เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ขวางผู้ประกอบการสารเคมีที่ขอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ยันต้องไม่มีพิษเฉียบพลัน ระยะยาวไม่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่สมาคมขายสารเคมีเกษตรของคนไทยชี้ การขึ้นทะเบียนสารเป็นเพียงหนึ่งในขั้นตอนการใช้ให้ปลอดภัย ระบุร้านค้าต้องแนะนำการใช้ให้ถูกต้อง
จากกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณาและมีมติให้เปลี่ยนระดับ การควบคุมสารเคมี 2 ชนิดคือ อีพีเอ็นกับไดโครโตฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ใน ครอบครอง ส่วนอีก 2 ชนิดคือ คาร์โบฟูราน และเมโทมิล ได้ปรับระดับจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็น 4 ยกเว้นสารเมโทมิลสูตร 40% SP และสารคาร์โบฟูรานสูตร 3% GR ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ยังสามารถใช้ในการเกษตรได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร ก่อนนั้น
ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้ทำ ประชาพิจารณ์อีกครั้งหนึ่งก่อนประกาศขึ้นทะเบียน โดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีและตัวแทนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เปิดเผยว่า ภาครัฐต้องมีหลักเกณฑ์และกระบวนการแบนสารเคมี ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้สารและ ผู้บริโภค โดยหลักเกณฑ์ที่ควรแบนทั้งห้ามนำเข้า ห้ามใช้คือ 1.ความมีพิษเฉียบพลัน 2.มีผลต่อสุขภาพระยะยาวและต้องสัมพันธ์กับมาตรฐานที่สหภาพยุโรป (อียู) ใช้ 3.มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและตกค้างยาวนาน
กระบวนการขึ้นทะเบียน ผู้นำเข้าและจำหน่ายขอทดสอบสารคาร์โบฟูรานในการปลูกดาวเรืองก่อนขึ้นทะเบียน แต่ส่วนใหญ่ เกษตรกรนำไปใช้ในนาข้าวเพื่อกำจัดแมลง ทั้งที่กรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตให้ใช้ ถือว่าไม่ปลอดภัย ถ้ามีเอกสารที่ส่งโดย ผู้ประกอบการมาให้รัฐ ต้องมีการยกเครื่องโดยใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์พิสูจน์ ควรโปร่งใสในการขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ภาครัฐ ควรมีการควบคุมการโฆษณาให้ถูกต้อง และสารคาร์โบฟูรานและเมโทมิล ภาครัฐ ยังไม่ขึ้นทะเบียน ปัจจุบันยังมีสินค้าวางจำหน่ายในท้องตลาด ทั้งที่นำเข้า ครั้งสุดท้ายเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า สารเคมี 406 ชนิด มีสารเคมีถึง 155 ชนิดที่ได้คะแนนต่ำ และมี 14 ชนิดที่ควรยกเลิกการใช้ในประเทศไทยที่ผ่านมา จากการออกตรวจสอบสารตกค้างในผักผลไม้ในตลาดสดและห้างค้าปลีกหลายแห่งของมูลนิธิ ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และตำรวจ ยังมีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน (MRL) มกอช. ถึง 44% ทั้งในคะน้า ผักชี กะเพรา ส้มจีน ฝรั่ง แตงโม และแอปเปิล แม้แต่ผักผลไม้ที่มีตรา Q-GAP ที่วางจำหน่ายในห้างค้าปลีก
หากยังมีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ควรแจ้งความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร เนื่องจากมีการประชุมร่วมกับห้างค้าปลีกและสมาคมตลาดไทยแล้ว
ดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า ในปี 2557 คาดว่าไทยจะนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประมาณ 175,000 ตัน แยกเป็นสารกำจัดวัชพืช 140,000 ตัน สารกำจัดแมลง โรคพืชโรครา ฮอร์โมนและอื่น ๆ 35,000 ตัน มากกว่าปี 2556 ที่นำเข้า 172,672 ตัน มูลค่า 24,367 ล้านบาท สาเหตุที่ไทยนำเข้าสูง เนื่องจากไทยเป็นประเทศอยู่ในเขตร้อนชื้น หญ้าและแมลงเติบโตดี ขยายพันธุ์ ได้เร็วกว่าประเทศแถบยุโรป และจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานการใช้สารกำจัดวัชพืชจะดีกว่าการใช้แรงงานคน
“การใช้มากใช้น้อยไม่สำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้มีการใช้ถูกต้อง ทำเกษตรปลอดภัย ใครจะทำแบบไหนก็ได้ การแก้ปัญหาด้วยการขึ้นทะเบียนสารเคมีเป็นเพียงหนึ่งในขั้นตอน เพื่อให้เกิดการใช้สารถูกต้อง ในมาเลเซียร้านขายเคมีเกษตรจากเดิมที่มีอยู่ 7,000 ร้าน ก็ลดลงเหลือ 3,000 ร้าน เพราะตกมาตรฐานที่รัฐบาลมาเลเซีย กำหนดไว้สูงขึ้น ซึ่งร้านค้าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแนะนำเกษตรกรใช้สารที่ถูกต้อง”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 12 มิ.ย.2557