บางครั้งชีวิตที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์พร้อม แท้จริงอาจยังมีบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหาย
และนั่นคือจุดเริ่มต้นให้ ป้าไก๊ หรือ นพวรรณ พงษ์ทอง ผู้มีหน้าที่การงานมั่นคงอยู่ในองค์กรรัฐวิสาหกิจใหญ่ในวัยใกล้เกษียณ ลงมือตามหาชิ้นส่วนของความรู้สึกที่ขาดหาย กระทั่งได้รู้จักและเข้ามาเป็นพี่อาสาฯ ให้กับโครงการอาสานวดเด็ก พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ของมูลนิธิสุขภาพไทยที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด
จุดเริ่มต้นแห่งความปรารถนาดี
“โดยพื้นฐานแล้วเป็นคนชอบเด็ก มักหาโอกาสไปบริจาคหรือเลี้ยงอาหารเด็กในสถานสงเคราะห์ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กพิการ แต่ก็ทำได้แค่นั้น เพราะยังยุ่งกับการทำงานหาเงินอยู่ พอนานๆ ไปรู้สึกว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้น แต่ก็ยังนึกไม่ออก จนกระทั่ง มาเจอโครงการนี้ในอินเทอร์เน็ต โอเคเลย… มาช่วยเลี้ยงเด็กอาทิตย์ละ 1 วัน ทำได้อยู่แล้ว”
“เด็กคนแรกเป็น เด็กชายผมหยิก ดวงตาโต ที่เลี้ยงมาตั้งแต่เขาขวบครึ่ง จนปีนี้ 4 ขวบแล้ว เขาเป็นเด็กพิการ ซึ่งตอนแรกยังดูไม่ออก รู้แต่ว่าเขามีพัฒนาการช้ามาก มีปัญหาเรื่องอารมณ์ มีอาการเกร็ง และการรับรู้น้อยมาก ซึ่งพอเลี้ยงๆ ไปก็รู้สึกว่า พัฒนายาก ตอนแรกก็หนักใจ แต่พอเห็นเขาลำบาก เราก็ต้องยิ่งขวนขวายหาข้อมูลความรู้ต่างๆ ว่าทำยังไงถึงจะช่วยเขาได้
แม้จะต้องพบกับบททดสอบแสนยากตั้งแต่ด่านแรก แต่ป้าไก๊ก็ยังคงเดินหน้าต่อ และเปลี่ยนผ่านจากพี่อาสาฯ ระยะสั้น 4 เดือน มาเป็นพี่อาสาฯ ระยะยาว“แรกๆ เรารับแค่ครึ่งวัน แล้วเพิ่มมาเป็นเต็มวัน ตอนนั้นตัวเขายังเล็ก อุ้มได้ ยอมรับว่าเมื่อยเหมือนกัน แต่ก็พยายามนะ เมื่อดูแลเขาต่อเนื่องบ่อยๆ จากที่เขาอารมณ์ไม่ค่อยดี พอเลี้ยงไป 4-5 เดือน เขาเริ่มหัวเราะ เราก็นึกว่า หูแว่ว แต่พอผ่านไป 6 เดือน เขาเริ่มยิ้มมากขึ้น แล้วจาก เด็กที่ไม่เคยขยับตัวเลย วางกองกับพื้นก็นิ่งอยู่กับพื้นตรงนั้น เขาก็เริ่มขยับได้บ้าง พอเห็นเท่านี้เราก็ชื่นใจขึ้นมาแล้ว
“ยอมรับว่า ค่อนข้างผูกพัน ทุ่มเทให้เขามาก เพราะรู้ว่าสมองของเด็กช่วงวัย 3 ขวบแรกจะพัฒนาได้มากที่สุด ถ้าเราทำได้ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เขา ถ้าเราไม่ช่วยเขา รู้แน่เลยว่า เขาจะต้องลำบากมากเมื่อโตขึ้น แต่จะทำได้มากแค่ไหนอันนี้ก็อยู่ที่ตัวเขากับตัวเราร่วมมือกัน”
ด้วยรักและผูกพัน
จากความสงสารนำมาสู่ ความรัก ความปรารถนาดี จนก่อเกิดเป็นความผูกพัน ครั้นน้องต้องย้ายไปอยู่ที่ “บ้านเฟื่องฟ้า” ซึ่งเป็นสถานสงเคราะห์สำหรับเด็กพิการโดยเฉพาะ ป้าไก๊จึงต้องใช้ความจริงใจเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้เจ้าหน้าที่ที่นั่นเห็นและอนุญาตให้ตามไปดูแลน้องต่อได้
ระหว่างที่น้องย้ายไปอยู่บ้านเฟื่องฟ้า ป้าไก๊ก็มีน้องอีกคนที่ต้องดูแลควบคู่กันไปที่บ้านปากเกร็ด
“ดิฉันรับ หลานสาวคนนี้ มาตอนเกือบขวบครึ่ง ตอนนั้นเขานั่งได้อย่างเดียว ทำอะไรไม่ได้เลย ทั้งที่เขาต้องยืน เดินได้แล้ว เพราะเขาเป็นเด็กร่างกายปกติ แต่เขาจะมีปัญหาทางอารมณ์ เป็นเด็กที่ตอบรับคนอื่นยากมาก ก็ต้องใช้เวลาอยู่เกือบเดือนกว่าจะค่อยๆ คุ้นเคยกัน แล้วเขาก็เคี้ยวไม่ค่อยเป็นทั้งๆ ที่ฟันเต็มปาก เราก็ต้องเริ่มจากเรื่องอาหารก่อน ให้เขากินอิ่ม พอเรื่องกินเขาดีขึ้น อารมณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น
“พยายามหัดให้เขายืนโดยการจับตั้งขึ้นมา เห็นเลยว่าขาเขาสั่น คือเขากลัวมาก เราก็ช่วยประคองทั้งตัวเพื่อให้ยืน ต้องกอดทั้งตัวกว่าจะให้เขายืนนิ่งๆ ต้องใช้เวลา เราก็ให้เวลาเขา ค่อยๆ ทำเป็นขั้นๆ ไป จับให้ยืนได้ จับให้ยืนนานๆ แล้วค่อยจับให้เดิน กว่าจะเดินได้ประมาณ 6 เดือน”
“สิ่งแรกที่ได้เรียนรู้คือ เด็กทุกคนต้องการความรัก ความเอาใจใส่ และความตั้งใจจริงจากพี่อาสาฯ ที่จะทำให้เขาเติบโตทั้งร่างกายจิตใจ ต้องให้เวลาเขาอย่างต่อเนื่อง ต้องคอยสังเกตอาการของเด็กว่ามีลักษณะเป็นยังไง แล้วก็ถามคุณหมอว่า เราพอจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง ทุกอย่างต้องมีความรัก มีการสร้างบรรยากาศให้เขามีความสุข แต่ก็ไม่ใช่ตามใจ แต่เราต้องคิดว่าจะทำยังไง ที่จะช่วยให้เขาพัฒนาศักยภาพให้ดีขึ้นได้ตามสภาพของเขา”
เรียนรู้ที่จะรักและ “ปล่อยวาง” ให้เป็น
“เมื่อมาเลี้ยงเด็ก ตัวเองก็เปลี่ยนนะ คือรู้จักปล่อยวางมากขึ้น ยิ่งตอนที่เลี้ยงหลานชายตัวดีนะ…แรกๆ ยอมรับว่ามีความคาดหวังหลายๆ อย่าง แต่พอทำไปแล้ว เราถูกบังคับให้เริ่มปล่อยวางมากขึ้น เพราะเราเป็นคนอ่อนไหวกับเรื่องคนมาก คือแคร์เขาไปหมด จึงต้องหัดปล่อยวางบ้าง เมื่อเราพยายามทำเต็มที่แล้วจะได้เท่าไหร่ เราก็ต้องยอมรับกับตรงนั้น ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการทำร้ายตัวเองเหมือนกัน”
แม้จะยอมรับว่างานอาสาฯ ที่ทำอยู่นี้ทั้งหนักและเหนื่อยพอสมควร“เรามีความสุขกับการอยู่กับเด็ก เด็กไร้เดียงสา น่ารัก แล้วพอทำไปแล้วเรารู้สึกชีวิตเราอบอุ่น เหมือนเวลาเรากอดเขา เขาก็กอดเรา เป็นการแลกกอด พอเห็นเด็กยิ้ม หัวเราะ เขาดีใจเวลาที่เรามา นั่นละ เป็นการเติมพลังให้เราแบบเต็มๆ เลย เป็นอะไรที่สุขสุดๆ นะ เมื่อเห็นการพัฒนาของเด็กแล้ว มันจะตอบอะไรเราได้หลายอย่าง บางอย่างมันอธิบายด้วยคำพูดไม่ได้
“เรามีความภูมิใจ มั่นใจในสิ่งที่ทำว่ามีคุณค่า งานตรงนี้ไม่ได้ค่าตอบแทน แต่เราทำเป็นงานประจำไปแล้ว เหมือนเรามาเติมเต็มชีวิตที่นี่ ตรงนี้เป็นครอบครัวใหญ่ เรามีเพื่อนๆ อาสาสมัครด้วยกัน มีพี่น้องเพิ่มขึ้น มีลูกมีหลานเพิ่มขึ้น มีพ่อ มีแม่ มีป้า เป็นสังคมแบบครอบครัว ซึ่งจริงๆ จะว่าไปแล้วอย่างที่บ้านบางคนอาจขาด บางคนอาจเครียดเรื่องงาน หรือมีเวลาว่างมากแล้วไม่รู้จะทำอะไร พอมาที่นี้แล้วจะรู้สึกเหมือนเราได้เติมในส่วนนั้นๆ ให้เต็ม”
ต่อยอดจิตอาสาฯ สู่สาธารณะ
นอกจากงานดูแลเด็กแล้ว ในฐานะรุ่นพี่ ป้าไก๊ยังเป็นพี่เลี้ยงให้กับอาสาสมัครที่มาใหม่ด้วยความเต็มใจ และไม่วางเฉยที่จะต่อยอดงานอาสาฯ ด้านอื่นๆ เช่น การไปช่วยทำสื่อการเรียนรู้ให้กับเด็กตาบอด แถมยังพัฒนาบทบาทเป็นผู้ประสานงานอาสาสมัคร (อย่างไม่เป็นทางการ) อีกด้วย
“มีความเชื่อว่าคนทุกคนคงมีจิตอาสาอยู่แล้ว แต่บางทีอยู่ลึก ต้องให้มาอยู่ตรงหน้าก่อนถึงจะเห็น ต้องมีจังหวะของการเริ่มต้น ได้สัมผัสจริงๆ ได้ลองจริงๆ แล้วจึงจะเข้าใจ อย่างแต่ก่อนเคยมาเลี้ยงอาหารเด็ก นำเงิน ของเล่น เสื้อผ้า มาบริจาค ของเหล่านี้จริงๆ แล้วก็จำเป็นในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เด็กต้องการมากๆ คือ ความรัก ความเอาใจใส่ ที่ไม่ค่อยจะมีใครบริจาค”
ทั้งๆ ที่คนในครอบครัวไม่มีใครสนับสนุนให้มาทำงานตรงนี้ แต่ป้าไก๊ก็ยังยืนหยัดที่จะเป็นผู้ส่งต่อห่วงโซ่แห่งความสุขด้วยงานอาสาฯ นี้ต่อไป
“คนที่บ้านไม่เห็นด้วยเลย เราก็บอกว่า ทำตรงนี้ก็เหนื่อยจริง แต่มีความสุข เขาก็ไม่เข้าใจ แต่พอเราทำมานานแล้ว เขาก็ปล่อยให้เราทำ เพราะที่ผ่านมา คิดว่าเราให้ที่บ้านเต็มที่แล้ว ตอนนี้อยากหาความสุขของเราเอง อยากมีสังคมของเรา หรืออาจจะทำเพื่อรองรับก่อนเกษียณหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ คือตรงนี้มีคำตอบอะไรหลายๆ อย่างให้เราได้
สำหรับใครที่สนใจมาเป็นอาสาสมัครรุ่นต่อไป ป้าไก๊แนะนำว่า
“คุณต้องเข้ามาลอง ต้องมีเวลาอย่างน้อย 4 เดือน ต้องมีความต่อเนื่อง ต้องมาลองถึงจะรู้ บางคนมาลองแล้วไปก็มี หรือบางคนมาแล้วพบว่า ที่นี่มีอะไรมากกว่าที่เขาคิดไว้ อาจจะตอบโจทย์อะไรสำหรับบางคนได้ อาจจะเติมเต็มอะไรสำหรับบางคนได้ ต้องมาลองค่ะ”