นางปิยะภรณ์ กองเงิน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านตาโมกข์ จ.ศรีสะเกษ นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “การใช้สมุนไพรผักบุ้งระงับปวด” ในงานประชุมวิชาการประจำปีกระทรวงสาธารณสุข 2558 ว่า ประชาชนใน ต.สำโรงพลัน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ต้องทำงานตามทุ่งนา มีต้นไม้ และป่าไม้ ซึ่งเป็นที่อาศัยของต่อ แตน แมลงต่าง ๆ จึงมีประชาชนถูกกัดต่อยบ่อยครั้ง ซึ่งการมารับบริการที่สถานพยาบาลก็มีความห่างไกลจากพื้นที่เกษตรกร รพ.สต.บ้านตาโมกข์ จึงหาวิธีการลดปวดแบบง่าย ประหยัดและสะดวก โดยอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน และวัตถุดิบได้ในท้องถิ่น
นางปิยะภรณ์ กล่าวว่า การวิจัยได้นำผักบุ้งแดง ซึ่งสามารถหาได้ง่ายในชุมชนมาใช้ เพื่อลดอาการปวด โดยได้ศึกษาจากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีการใช้กันอยู่ คัดเลือกจากสมุนไพรตัวอื่น ๆ เช่น ใบสาปเสือ แต่พบว่าผักบุ้งแดง มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดีกว่า ซึ่งวิธีที่ชาวบ้านใช้ในอดีต พบว่า มีการนำสมุนไพรไปเคี้ยว หรือ ผสมเหล้าขาว ก่อนที่จะนำมาใช้ แต่พบว่าวิธีการเคี้ยวก่อนในปากอาจมีแบคทีเรียและไม่สะอาด ส่วนเหล้าขาวนั้น การไปทำนา ไร่ อาจไม่สามารถหาได้ จึงได้ศึกษาเฉพาะผักบุ้งแดงที่เกิดตามไร่นา และร่องน้ำเท่านั้น โดยใช้ผักบุ้ง 3 ยอด ล้างทำความสะอาดแล้วขยี้ หรือบดให้ละเอียดนำมาแปะตรงบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย ประมาณ 3 – 6 นาที และสังเกตอาการ โดยผลการศึกษาในผู้ที่ถูกแมลงกัดต่อย ตั้งแต่ ต.ค.- ธ.ค. 2557 จำนวน 2 ราย พบว่า เมื่อใช้ผักบุ้งแดงโปะไว้ตรงบริเวณที่ปวด พบว่าอาการปวดเริ่มลดลงตั้งแต่นาทีที่ 4 – 5 เป็นต้นไป
“จากการทดลองดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า สมุนไพรผักบุ้งแดง สามารถลดอาการปวดจากแมลงกัดต่อยได้ในผู้ที่ถูกแมลงกัดต่อยได้เป็นอย่างดี สะดวก และประหยัด ในการเดินทางมารับบริการ โดยผู้ที่ถูกแมลงกัดต่อยมีความพึงพอใจ ไม่มีผลข้างเคียง ถือเป็นการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้ในการลดอาการปวด ทั้งนี้ แผนที่จะดำเนินการต่อไป คือ เพิ่มกลุ่มตัวอย่าง และส่งผักบุ้งแดงดังกล่าว ไปทดสอบหาสารที่มีที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อพัฒนาวิธีดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และนำวิธีดังกล่าวไปแนะนำให้ชุมชนนำไปใช้ได้จริง” นางปิยะภรณ์ กล่าว
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 ก.ย.2558