สธ.เผยคนไทยป่วยสุขภาพจิตถึง 9 ล้านคน แต่เข้าถึงการรักษาเพียง 1 ล้าน ระบุอีก 8 ล้านคนเสี่ยงอาการกำเริบรุนแรงขึ้น ระบุโรคจิตเภทเข้าถึงบริการเกือบครึ่ง โรคซึมเศร้ารักษา 33% ออทิสติกแค่ 10% ถือว่าต่ำมาก เร่งจัดระบบบริการสุขภาพจิตทุกระดับครอบคลุมทุกสิทธิ
(15 พ.ค.) ที่โรงแรม อมารี แอร์พอร์ต กทม. นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดประชุมบุคลากรสาธารณสุข พระ ภิกษุ ผู้นำชุมชน อสม. องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ในงานวิชาการสุขภาพจิตระดับชาติ ปี 2557 ภายใต้หัวข้อ “ผู้ป่วยจิตเวช รักษาได้ทุกที่ บริการดีทุกสิทธิ์” ว่า ผลการสำรวจระดับชาติปี 2556 พบคนไทยร้อยละ 14 หรือ 9 ล้านกว่าคนมีปัญหาสุขภาพ จิต
ขณะที่ผลสำรวจขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ประชากร 4 คนจะมีผู้มีปัญหาสุขภาพจิต 1 คน และอีก 2 คนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น ครอบครัว เป็นต้น ส่วนการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตยังคงมีน้อย เนื่องจากอาย ไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นคนบ้า หรือไม่กล้าพาผู้ป่วยออกนอกบ้านเพราะกลัวจะทำร้ายคนอื่น ทำให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงบริการตรวจรักษาเพียงร้อยละ 11 หรือประมาณ 1 ล้านคน อีกกว่า 8 ล้านคนไม่ได้รับการรักษา ทำให้อาการกำเริบรุนแรงขึ้น ทั้งที่หากให้ยารักษา ควบคุมอาการก็มีโอกาสหายขาดได้
นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า ปี 2557 สธ.กำหนดให้ 12 เขตบริการสุขภาพจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการจิตเวชในสถานบริการของ สธ.ทุกระดับทุกแห่งมาตรฐานเดียวกัน ผู้ป่วยจิตเวชและผู้ที่มีปัญหาทุกสิทธิ์สามารถเข้าถึงบริการ มีการจัดคลินิกจิตเวชแยกเฉพาะ เพื่อให้บริการเป็นสัดส่วน พร้อม จัดทำบัญชียาจิตเวชที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน 35 รายการแยกเฉพาะออกมา เพื่อให้โรงพยาบาลบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น เพิ่มเตียงผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ส่วนระดับชุมชน จะเน้นการส่งเสริมสุขภาพ จิต ตามกลุ่มวัยต่างๆ ทั้งกลุ่มปฐมวัย เน้นตรวจพัฒนาการ กลุ่มวัยเรียน เน้นไอคิว อีคิว กลุ่มวัยรุ่น เน้นปัญหาพฤติกรรม และกลุ่มวัยทำงานผู้สูงอายุ ผู้พิการ เน้นการป้องกันโรคซึมเศร้า
ด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปี 2556 ผู้ป่วยโรคจิตที่พบมากที่สุดคือ โรคจิตเภทแต่ได้รับการรักษาเพียงร้อยละ 48 หมายความว่ามีผู้ป่วยเพียงครึ่งเดียวที่ได้รับการรักษา บางรายถูกล่ามโซ่ เป็นคนเร่ร่อน ขณะที่โรคซึมเศร้าได้รับการรักษาร้อยละ 33 ส่วนผู้ป่วยจิตเวชเด็ก เช่น เด็กออทิสติก ได้รับการรักษาเพียงร้อยละ 10 ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับโรคทางกาย นอกจากนี้ ยังพบเด็ก 0-5 ปี มีพัฒนาการช้าถึงร้อยละ 30 และพบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่สูงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาขาดแคลนทรัพยากรและบุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวช โดยมีจิตแพทย์ 586 คน หรือ 0.91 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งตามความเป็นจริงควรจะมี 1,307 คน หรือ 2.03 คนต่อประชากร 100,000 คน พยาบาลจิตเวชมี 1,918 คน ขณะที่ความต้องการอยูที่ 6,249 คนหรือเฉลี่ย 9.72 คน ต่อประชากร 100,000 คน จึงต้องมีการพัฒนาบุคลากรสาขานี้อย่างเป็นระบบ ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 พ.ค.2557