ผักกินได้ไม่ใช่มีแค่พืชผักล้มลุกหรือผักตามตลาดทั่วไป ผักตามวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือผักพื้นบ้านจำนวนหลายสิบชนิดเป็นผักที่มาจากพืชยืนต้นหรือไม้พุ่มไม้ใหญ่ ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าแต่ดูเหมือนวิถีชีวิตกลับเร่งรีบ ความละเมียดละไมลดน้อยลง ความรู้ภูมิปัญญาก็หดหาย ทำให้การดำรงอยู่ของชีวิตไม่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม การรู้จักกินพืชผักตามฤดูกาล ซึ่งธรรมชาติมอบความหลากหลายทางชีวภาพไว้ให้อย่างดี กินตามฤดูกาลและเรียนรู้กินผักยืนต้นยังช่วยให้มีสุขภาพดีเสมือนได้กินยาปรับสมดุลธาตุในร่างกายของเราด้วย คนหนุ่มสาวจำนวนมากอาจไม่รู้จักหรือคนรุ่น สว.(สูงวัย)อาจหลงลืมไป ขอแนะนำให้รู้จักกินผักยืนต้นที่ได้รสชาติต่าง ๆ กัน เพื่อให้สมดุลกับธาตุในร่างกายเรา
กลุ่มผักยืนต้นที่มีรสมัน ฝาด ใช้เป็นยาฝาดสมาน รักษาแผล แก้ท้องเสีย แต่ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้ เช่น กระโดน กระโดนน้ำ มะม่วงหิมพานต์ มะเดื่อ เม็ก เป็นต้น
กระโดน (Careya arborea Roxb.) ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อนมีรสฝาดอมมัน กินเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก แจ่ว ลาบ ก้อย ส้มตำ ดอกช่วยแก้อาการไอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ ใบมีรสฝาดช่วยไม่ให้ท้องเสีย มะเดื่อปล้อง (Ficus hispida L.f.) ใบอ่อน กินร่วมกับน้ำพริก ลาบ ส่วนช่อดอกและผลอ่อนกินเป็นผักสดหรือต้มจิ้มกับน้ำพริก แล้วยังนำมาทำแกงส้ม ผลดิบกินกับแกงบอนหรือหลามบอน หรือเอาไปปรุงทำแบบหลามกับกระดูกหมู ผลมีรสขม เป็นยาเย็น มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคโลหิตจาง คนอีสานนิยมนำมากินกับเมี่ยง ผักเม็ก (Syzygium antisepticum (Blume) Merr. & L.M.Perry) ใบอ่อน ยอดอ่อน กินเป็นผักสดกับน้ำพริก ลาบ ป่น แจ่ว ก้อย ยำ หรือห่อปลาช่อนเผา หรือปลาเผา กินกับส้มตำ หรือกินกับขนมจีน และเมนูเด็ดเรียก ซุบผักเม็ก ผักเม็กมีรสฝาดปนเปรี้ยวนิดๆ ยอดสีขาวจะอร่อยกว่ายอดสีแดง
กลุ่มผักยืนต้นที่มีรสขม เป็นกลุ่มยาเย็น ช่วยบรรเทาอาการไข้ แก้เลือดเป็นพิษ ลดเสมหะ ถ้ากินร่วมกับรสเผ็ดร้อนยิ่งช่วยทำให้เลือดลมดี แก้อาการปวดท้อง ท้องอืด เฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหารโดยเฉพาะ เช่น
ผักสาบ (Adenia viridiflora Craib) และผักอีนูน (Adenia heterophylla (Blume) Koord.) แม้ว่าจะเป็นไม้เลื้อย แต่มีลำต้นขนาดใหญ่ มีเนื้อไม้ ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน ผลอ่อน กินเป็นผักจิ้ม ทำให้สุกกินกับน้ำพริกหรือกินกับอาหารรสจัดต่าง ๆ ยอดอ่อนปรุงเป็นแกงคั่ว แกงเลียง แกงส้ม ช่อดอกและผลอ่อน นิยมนำมาดองกินเป็นผักจิ้มน้ำพริก ยอดอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อนมีรสขมอมหวาน เพี้ยฟานหรือขมกะลาง (Macropanax dispermus (Blume) Kuntze) มีรสขมอมหวาน มีการแตกยอดมากในฤดูฝน ยอดอ่อนนำมาเผาไฟ เพื่อลดความขม กินเป็นผักสดแกล้มกับลาบ
กลุ่มผักยืนต้นที่มีรสเปรี้ยว ช่วยกัดเสมหะและกระตุ้นต่อมน้ำลาย ทำให้เจริญอาหาร แต่ถ้ากินมากไปจะทำให้ร้อนใน ผักที่มีรสเปรี้ยว เช่น หมากแปม (Garcinia lanceifolia Roxb.) เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก อยู่ในกลุ่มเดียวกับชะมวง (Garcinia cowa Roxb. ex Choisy) เหมาะที่จะปลูกในเมืองหรือสำหรับผู้มีพื้นที่ไม่มาก ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว ใช้กินเป็นผักสดหรือใส่ต้มเป็ด ต้มไก่ ผลมีสีแดงสดใส กินได้มีรสเปรี้ยวอมหวาน มะตาด (Dillenia indica L.) ผลมะตาดกินเป็นผลไม้ได้ และนำมาทำอาหาร เช่น แกงส้มมะตาด แกงคั่วมะตาด ฯลฯ หรือผลสดจิ้มกินกับน้ำพริก กลีบชั้นในที่มีลักษณะอวบอุ้มน้ำ จิ้มกับเกลือกินได้ ให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นหอม เมล็ดมะตาดที่แก่แล้วก็กินสดได้มีรสชาติมัน ส้มเสี้ยว (Bauhinia malabarica Roxb.) ใบมีรสเปรี้ยวฝาด นำมาใส่ต้มเป็ด ต้มปลา เป็นยาขับโลหิตระดู ขับปัสสาวะ แก้แผลเปื่อยพัง ใช้ใบส้มเสี้ยวร่วมกับยาระบาย ทำให้ขับเมือกเสมหะตกทางทวารหนักได้ดี มีการนำมาผสมกับตัวยาอื่นทำเป็นยาบำรุงโลหิตระดูที่เป็นลิ่มเป็นก้อนมีกลิ่นเหม็นให้ปกติดีขึ้น
กลุ่มผักยืนต้นที่มีรสหวาน ทำให้ชุ่มชื่น บำรุงกำลัง แต่ถ้ากินมากไปจะทำให้ลมขึ้น ท้องอืด ง่วงหงาว หาวนอน เช่น ยอดมะพร้าว ยอดเต่าร้าง ผักเหมียง ผักหวานป่า ผักหวานบ้าน เช่น เต่าร้าง (Caryota mitis Lour.) ยอดอ่อนนำมาต้ม ลวก แกง หรือผัดกะทิก็ได้ หรือนำไปกินแกล้มกับแกงหรือน้ำพริก บางชุมชนกินสด ๆ หรือใช้แกนในของลำต้น (แกนในยอดอ่อนบริเวณโคนต้น) นำมาทำแกง (แต่ต้องทำให้สุกเสียก่อน) กินแกล้มกับน้ำพริก ผลสุกของเต่าร้างแดงกินได้เช่นกัน ให้มีรสชาติหวานอร่อย คันจ้องหรือลำบิดดง (Diospyros filipendula Pierre ex Lecomte) ยอดอ่อนกินเป็นผักสด มีรสหวานอมฝาด เนื้อในเมล็ดกินได้
กลุ่มผักยืนต้นที่มีรสเผ็ดร้อน มะแขว่น (Zanthoxylum rhetsa DC.) ภาษาหมอยาพื้นบ้านเรียกว่า พริกหอม ใบกินเป็นผักสดกับนํ้าพริก ผลแก่หรือเมล็ดใช้ตำผสมเครื่องแกงประกอบอาหาร ให้รสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม และช่วยดับกลิ่นคาว ผักแปม (Eleutherococcus trifoliatus (L.) S.Y.Hu) เป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรไทยที่อยู่ในวงศ์โสม ทางภาคเหนือนิยมกินใบอ่อนและยอดเป็นผักสดแกล้มกับลาบ ทำเป็นแกงอ่อม มีรสชาติฝาดขมเล็กน้อย ภูมิปัญญาแพทย์พื้นบ้านใช้ใบอ่อนและยอดแก้วัณโรค บำรุงร่างกาย รักษาอาการอ่อนเพลีย รักษาเลือดคั่งในแผลฟกช้ำ รากและเปลือกต้นใช้บำรุงร่างกาย แก้ปวดหลังปวดกระดูก รักษาเบาหวาน รักษาอาการผอมแห้งแรงน้อย หอมแขกหรือต้นใบกระหรี่ (Murraya koenigii (L.) Spreng.) ใบมีกลิ่นหอมจัด ใช้ปรุงอาหาร เช่น ใส่แกง ต้ม นำมาผัดกับข้าว หรือใช้แต่งกลิ่นแต่งรส คนอินเดียนิยมนำใบมาตากให้แห้ง บดเป็นผง โรยใส่อาหารต่าง ๆ ด้านยาสมุนไพร ใบแก้ปวดท้อง ยาบำรุง แก้ปวดฟัน เป็นต้น
ผักยืนต้นคืออาหารที่มีมากมายนับร้อยชนิด คือต้นไม้ที่รักษาโลกรักษาชีวิตของเรา เพื่อเป็นวิทยาทานและเป็นการรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น มูลนิธิสุขภาพไทยขอเชิญชวนทุกท่านที่อยู่ในแต่ละส่วนของภูมิภาค มาร่วมด้วยช่วยกัน ใครมีความรู้ข้อมูลผักยืนต้นในแต่ละภูมิภาค ช่วยส่งข้อมูลแลละภาพถ่ายผักยืนต้น เพื่อนำมาจัดทำหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ เผยแพร่ความรู้ให้แก่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป ผู้สนใจสามารถส่งข้อมูลพร้อมรูปถ่ายมาได้ที่ เฟสบุค : มูลนิธิสุขภาพไทย