รศ.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การใช้แร่ใยหินของประเทศต่างๆ ของเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งเอเชีย (A-BAN) ภายหลังจากมีงานวิจัยของประเทศต่างๆ ชี้ชัดว่า แร่ใยหินแอสเบสตอสทำให้เกิดโรคในระบบทางหายใจ เช่น มะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด หรือโรคใยหิน (asbestosis) จนทำให้หลายประเทศยกเลิกการใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น ล่าสุด พบว่าในอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ ได้ประกาศฉบับใหม่เพื่อให้การทิ้งอุปกรณ์ที่มีแร่ใยหินปลอดภัยมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2557 โดยมาตรการต่างๆ นี้จะให้ประโยชน์ทั้งต่อคนงานและสาธารณชน หลังจากที่สภาสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน และกระทรวงแรงงานมนุษย์ได้หารือแนวทางร่วมกัน
รศ.ภก.วิทยา กล่าวว่า สำหรับกฎระเบียบที่สิงคโปร์จะบังคับใช้กำหนดว่า ถ้าพบว่ามีแร่ใยหิน บริษัทต่างๆ จะต้องมีแผนงานที่เหมาะสมในการจัดการกับแร่ใยหินนั้น ซึ่งรวมถึงมีแผนการประเมินความเสี่ยงด้วย อีกทั้งบริษัทจะต้องแจ้งกระทรวงแรงงานมนุษย์อย่างน้อย 7 วัน ก่อนเริ่มงานที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน โดยอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2534 อาจมีวัสดุประกอบแร่ใยหินในกระเบื้องลูกฟูก ฝ้าเพดาน กระเบื้องปูพื้นและฝาผนัง ซึ่งถ้าพบว่ามีแร่ใยหินอยู่ในอาคารใด ผู้ที่จะสามารถขจัดแร่ใยหินออกก็คือผู้รับเหมาและคนงานที่ได้รับอนุมัติเท่านั้น และหากมีการละเมิด จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 เหรียญ หรือ 500,000 บาท และจำคุก 24 เดือน ซึ่งเป็นแนวทางป้องกันสุขภาพของประชาชนอย่างหนึ่ง
รศ.ภก.วิทยา กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย แผนงาน คคส.ร่วมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.เชียงราย สมาคมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย ได้ส่งเสริมพื้นที่ที่มีความพร้อมในการจัดการกับปัญหาแร่ใยหิน โดยเฉพาะในการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหิน โดยได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งในเชียงราย ประกอบกับความร่วมมือของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล อีกจำนวน 18 แห่ง ในการออกเทศบัญญัติว่าด้วยการรื้อถอนอาคาร เพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชนในท้องถิ่นให้ปลอดภัยจากแร่ใยหิน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 1 แห่ง คือเทศบาลตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง
“แผนงาน คคส.ยังได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ไม่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินให้ดำเนินการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคโดยการติดคำแนะนำขั้นตอนในการรื้อถอนวัสดุที่มีแร่ใยหิน ลงบนฉลากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทซึ่งถือเป็นบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย ในระหว่างที่มาตรการในระดับประเทศยังไม่มีการออกกฏระเบียบที่มีผลทางกฎหมาย และยังต้องรอท่าทีที่ชัดเจนของกระทรวงสาธารณสุขที่จะมีผลต่อท่าทีของกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป” รศ.ภก.วิทยา กล่าว
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 ก.พ.57