สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า เชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อการรักษาเริ่มแพร่ระบาดหนักแถบพื้นที่ชายแดนของ 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลจากการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดผู้ป่วยมาลาเรีย 1,241 คน พบว่า เชื้อที่ดื้อต่อยาที่ใช้รักษาเดิมได้แพร่ระบาดตามแนวชายแดนด้านตะวันตกและเหนือของกัมพูชา ชายแดนตะวันออกของเมียนมาร์ รวมถึงเวียดนามและไทยด้วย แต่ไม่พบแนวโน้มการดื้อยาในตัวอย่างเลือดที่เก็บจากผู้ป่วยใน 3 ประเทศแอฟริกา ได้แก่ เคนยา ไนจีเรีย และคองโก
ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า อาร์ทิมิซินินยาที่ใช้รักษาในปัจจุบันเริ่มจะด้อยประสิทธิภาพในการรักษาโรคมาลาเรีย ซึ่งแพร่ระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหากเป็นจริงก็จะถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบครึ่งศตวรรษที่เชื้อมาลาเรียสามารถพัฒนาตัวเองจนสามารถต่อต้านยาที่มนุษย์ผลิตขึ้น
โดยในช่วงปี ค.ศ.1950-1970 เชื้อมาลาเรียดื้อยาคลอโรควิน ได้แพร่จากเอเชียไปแอฟริกา จากนั้นได้มีการคิดและผลิตยาตัวใหม่ ซัลฟาด็อกซิน-ไพรีเมธามีน มาใช้แทน แต่ก็มีการดื้อยาอีกครั้ง ก่อนจะมีการพัฒนาที่สกัดจากสมุนไพรจีน ชิงเห่าซู่ เป็นอาร์ทิมิซินินที่ใช้ในปัจจุบัน นิโคลัส ไวท์ อาจารย์ด้านเวชศาสตร์เขตร้อนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า วิธีควบคุมการแพร่ระบาดของมาลาเรียแบบดั้งเดิมไม่อาจเพียงพอแน่ คงต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาด และให้ความสำคัญกับโรคนี้ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้แพทย์ใช้อาร์ทิมิซินินร่วมกับการรักษารูปแบบ
อื่น ๆ ในกรณีผู้ติดเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง ทั้งนี้ หากการรักษาขาดตอน หรือเชื้อยังไม่ถูกกำจัดจนหมด เชื้อที่อยู่ในร่างกายผู้ป่วยจะสามารถกลายพันธุ์และดื้อยาได้.
ที่มา : เดลินิวส์ 2 ส.ค.2557