุงประกอบอาหารเพื่อช่วยเพิ่มรสเปรี้ยวได้ด้วย เช่น การทำแกงส้มปลา ผลสุกกินได้ มีรสเปรี้ยวและฝาด
เนื้อไม้ต้นเติมสีเทาแกมสีน้ำตาลไหม้ เนื้อไม้หยาบแต่ถ้าเลื่อยผ่าไสตบแต่งขัดมันขึ้นดี นำมาใช้ในงานก่อสร้าง ทำสะพาน ทำฝา พื้นกระดาน ฯลฯ หรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน และอุปกรณ์ใช้งานที่ทนน้ำได้ดี เช่น แจวและพาย ฯลฯ ลำต้นนำมาเผาเอาถ่านก็ได้ เปลือกต้นมีสารแทนนินมาก เปลือกให้สีแดงหรือสีชมพู จึงมีการนำมาย้อมสีภาชนะใช้สอย เช่น กระบุง ตะกร้า เครื่องเรือนทำด้วยหวายหรือไม้ไผ่ เปลือกด้านในให้สีน้ำตาลนำไปย้อมผ้าได้ ส่วนของเปลือกมีสารแทนนินเป็นองค์ประกอบถึง 16% นำไปย้อมแหหรือเชือกทำให้เหนียวแน่นทนทาน
ต้นเติม ปลูกเป็นไม้ประดับก็ยังได้ มีช่อดอกและช่อผลที่สวยงาม หรือปลูกให้ร่มเงาก็ดี เป็นไม้ปลูกง่าย โตเร็ว ไม่เลือกพื้นที่และอากาศ หลายพื้นที่นิยมปลูกเป็นไม้เบิกนำ เป็นไม้เหมาะในการนำมาปลูกเสริมให้ป่าได้ และใช้ประโยชน์ได้หลายทาง ให้เอาฤกษ์ชัย ชื่อ “เติม” และแม้จมน้ำมานานยังรอดได้ ปีใหม่นี้ปลูกต้นเติม เพิ่มพื้นที่สีเขียวและเติมพลังชีวิตกันเต็มเปี่ยมนะ.