ป่าสมุนไพรในป่าชุมชนและป่าครอบครัว คือคำตอบของการพึ่งตนเองด้านอาหาร สุขภาพ และแหล่งรายได้ในชุมชน มีป่าชุมชนและป่าครอบครัวให้ทั่วทุกตำบลประเทศชาติก็จะพึ่งตนเองได้แน่
เมื่อคราวก่อนแนะนำและชวนคุยกันถึงการปลูกป่าแบบวนเกษตร ซึ่งจะนับเป็นป่าชุมชนหรือป่าครอบครัวก็ได้ เป็นแนวคิดการปลูกพืชหรือต้นไม้ให้ขึ้นในหลายระดับ ทั้งไม้ใหญ่ยืนต้นลงมาถึงไม้เลื้อยไม้คลุมดิน ไม้น้ำก็ควรปลูกไว้ในที่ตนเอง ถ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นที่ส่วนรวมก็เข้าข่ายป่าชุมชนมีคณะกรรมการช่วยดูแล ถ้าผืนดินเป็นของส่วนตัวของครอบครัว การแบ่งที่ปลูกป่าแทนที่จะทำการเกษตรแบบโล่งเตียนหมดนั้น ก็เรียกว่า ป่าครอบคัว
ขณะนี้มีตัวอย่างป่าชุมชนและป่าครอบครัวมากมาย บางพื้นที่มีพื้นที่รวมกันนักพันไร่ วันนี้ขอยกตัวอย่างจากคนจริงเสียงจริงที่บุกเบิกและใช้ชีวิตกับป่าชุมชนและป่าครอบครัว 2 ท่าน ซึ่งทางมูลนิธิสุขภาพไทยเชิญมาเสวนาถอดบทเรียนไว้ จากประสบการณ์เกือบ 20 ปี ที่ลงมือทำเอง ทำกับเพื่อนในชุมชน เรียนรู้สรุปบทเรียน และการใช้ประโยชน์หลากหลาย คนแรกคือ คุณคำปุ่น กุดวงษ์แก้ว หนึ่งในแกนนำของเครือข่ายอินแปง จังหวัดสกลนคร และคุณศักดิ์ชัย ชาตาดี จากเครือข่ายป่าตะวันออกแถบจังหวัดฉะเชิงเทรา
บทสรุปอันดับแรกตรงกัน และต้องถือว่าเป็นจุดเด่นชัดในวงการปลูกป่าปลูกต้นไม้คือ ป่าชุมชนเป็นพื้นที่แหล่งอนุรักษ์พันธุกรรม ป่าชุมชนมีขนาดใหญ่เป็นที่พืชพันธุ์สิ่งมีชีวิตจะเจริญเติบโตเป็นแหล่งรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ในการรักษาป่าชุมชนให้ยั่งยืนไม่ถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ต้องมาสร้างป่าครอบครัวในพื้นที่ของตนเองด้วย เพราะการนำมาใช้สอยทั้งด้านอาหาร ยารักษาโรค ฯลฯ จากป่าชุมชน ถ้าคนจำนวนมากแห่กันไปใช้จะรักษาอย่างไรก็เอาไม่อยู่ จึงต้องทำบ้านหรือครอบครัวตนเองเป็นป่าด้วย แต่ได้พันธุ์กรรม ความชุ่มชื้น สภาพแวดล้อมของป่าชุมชนมาหนุนเสริมนั่นเอง
บทเรียนอันที่สอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการป่าชุมชนและป่าครอบครัว คือ “ความรู้” ทุกขุมชนต้องเริ่มเรียนรู้ทบทวนวิถีชีวิตร่วมกับผู้รู้ในชุมชน ทั้งคนเฒ่าคนแก่ พระ หมอพื้นบ้าน ปราชญ์ชุมชน ฯลฯ รู้ว่าต้นไม้อะไรจะนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้ ทั้งอาหาร ยา เครื่องใช้สอย แล้วก็ต้องสร้าง “ประสบการณ์การใช้ประโยชน์” เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และจะสามารถที่จะส่งต่อความรู้ได้อย่างถูกต้อง
เครือข่ายอินแปง ใช้แนวคิด “ยกป่าภูพานมาไว้ที่บ้าน” เอาพันธุ์พืชมาขยายพันธุ์ปลูกในหัวไร่ปลายนาของตนเอง เพื่อสร้างคลังอาหาร ยา ให้กับครอบครัวและชุมชน รวมทั้งเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวด้วย และที่สำคัญชุมชนพึ่งตัวเองได้ เช่น หวาย ต้องหาจากป่าเท่านั้น แต่ชาวอินแปงลองนำพันธุ์มาจากป่ามาเพาะ ใช้เวลากว่า 10 ปี จึงได้องค์ความรู้ที่ใช้การได้ ลองเพาะครั้งแรกโดยมีสมาชิก 13 คน กว่าจะงอกใช้เวลาอย่างต่ำ 8 เดือน จนถึง 1-2 ปี มาถึงวันนี้สามารถพัฒนาความรู้ที่เพาะให้งอกได้ในภายใน 2 สัปดาห์เท่นั้น
หวายเป็นที่ต้องการมาก ใช้ทำอาหาร แกงหวาย น้ำพริกหวาย อ่อมหวาย และยังเป็นอาหารให้แม่หลังคลอดเพื่อบำรุงมดลูก และใช้เป็นยาแก้ไข้ ทำเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ในเครือข่ายอินแปงยังปลูกพวกผักเม็ก หมากเม่า(มะเม่า) ส้มโมง ผักติ้ว ลูกบักแงว(คอแลน) ตะค้อ ตั้งแต่ปี 2530 จากการขยายพันธุ์ นำมาสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ต่างๆ เช่น น้ำหมากเม่า น้ำมะขามป้อม น้ำบักแงว เมื่อเพาะขยายพันธุ์ได้เยอะแล้วก็นำกลับคืนสู่ป่าชุมชน ป่าดอนปู่ตา ป่าโคก ป่าทำเล เมื่อเกิดป่าแล้วพวกเห็ดต่างๆ ก็จะตามมา เหลือกินในครอบครัวขายสร้างรายได้สบาย ๆ
เครือข่ายป่าตะวันออก ส่งเสริมป่าครอบครัว เพื่อตอบโจทย์ฐานชีวิตและฐานทรัพยากร จะทำให้เกิดความยั่งยืน และพัฒนาไปสู่วิสาหกิจชุมชนตามแนวคิดของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เพราะทุกครอบครอบต้องสร้างเศรษฐกิจด้วย การดำเนินงานป่าครอบครัวจึงต้องมี “ความรู้” อันดับแรกคือรู้คุณค่า ต่อมาต้องรู้มูลค่าซึ่งต้องมีความรู้เรื่องการวางแผนปลูกสมุนไพรทั้งจำนวนและชนิด เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคและเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันผลผลิตจากป่าครอบครัวนำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรหลายชนิด และที่เป็นตำราสมุนไพรให้ชุมชนพึ่งตนเอง โดยนำตำรับของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม มาต่อยอด เช่น ยาแก้ไอฝาง น้ำมันชันตะเคียน ยาต้มโคคลาน
ยาแก้ไอฝาง สรรพคุณแก้ไอ บรรเทาอาการปอดหรือหลอดลมอักเสบ แก้ไข้หวัดอาการเจ็บคอ คอแห้ง แก้ไอหอบหืด แก้ไอวัณโรค ตัวยาต้ม ฝางเสน 200 กรัม น้ำสะอาด 5 ลิตร พริกไทยร่อน 50 กรัม กานพลู 50 กรัม สารส้ม 50 กรัม ปูนขาวจากเปลือกหอยแครง 15 กรัม เมรทอล 25 กรัม การบูร 25 กรัม ขัณฑสกร 2.5 กรัม
สำหรับไม้ตะเคียนเดิมเป็นไม้หวงห้าม ปัจจุบันปลดล็อกแล้วนำมาปลูกได้ตัดใช้ประโยชน์ได้ ถ้าปลูกตะเคียน 3-5 ปี เมื่อมีแผลก็จะมียางออกมา ยางที่ได้คือยาสมุนไพรที่ดีนำมาทำ น้ำมันชันตะเคียน สรรพคุณแก้แผลที่เกิดจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลพุพองเป็นหนอง แผลเรื้อรัง และจากประสบการณ์ผู้ใช้นำมาใช้ได้ดีในแผลเรื้อรังต่างๆ เช่น แผลเบาหวาน แผลกดทับต่างๆ ซึ่งตอบโจทย์สถานการณ์ปัญหาสุขภาพในเมืองไทยพอดี ตำรับยาประกอบด้วย น้ำมันมะพร้าว 2 ถ้วย น้ำปูนใส 2 ถ้วย ชันตะเคียน 2 ช้อนโต๊ะ ชันสน 2 ช้อนโต๊ะ แป้งจีนหรือดินสอพองสะตุ 2 ช้อนโต๊ะ การบูร 1 ช้อนโต๊ะ
รูปธรรมจาก 2 พื้นที่จากนับร้อยนับพันตัวอย่างที่กำลังขับเคลื่อนงานกันอยู่นั้น พบว่ามีคนหนุ่มสาว คนในพื้นที่ดังเช่นคุณคำปุ่นและคุณศักดิชัย มาทำงานกับเครือข่ายหมอพื้นบ้านและปราชญ์ด้านต่างๆ ในชุมชน
ใช้วิชาความรู้ด้านการจัดการพื้นที่ และเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากป่า อาจเป็นยาต้ม อาหารบำรุงร่างกาย ลูกประคบ ตำรับยาแม่ลูกอ่อน น้ำมันว่านใช้นวดแก้ปวดเมื่อย เครื่องดื่มจากผลไม้ท้องถิ่น เครื่องสำอางและเครื่องหอมต่าง ๆ
มูลนิธิสุขภาพไทย ขอบอก ยังไม่สายเกินไป เราต้องมาร่วมใจกัน ส่งเสริมสนับสนุนป่าชุมชนและป่าครอบครัว ให้เป็นคำตอบเพื่อการพึ่งตนเองด้านอาหาร สมุนไพรและเศรษฐกิจให้กับสังคมไทย.