แอฟลาทอกซิน (Aflatoxins) เป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราที่มักปนเปื้อนอยู่ในผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปทุกชนิดที่ใช้ผลิตผลเกษตร ที่มีแอฟลาทอกซินปนเปื้อนเป็นวัตถุดิบในการผลิต แอฟลาทอกซิน เป็นสารพิษที่มีความรุนแรงเมื่อได้บริโภคสู่ร่างกายแม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกิดพิษ ยิ่งสะสมนานวันเข้าสารพิษจากเชื้อราชนิดนี้จะเป็นสารก่อมะเร็งตับ นอกเหนือจากการเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้ว สารแอฟลาทอกซิน ยังเป็นเงื่อนไขหรือเครื่องกีดกันทางการค้าในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศด้วย
ดร.อมรา ชินภูติ นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สารแอฟลาทอกซินเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา ตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรทุกชนิด โดยเฉพาะพวกที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันและโปรตีนสูง เช่น ถั่วลิสง พริกแห้ง พริกป่น ข้าว ข้าวโพด งา ลูกเดือย เม็ดแมงลัก รวมถึงเมื่อนำผลิตผลดังกล่าวไปแปรรูปสารพิษก็จะตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วย เนื่องจากสารพิษชนิดนี้ทนต่อความร้อนมาก วิธีการหุงต้มทั่วไปไม่สามารถทำลายได้ ต้องใช้ความร้อนที่ 260 องศาเซลเซียสขึ้นไปจึงจะทำลายได้ ที่สำคัญสารแอฟลาทอกซินไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ทำให้ไม่สามารถทราบว่าผลิตผลทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีอยู่นี้มีสารพิษตกค้างหรือไม่ จะทราบได้เมื่อมีการตรวจวิเคราะห์เท่านั้น ถ้าผู้บริโภค ได้รับสารพิษสะสมไปเรื่อยจะก่อให้เกิดเป็นมะเร็งตับได้ หรือในกรณีได้รับสารพิษครั้งเดียวในปริมาณที่เกินขีดความสามารถที่ร่างกายจะรับได้ก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ทันที
ด้วยความเป็นพิษที่รุนแรงเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ของสารแอฟลาทอกซิน โดยเฉพาะชนิด B
1 ทำให้นานาประเทศต่างกำหนดค่าการปนเปื้อนของสารแอฟลาทอกซิน ในผลิตผลเกษตรหรือในอาหารแตกต่างกันไป เช่น กระทรวงสาธารณสุขไทย กำหนดว่ามีสารแอฟลาทอกซินปนเปื้อนได้ไม่เกิน 20 พีพีบี (20 ส่วนใน 1,000 ล้านส่วน) ขณะที่ประเทศในยุโรป กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 8 พีพีบี ญี่ปุ่น ยอมให้มีได้ไม่เกิน 10 พีพีบี เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเทศนั้นๆ กำหนดว่าประชาชนของ เขามีโอกาสหรือมีความ เสี่ยงที่จะได้รับสารพิษชนิดนี้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันที่มีการค้าเสรี หลายประเทศจึงได้ยกเรื่องสารแอฟลาทอกซิน มาเป็นตัวกีดกันทางการค้า ถ้า ประเทศผู้ส่งออกไม่สามารถปฏิบัติตาม ข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าก็จะเสียเปรียบ
วิธีการตรวจสอบสารแอฟลาทอกซินโดยทั่วไปตามหลักมาตรฐานสากลจะใช้วิธีทางเคมี ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย เครื่องมือมีราคาแพงและวิธีการค่อนข้าง ซับซ้อน การตรวจวิเคราะห์ค่าตัวอย่างหนึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 บาท อีกทั้งใช้เวลานานจึงจะทราบผลซึ่งอาจไม่ทันต่อสถานการณ์ กรมวิชาการเกษตรตระหนักถึงปัญหาความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค ตลอดจนปัญหาด้านการส่งออกสินค้าเกษตร จึงมีนโยบายให้พัฒนาวิธีการตรวจสอบสาร แอฟลาทอกซิน ที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว แม่นยำและเป็นที่ต้องการของผู้ส่งออกหรือผู้ประกอบการที่จะนำสินค้าไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เนื่องจากทุกคนต้องการความรวดเร็วเพราะทุกนาทีคือต้นทุน และยิ่งถ้าได้การวิเคราะห์ผลที่มีต้นทุนต่ำด้วยก็จะดี
ดร.อมรา กล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ได้ทดลองวิธีการที่นักวิจัยทั่วโลกหันมาใช้ เป็นวิธีทางภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunoassay) วิธีการใหม่ที่รวดเร็ว ให้ผลดี ประสิทธิภาพเทียบเท่าวิธีทางเคมี โดยคณะวิจัยได้ทำการคิดค้นทดลองเป็นเวลา 4-5 ปี จนกระทั่งพัฒนาเป็นชุดตรวจสอบสำเร็จรูป ภายใต้ชื่อว่า DOA-Aflatoxin ELISA Test Kit ซึ่งวิธีนี้ปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติ ต้นทุนต่ำ ที่สำคัญใช้เวลาวิเคราะห์เพียง 30 นาทีก็ทราบผล สะดวกต่อการนำไปใช้ตรวจวิเคราะห์คัดกรองวัตถุดิบก่อนการส่งออกหรือนำไปแปรรูปเป็นอาหารคนหรืออาหารสัตว์ได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดตรวจสอบสารแอฟลาทอกซิน สำเร็จรูปให้กับภาคเอกชนนำไปต่อยอดผลิตในเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว และมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย สามารถแก้ปัญหา การปนเปื้อนสารแอฟลาทอกซินในสินค้าเกษตรสำหรับการส่งออกและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี
แม้ว่า สารแอฟลาทอกซินจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่สามารถป้องกันได้ ส่วนของเกษตรกรก็สามารถทำได้โดยดูแลรักษาผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ควรเก็บผลผลิตในที่แห้งไม่มีความชื้น เพราะความชื้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตและสร้างสารพิษทิ้งไว้ ส่วนผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตก็ควรตรวจสอบคัดกรองผลผลิตไม่ให้มีสารพิษ ปนเปื้อน เท่านี้ก็จะช่วยให้ผลผลิตเกษตรหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ มีคุณภาพ ปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่สินค้าจะถูกตีกลับหรือถูกกีดกันจากประเทศปลายทาง
ที่มา : แนวหน้า 20 ม.ค.57