นักวิทยาศาสตร์อินโดนีเซีย วิจัยพบวิธีการสกัดสารเพกตินในเปลือกกล้วย แก้โรคความดันโลหิตสูงได้ เผยผลทดลองขั้นต้นลดคอเลสเทอรอลได้ถึง 52% ใน 2 สัปดาห์ ชี้สามารถนำไปผลิตเป็นยาแก้โรคความดันราคาถูกกว่ายาฝรั่งหลายเท่าตัว
หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์รายงานว่า ทีมนักวิจัยจากคณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยบราวีจายา ในเมืองมาลัง ชวาตะวันออก ได้ค้นพบว่าเปลือกกล้วยมีสารเพกติน ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดระดับคอเลสเทอรอลในเลือด โดยทีมผู้วิจัย 3 คน ซึ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษาชื่ออาจารย์ Nur Ida Panca สามารถสกัดเพกตินจากเปลือกกล้วยได้สำเร็จ
ผู้นำทีมวิจัยคือ Mr.Lukman Azis ให้สัมภาษณ์จาการ์ตาโพสต์ว่าสารเพกตินที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่ผลิตมาจากผลไม้ที่มีราคาแพง อาทิ แอปเปิลหรือส้ม ทำให้เป็นสารที่มีราคาแพงขณะที่เปลือกกล้วยเป็นของเหลือราคาถูกมาก ทำให้สามารถผลิตเพกตินได้ในราคาถูก
Mr.Lukman กล่าวว่า ทีมวิจัยได้นำสารเพกตินที่สกัดได้จากเปลือกกล้วยไปให้สัตว์ทดลองกิน 2 สัปดาห์และทำการตรวจวัดระดับคอเลสเทอรอล ปรากฏว่าสามารถลดระดับคอเลสเทอรอลลงได้ถึง 52%
จาการ์ตาโพสต์ รายงานว่าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบราวีจายา ทำการวิจัยหาสารเพกตินจากแหล่งวัตถุดิบที่มีราคาถูกหลังจากที่มีรายงานจากองค์การอนามัยโลก ว่าโรคหัวใจที่เกิดจากการมีระดับคอเลสเทอรอล เป็นสาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตระดับต้น ๆ ของโลก
Mr.Lukman ระบุว่าเมืองมาลัง เป็นศูนย์กลางการค้าผลไม้แห่งหนึ่งของประเทศและประเทศอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตกล้วยอันดับ 1 ของเอเชีย จึงมีเปลือกกล้วยเหลือทิ้งจำนวนมาก ดังนั้นการวิจัยดังกล่าวจึงเน้นสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับท้องถิ่น
จาการ์ตาโพสต์ระบุว่าเปลือกกล้วยที่เหลือทิ้งในประเทศอินโดนีเซียนั้น ส่วนใหญ่นำไปผสมเป็นอาหารวัว เป็นวัตถุดิบที่หากนำไปต่อยอดได้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คนท้องถิ่นจำนวนมาก
Mr.Lukman ให้สัมภาษณ์ว่าทีมงานวิจัย ได้ออกตระเวนไปหลายแห่งเพื่อรวบรวมเปลือกกล้วยชนิดต่างๆ และเมื่อนำมาแยกสารเพกตินออกมาแล้ว เอาไปผสมกับขนมหวานเพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน ซึ่งโดยปกติก็มีการนำเพกตินไปเป็นส่วนประกอบในการทำอาหารอยู่แล้ว
รายงานข่าวระบุว่าวิธีการสกัดสารเพกติน นั้นทีมวิจัยได้นำเปลือกกล้วยไปหั่นเป็นชิ้นและนึ่งประมาณ 10 นาทีก่อนจะนำไปทำให้แห้งที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส และนำไปป่นเป็นผง ตามด้วยการสกัดด้วยตัวละลายที่เป็นกรด ที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส และใช้เวลาอีก 24 ชั่วโมง เพื่อทำให้แห้งโดยกระบวนการผลิตทั้งหมดจะใช้เวลา 1 เดือน
เมื่อได้สารเพกตินแล้วจะนำไปผสมกับขนมมาร์ชแมลโลว์ เพื่อให้หนูทดลองกินพร้อมกับอาหารที่มีไขมันสูงปรากฏว่า การกินขนมที่ผสมกับเพกตินทำให้ไขมันในเลือดของหนูทดลองลดลง
Mr. Lukman กล่าวว่า เพกตินที่ผลิตจากเปลือกกล้วยนั้นยังไม่ถึงขั้นทดลองทางการแพทย์ในมนุษย์และยังไม่ได้ผลิตเป็นยาในขั้นสุดท้าย แต่มั่นใจมีความปลอดภัยสำหรับมนุษย์เนื่องจากเป็นสารที่ผลิตจากธรรมชาติไม่มีกระบวนการทางเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องเลย และเมื่อผลิตเป็นยาแล้วจะมีราคาถูกกว่ายาของโรงงานยาที่มีขายในท้องตลาดเป็นอย่างมาก
“นอกจากจะมีราคาถูกแล้ว ยาแก้โรคความดันที่ผลิตจากเปลือกกล้วยยังคาดว่าจะดีกับสุขภาพในระยะยาวมากกว่ายาที่สกัดจากสารเคมีของต่างประเทศอีกด้วย”
ที่มา : นสพ.ฐานเศรษฐกิจ 21 ก.ย.2557