แม้ว่า วันงดสูบบุหรี่โลกจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่การรณรงค์ให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่า เยาวชนไทยสูบบุหรี่มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเลิกบุหรี่ได้ยากอีกด้วย
“บุหรี่ 1 มวน มีสารก่อมะเร็ง 70 ชนิด สารพิษอื่นๆ 250 ชนิด สารทั่วไปที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองสะสมและทำให้เกิดโรคมากถึง 7000 ชนิด ส่วน ‘ควันบุหรี่มือสองมือสาม’ มีสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับบุหรี่ ทำลายสิ่งแวดล้อมและคนรอบข้าง ในเด็กที่ได้รับควันมือสองตั้งแต่เล็กๆ อย่างสม่ำเสมอ โตขึ้นจะทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ ส่วนควันบุหรี่มือสามจะติดตามเสื้อผ้า ผิวหนัง เส้นผม สภาพแวดล้อมในห้อง อย่างเช่น พรม โซฟา เป็นต้น หากได้รับสม่ำเสมอในปริมาณมาก จะก่อให้เกิดโรคได้เช่นกัน” ผศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษามูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ บอกเล่าถึงโทษของบุหรี่
‘3 ติด’ เลิกบุหรี่ยาก
ผศ.กรองจิต บอกว่า ผู้ที่สูบบุหรี่และเลิกยากนั้น เป็นเพราะ ‘ติดนิโคติน’ ซึ่งเป็นสารเสพติดในบุหรี่ หากขาดนิโคตินจะกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เป็นต้น ‘ติดทางสังคมและสภาพแวดล้อม’ ซึ่งเกิดจากการได้รับคำแนะนำหรือชักชวนจากเพื่อน‘ติดทางใจและ ติดทางความเคยชิน’ เกิดจากความเคยชินของการทำกิจกรรมนั้น และต้องสูบบุหรี่ไปด้วย ซึ่งสองอย่างนี้ต้องใช้พฤติกรรมบำบัด และความตั้งใจจริง
‘5 ใจเลิกบุหรี่ ช่วยเลิกได้’
ที่ปรึกษามูลนิธิรณรงค์ฯ บอกว่า เลิกบุหรี่ทำให้เกิดผลดีกับสุขภาพตนเอง ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม หากมีความตั้งใจจะเลิกบุหรี่ ก็เลิกได้อยู่แล้ว แต่ต้องมีความตั้งใจจริง อาจารย์ขอแนะนำเคล็ดลับ ‘5 ใจ’ สู่การเลิกบุหรี่ โดยเริ่มจาก ใจแรก คือ
1. ‘แรงจูงใจ’ ผู้สูบต้องหากำลังใจให้ได้ หาสิ่งที่รัก และศรัทธาที่สุด หรือกำลังใจจากคนในครอบครัวเพื่อเป็นแรงยึดเหนี่ยว และแรงจูงใจเลิกบุหรี่ อย่างเช่น ผู้ที่ศรัทธาในหลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ ก็นำคำสอนของท่านมาใช้ที่ว่า หากอยากสูบให้อมน้ำไว้ ทำแบบนี้ 15 วัน ก็เลิกบุหรี่ได้ และหากอยากเลิกอาจปรึกษาผู้รู้หรือคนเลิกบุหรี่ก็ช่วยได้เช่นกัน
2. ‘ตั้งใจ’ ต้องกำหนดวันว่าจะเลิกวันไหน หากต้องการลดจำนวนบุหรี่ ต้องกำหนดว่า มวนสุดท้ายจะหมดเมื่อไหร่ และไม่ควรเกิน 3 เดือน ระยะเวลาดีที่สุดคือ 1 เดือน
3. ‘ตัดใจ’ ต้องมีความตั้งมั่นว่าไม่สูบแน่นอน แต่ไม่ควรกดดันและไม่เครียด การดื่มน้ำมากๆ ใน 2 อาทิตย์แรก จะช่วยคลายความกระวนกระวาย และหงุดหงิดลงได้ หากมีอาการอยากสูบ ผลไม้รสเปรี้ยวช่วยได้ เช่น มะนาว มะขามเปียก มะยม มะขามป้อม สมอ มะกอก เป็นต้น ควรพกติดตัวไว้ อยากสูบเมื่อไหร่ ก็เอาออกมาขบหรืออมไว้ในปาก ให้มีรสเปรี้ยวออกมา และเคี้ยวอย่างช้าๆ ไปเรื่อยๆ ประมาณ 2-3 นาที ก็จะช่วยได้ นอกจากนี้ ควรกินผักเยอะๆ และเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด กินอาหารรสจืด และเคี้ยวให้ช้าลง
4. ‘แข็งใจ’ หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้สูบอีก นั่นคือ แอลกอฮอล์ ไม่ควรไปที่ที่เคยไปและสูบ อย่างเช่น ร้านอาหารที่ไปกับเพื่อนเป็นประจำ เป็นต้น สำหรับความรู้สึกอยากสูบจะลักษณะเหมือนคลื่นน้ำ คือมาเป็นระรอกๆ จากเล็กขึ้นไปสูงสุดและเลือนหายไป ความรู้สึกนี้จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3 -5 นาที หากแข็งใจ ก็จะหลีกเลี่ยงและผ่านพ้นไปได้
5. ‘ดีใจ’ เมื่อตัดสินใจและเลิกได้แล้ว ถือว่าการเลิกบุหรี่เป็นการให้รางวัลตนเอง ทำให้ตนเองมีความสุข สุขภาพดี ไม่ทำร้ายครอบครัว และไม่ทำร้ายคนอื่นโดยที่เราไม่รู้จัก
“บุหรี่เป็นสารเสพติดที่เย้ายวนใจ ผู้ที่เลิกได้แล้ว นับว่า เป็นความภาคภูมิใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เป็นการเอาชนะใจตนเอง หากผู้ที่กำลังจะเลิกสูบ หรือเคยเลิกแล้วกลับมาสูบอีก และอยากเริ่มต้นใหม่ จงนำเอาความผิดพลาด มาเรียนรู้ ลงมือสู้ใหม่ เพราะไม่มีคำว่า ล้มเหลว ถ้าเราไม่ล้มเลิกความตั้งใจ” ผศ.กรองจิต กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th 2 มิ.ย.2558