ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ระบุประเทศไทยจะพบภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงขึ้นทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม แผ่นดินไหว แผ่นดินจมน้ำ หรือแม้แต่หิมะตก เหตุเพราะโลกร้อนขึ้น แนะคสช.เร่งทำแผนรับมือล่วงหน้าทั้งออกกฎกระทรวงใหม่ สร้างเขื่อนขนาดเล็กเพื่อบริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสมอย่างน้อยปี2558ควรมีเริ่มสร้างบางโครงการก่อนจะรับมือไม่ไหว
เพราะสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันมนุษย์กำลังเผชิญกับเหตุภัยพิบัติหลากหลายที่ดูจะรุนแรงกว่าที่เคยถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ รวมถึงประเทศไทยที่เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายอย่างเกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหนัก แผ่นดินไหวรุนแรง หรือแม้กระทั่งคลื่นขนาดยักษ์ที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก
คำถามที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุภัยพิบัติใหญ่ๆ มักจะตามมาว่า หลังจากนี้ประเทศไทยเรามีโอกาสจะพบเจอกับภัยธรรมชาติอะไรใหญ่ๆ อีกหรือไม่ ทำให้เกิดข่าวลือต่าง ๆ ตามมามากมาย กลายเป็นความแตกตื่นจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อให้ประชาชนไม่เกิดความหวาดกลัว หรือวิตกจนเกินไป โดยเฉพาะการนำข้อมูลเชิงวิชาการมาร่วมในการให้ข้อมูล ตอบข้อสงสัยต่างๆ ในขณะนี้
ดร.เสรีชี้ไทยจะพบภัยพิบัติมากขึ้นเพราะโลกร้อนขึ้น
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า คำถามที่ว่าประเทศไทยจะมีภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงอีกหรือไม่ คำตอบที่ชัดเจนก็คือ หลังจากนี้พิบัติภัยทางธรรมชาติในประเทศไทย จะเกิดขึ้นและรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากสภาพทางธรรมชาติของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติจึงเกิดขึ้นมากตามไปด้วย ในช่วงที่ผ่านมาก็พบว่ามีภัยธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์แต่กลับมาเกิดขึ้นในขณะนี้ เช่น กรณีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ จ.เชียงราย สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก หรือเหตุการณ์น้ำท่วม หรือภัยแล้ง ที่รุนแรงขึ้นด้วย สิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องใส่ใจไม่ได้อยู่ที่คำถามว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร แต่ควรจะต้องใส่ใจเรื่องของแผนเตรียมการรับมือมากกว่า
เจอแน่ปีหน้า เอลนิโญ แล้งสุดๆ
ดร.เสรีกล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย จากการคาดการณ์เพื่อประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากสภาพภูมิอากาศที่มีอุณภูมิสูงขึ้นหรือโลกร้อน พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องของปริมาณน้ำฝน ที่หากย้อนกลับไปดูข้อมูลเมื่อ 30 ปีก่อน ก็จะเห็นได้ชัดว่า ปริมาณการตกของฝนเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยตัวแปรสำคัญในปัจจุบันคือ อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นผิดปกติในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า โลกกำลังจะก้าวเข้าสู่สภาพที่เรียกว่าเอลนิโญ ทำให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้นและประเทศไทยเองจะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งมากขึ้นในปีหน้า “จากสถิติต่าง ๆ เราประเมินว่าหลังจากเดือนพฤจิกายน-ธันวาคม ปีนี้ ประเทศไทยจะต้องพบกับสภาวะแห้งแล้งมากยิ่งขึ้น เพราะโลกกำลังจะเดินเข้าสู่การเป็นเอลนิโญด้วย ไทยก็หนีไม่พ้น ซึ่งหากเราไม่เตรียมการรับมือกับเรื่องนี้ ไม่มีน้ำตุนเอาไว้ ปีหน้าอาจจะแย่ ชาวนาไม่สามารถทำนาได้ เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง ที่พูดแบบนี้เราลองไปดูสถิติที่แม้ว่าตอนนี้เราบอกว่ามีฝนตกลงมาหนัก ๆ จนน้ำท่วม แถบจังหวัดภาคตะวันออก เช่น ที่จ.ตราด แต่หากไปดูปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั้งปีกลับพบว่าไม่มีน้ำเลย เพราะฝนตกน้อยมาก เท่ากับว่าน้ำต้นทุนเรามีน้อยไปด้วย ดังนั้นตอนนี้ต้องเตรียมน้ำ เพื่อจะเก็บไว้ใช้ปีหน้าไม่อย่างนั้นเราจะต้องเผชิญกับภัยแล้งที่ไม่มีน้ำใช้จะทำให้ลำบากมาก” ดร.เสรีกล่าว
สอดคล้องกับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ระบุว่า จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา โดยวิเคราะห์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งในระบบบรรยากาศ และในมหาสมุทรที่เกิดขึ้น ล่าสุดคาดหมายว่า จะมีการพัฒนาไปเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงกันยายน แม้สภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยในช่วงฤดูฝนนี้ แต่ขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่น ๆ ของฤดูกาล แต่หลังจากนี้ปรากฎการณ์เอลนีโญอาจจะส่งผลถึงปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยเช่นกัน “ถ้าตอนนี้ดูจากปริมาณน้ำสะสม เรามีเพียงประมาณ 14,000 ล้านลบ.ม.นี่เพียงครึ่งปีเท่านั้น และเท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ฝนตกแล้วทิ้งช่วงไปตกอีกครั้งเดือนสิงหาคม จนถึงเดือนกันยายน และตุลาคม เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนก็จะหายไปแล้ว เท่ากับว่าตอนนี้เราได้ฝนเดือนเดียวคือเดือนสิงหาคม ดังนั้นเราจะเก็บน้ำอย่างไรเพื่อให้ชาวนามีน้ำใช้ในปีหน้า”
หากพิจารณาจากข้อมูลสถิติทั้งหมด จึงน่าจะคาดการณ์ได้ว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่คนไทยจะต้องพบอย่างแน่นอนน่าจะเป็น “ภัยแล้ง” ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้อีกไม่กี่เดือน
น้ำท่วมหนักยังไม่เจอเร็วๆ นี้ แต่มาแน่อีก 2 ปี
สำหรับเรื่องน้ำท่วมใหญ่ ดร.เสรีกล่าวว่า ถึงแม้หลังจากนี้จะต้องเตรียมตัวรับมือกับเรื่องภัยแล้ง แต่สถานการณ์น้ำท่วมก็เป็นเรื่องที่ทิ้งไม่ได้ เพราะประเทศไทยจะต้องเผชิญภัยพิบัติสองเรื่องนี้มากที่สุดจึงต้องเตรียมการเช่นกัน เพราะหากดูจากปัจจัยต่างๆ ในปีที่มีฝนตกหนักมาก น้ำทะเลหนุนสูง ในขณะที่แผ่นดินในกรุงเทพฯ ทรุดตัวลง ผังเมืองที่เลวร้าย เมื่อใช้แบบจำลองดูก็จะพบว่า เราจะยังเผชิญน้ำท่วมใหญ่อยู่ แต่ไมใช่ใน 1-2 ปีนี้ โดยกลุ่มของจังหวัดภาคกลางทั้งหมด มีความเสี่ยงสูงมาก และหากไม่มีแผนการรับมือเชื่อแน่ว่าจะมีปัญหา และการมีแผนรองรับก็ต้องดูด้วยว่า เมื่อมีน้ำปริมาณมากจะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อที่จะเก็บน้ำเหล่านั้นไว้ใช้ในช่วงที่เกิดความแห้งแล้ง หรือจะปล่อยลงทะเลไป นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านที่มีปัญหา “เรื่องของแผนจัดการน้ำต้องมี จะทำแค่นี้ไม่พอ แต่ต้องดูทั้งระบบไปเลย แต่ตอนนั้นไม่มีใครฟัง ความขัดแย้งจึงรุนแรง เพราะไม่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชน ตอนนั้นผมเสนอให้หยุดทบทวนเพราะทำไปไม่ได้แล้ว แต่ไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ ตอนนี้เราเสนอเรื่องนี้ไปกับคสช.อีกครั้ง เพื่อให้เตรียมการเรื่องนี้ ใช้เวลา 6 เดือนหลังจากนี้ ทบทวนว่าจะทำอะไร ก่อนหลังอย่างไรบ้าง แล้วเริ่มทำอีกครั้งในปีหน้า แต่เห็นว่า คสช.จะหยุดเรื่องนี้ และยังไม่รู้ว่าใครจะมาดูเรื่องนี้ และจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ผมว่าหยุดไม่ได้เพราะภัยพิบัติจะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จากการคาดการณ์ โลกเปลี่ยนแปลงไปเราก็หวังว่า คสช.จะให้ความสำคัญเรื่องนี้ด้วย” ดร.เสรีกล่าว พร้อมระบุว่า
ตอนนี้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ปีหน้าประเทศไทยจะพบภัยแล้ง อย่างน้อยจะต้องวางแผนว่าข้าวในปีหน้า นาปรังฤดูแรกชาวนาจะทำนาไม่ได้เพราะน้ำไม่พอ จะปรับเปลี่ยนให้ไปประกอบอาชีพอะไร หรือเปลี่ยนพันธุ์พืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องเริ่มวางแผนและคุยกัน ตอนนี้ในการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน สามารถรู้ล่วงหน้าแม่นยำได้ประมาณ 3 เดือนล่วงหน้า มาถึงตอนนี้เดือนมิถุนายน ก็สามารถมองออกได้แล้วว่าต้นปีน้ำจะเป็นอย่างไร ซึ่งพบว่าไม่ดีนัก จึงยืนยันว่า ปีหน้าประเทศไทยจะต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งอย่างแน่นอน ส่วนน้ำท่วมจะยังไม่เกิดขึ้นในระยะนี้
เสนอคสช.เตรียมทำแผนรองรับที่เหมาะสม
เมื่อพบว่าปัญหาภัยพิบัติทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมกำลังจะเกิดขึ้นสลับกันไปมาเช่นนี้ สิ่งที่ ดร.เสรีเสนอก็คือ คสช.ไม่ควรจะหยุดโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำ จึงเสนอว่าคสช.ควรจะนำรายละเอียดข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ไปทบทวนและดูว่าควรจะทำอะไรได้บ้าง ทำโครงการที่เหมาะสม งบประมาณ และรูปแบบที่เหมาะสม ภาคประชาชนมีส่วนร่วมทุกฝ่ายจะต้องกลับมาคุยกัน เพื่อเตรียมแผนรองรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในขณะนี้ “สำหรับเรื่องของการคัดค้าน จากที่พูดคุยกับกลุ่มภาคประชาชน เอ็นจีโอต่าง ๆ เขาก็ไม่ได้ค้านอย่างไม่ลืมหูลืมตา เช่น เขื่อนแม่วงก์ก็จำเป็นต้องทำ แต่ลดระดับลงมาเพื่อให้คนในพื้นที่แม่วงก์ไม่แห้งแล้งและมีน้ำใช้ แต่ไม่ใช่ไปสร้างขนาดใหญ่แล้วบอกว่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ถูกต้องอยู่แล้ว หรือกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น ถ้าไม่ทำก็ต้องทำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ เพื่อจะเก็บน้ำไว้ใช้ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สามารถบอกได้ว่า เราจะต้องเก็บน้ำเท่าไหร่เพื่อให้เพียงพอ ที่ผ่านมาข้าราชการน่าจะมีประสบการณ์แล้วในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ที่จะต้องคิดการบ้านเองไม่ต้องรอให้การเมืองมาสั่งการ เพราะนักการเมืองจะสั่งการแก้ปัญหาสั้นๆ แต่คนที่มีข้อมูลอยู่จะต้องบอกว่าควรจะทำอย่างไร ไม่ใช่ไม่เสนออะไร การเมืองสั่งมาก็ทำไปก็จะเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอยู่ปัจจุบันประเทศไทย จะเผชิญปัญหารุนแรงอยู่ด้วย ดังนั้นจะต้องมีแผนรับมือ หยุดไม่ได้เพราะหากหยุดเราเองจะลำบาก เพราะโลกร้อนขึ้นทุกวัน ภัยพิบัติก็จะรุนแรงขึ้นด้วย อยู่ที่ว่าเราจะอยู่กับมันได้อย่างไรไม่ให้เดือดร้อนเท่านั้น” ดร.เสรีกล่าว
แผ่นดินไหวจะเกิดบ่อยขึ้น ต้องเตรียมแผนรับมือมากกว่าตื่นตระหนก
ส่วนเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือ สึนามิ ที่หลายคนหวาดกลัวมากว่าอาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทยและอาจจะเกิดความรุนแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้น ดร.เสรีกล่าวว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว ไม่ได้อยู่ห่างไกลกับคนไทยอีกต่อไปแล้ว เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของโลกทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน และโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย จากสถิติพบว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่มาเกิดขึ้นจนทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน และเหตุการณ์แผ่นดินไหวก็เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการเตรียมแผนรับมือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ไปให้ความรู้เรื่องของการก่อสร้างบ้านเรือน มีการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้านเรือน เพื่อให้เหมาะสมกับการรับมือเหตุแผ่นดินไหวด้วย ซึ่งมองว่าตอนนี้นโยบายเกี่ยวกับเรื่องของการสนับสนุน ให้ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติกับประชาชนในระดับนโยบายยังไม่มี “ตอนนี้หลังเกิดเหตุ มีแต่ความหวาดกลัวชาวบ้านเองเดือดร้อน และตื่นตระหนกเขาไม่รู้ว่าควรจะก่อสร้างบ้านเรือนอย่างไรให้เหมาะสม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดูไปให้ความรู้ เพราะไม่เช่นนั้น จะทำให้เกิดความหวาดกลัว ไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร เช่นเดียวกับการเกิดคลื่นใหญ่ ข่าวลือต่างๆ เกิดขึ้นมาก จึงอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องของแผนรับมือมากกว่าการต้องการคำตอบ การคาดการณ์หรือการทำนายว่าอะไรจะเกิดขึ้นจนกลายเป็นข่าวลือที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนก”
ส่วนปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เช่น เมฆลักษณะแปลกๆ ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงนี้ ดร.เสรีกล่าวว่า สาเหตุเกิดจากสภาพทางธรรมชาติของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อโลกร้อนขึ้นทำให้สภาพอากาศแปรปรวน อุณหภูมิของแผ่นดินสูงขึ้น มีความร้อน ขณะเดียวกันอุณหภูมิของมหาสมุทรก็มีความแตกต่างกันมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงผิดปกติ มาปะทะกับอุณหภูมิที่เย็นผิดปกติ จึงทำให้เกิดสภาพอากาศที่แปลกๆ ได้ โดยเฉพาะเมฆแปลกๆ ชนิดต่างๆ ที่ส่วนใหญ่จะพบว่าในประเทศไทยมักเกิดในพื้นที่ภาคอีสาน เพราะอุณหภูมิของแผ่นดินกับสภาพอากาศแตกต่างกันมาก ปรากฎการณ์จำนวนมากจึงเกิดขึ้นได้นั่นเอง
ส่วนประเทศไทยมีโอกาสจะเกิดหิมะตกหรือไม่ จากสภาพของภูมิอากาศก็ถือว่าเป็นไปได้แต่ก็น้อยมาก หากจะเกิดน่าจะเกิดบนภูเขาสูงมากว่า เพราะอุณภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นจะไปทำลายระบบหมุนเวียนอากาศของโลก ทำให้เกิดวงขั้วโลกเปลี่ยนแปลง จากวงใหญ่แตกเป็นวงเล็ก เช่น ที่สหรัฐอเมริกามีอากาศหนาวผิดปกติ นั่นคงวงหมุนไปที่สหรัฐอเมริกาแต่หากมาเกิดที่บริเวณประเทศจีน ไทยเราก็มีโอกาสจะเจอแต่ก็น้อยมาก เพราะเราอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แม้จะมีโอกาสเกิดหิมะแต่น้อยจริงๆ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงแน่นอนคือฤดูกาลในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไป เราจะมีฤดูร้อนมากขึ้น มีฝนมากขึ้น แต่ฤดูหนาวกลับจะสั้นลง
ภัยพิบัติเร่งด่วนในไทย น้ำท่วม-ภัยแล้ง-แผ่นดินจมน้ำ-แผ่นดินไหว
อย่างไรก็ตาม ดร.เสรีระบุถึงสิ่งที่น่าห่วงเร่งด่วนสำหรับประเทศไทยขณะนี้มี 3 ประเด็นคือ ผลกระทบที่จะมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประเทศไทยจะต้องประสบทั้งน้ำท่วม และภัยแล้ง ที่รัฐบาลจะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ต่อไปและตลอดไป
ประการต่อมาคือ สภาพของน้ำทะเลที่มีระดับสูงขึ้น แผ่นดินของกรุงเทพฯ ทรุดลง อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น มีโอกาสทำให้เกิดพายุรุนแรงขึ้น น้ำทะเลสูงขึ้น อาจทำให้เมืองที่อยู่ใกล้ทะเลเช่น กรุงเทพฯ ได้รับความเสียหาย “มีคนถามว่าอีกกี่ปีกรุงเทพฯ จะจมน้ำ หากคิดทางแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ พบว่าตอนนี้เราอยู่เหนือจากน้ำทะเล 0.5 เมตร แต่น้ำทะเลสูงขึ้น 1-2 เซนติเมตรต่อปี ดังนั้นอีก 25 ปี พื้นดินกรุงเทพฯ จะปริ่มน้ำทะเล และถ้านับไปอีก 50 ปี น้ำทะเลจะสูงขึ้นเป็น 1 เมตร ดังนั้นหลังจากนี้ 50 ปีบางส่วนของกรุงเทพฯ จะจมน้ำ” ดร.เสรีกล่าว และว่า สำหรับประเด็นที่สาม ที่จะต้องเตรียมรับคือการเตรียมรับกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งจะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่อย่างปลอดภัยกับภัยพิบัติ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ที่มา : ชุลีพร บุตรโคตร
ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง TCIJ 27 มิถุนายน 2557