ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ โดยเฉพาะตัวเลขผู้บาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 3 ของโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุยอดผู้เสียชีวิตของประเทศไทย สูงถึง 26,000 คน หรือคิดเป็นอัตราตาย 38.1 คนต่อประชากรแสนคน
ล่าสุดงานสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 11 หัวข้อ “สิทธิกับความปลอดภัยทางถนน”(Rights & Road Safety) จัดโดยภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ประกอบด้วยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และภาคีป้องกันอุบัติเหตุ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เสนอทางออกปัญหาดังกล่าว
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกถึงปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บ พิการ หรือตาย ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องหาคนรับผิดชอบ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะนั้นจะต้องมีการแก้ไขอย่างจริงจัง
งานวิจัยของทีดีอาร์ไอ เกี่ยวกับสิทธิ ความปลอดภัย ของผู้โดยสาร รถโดยสารสาธารณะพบว่า ปัญหาของผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงสิทธิที่พึงได้รับในการรักษาพยาบาลและการชดเชยต่างๆ ซ้ำร้ายผู้ประกอบการและบริษัทประกันภัย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการ มักเอารัดเอาเปรียบผู้ประสบเหตุ โดยเฉพาะการเสนอเงินชดเชยที่น้อยกว่าความเป็นจริง
ทั้งนี้ แนวทางแก้ไขปัญหาที่สำคัญจำเป็นต้องสร้างระบบ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการ บริษัทประกันภัย และพนักงานขับรถ เข้ามาร่วมกันรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ดร.อัมมาร บอกว่าแม้ว่ารถโดยสารสาธารณะทุกคันจะต้องทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือประกันภาคบังคับ โดยจะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประสบเหตุที่เสียชีวิต 200,000 บาท ขณะที่ข้อเสนอจากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ที่เสนอว่ารถโดยสารสาธารณะต้องทำประกันภาคสมัครใจ โดยให้กำหนดวงเงินคุ้มครองขั้นต่ำไว้ที่ 500,000 บาท ส่วนตัวก็ยังมองว่าต่ำเกินไป อยากเสนอให้ตั้งวงเงินชดเชยไว้ที่ 7,500,000 บาท โดยไม่ต้องมีการต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากชัดเจนว่าผู้โดยสารไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด
“การตั้งวงเงินชดเชยที่ค่อนข้างสูงนี้ เป็นการดึงเอาบริษัทประกันภัยซึ่งเป็นผู้จ่ายเงิน เข้ามาเป็นตัวกลางในการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของผู้ประกอบการ เมื่อบริษัทประกันมีส่วนเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุ จะยิ่งทำให้กระบวนการตรวจสอบมาตรฐานมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ดร.อัมมาร สะท้อนว่า ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบก ตั้งหน่วยงานรัฐวิสหากิจขึ้นมา 2 แห่ง เพื่อให้บริการรถโดยสารสาธารณะแก่ประชาชน คือ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งผูกขาดการให้บริการ แต่เนื่องจากไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุม จึงได้มีการให้สัมปทานกับผู้ประกอบการรถเอกชนเข้ามาร่วมบริการ เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงไม่ชัดเจนว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบและโดนลงโทษ
ซึ่งประเด็นนี้แม้ว่าภาครัฐมองว่าผู้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่สามารถลงโทษถึงขั้นยกเลิกเส้นทางเดินรถได้ เนื่องจากประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกันที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่าผู้ประกอบการรถร่วมบริการส่วนใหญ่นั้น ให้ความใส่ใจในเรื่องมาตรฐานรถน้อยมาก
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกถึงสถานการณ์อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2554 ถึง 22 พ.ย. 2556 พบว่า รถตู้ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด ถึง 96 ครั้ง มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 853 ราย รองลงมาคือรถโดยสารปรับอากาศ 88 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตถึง 2,152 ราย รถโดยสารนำเที่ยว 45 ครั้ง ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 1,174 ราย รถโดยสารระหว่างจังหวัด 24 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 471 ราย รถโดยสารประจำทาง 23 ครั้งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 119 ราย รถรับส่งพนักงาน 20 ครั้ง ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 297 ราย และรถแท็กซี่ 5 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 11 ราย
ทั้งนี้ สาเหตุที่ผู้บริโภคต้องเข้ามาจับตาเฝ้าระวัง ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้โดยสารถูกละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนใช้บริการ ระหว่างใช้บริการ และหลังใช้บริการ ขณะเดียวกันความสูญเสียของผู้โดยสารยังคงมีต่อเนื่อง ซึ่งช่องทางที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการรองรับความต้องการของผู้บริโภค เพราะส่วนใหญ่เป็นช่องทางของหน่วยงานรัฐ หรืออาจเข้าถึงการบริการได้ยากและไม่สะดวก
นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านสิทธิของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ครอบคลุม เช่น การใช้สิทธิรักษาพยาบาลหลังเกิดเหตุ จาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่สำคัญการดำเนินงานของภาครัฐไม่ได้เปิดช่องให้ผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วม
“สำหรับข้อเสนอทางนโยบายเห็นว่า รัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกิดหารพัฒนาระบบงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งระบบการป้องกัน การเฝ้าระวัง การร้องเรียน และระบบการชดเชยเยียวยาความเสียหาย ขณะเดียวกันหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ควรนำข้อมูลทางวิชาการมาใช้พัฒนามาตรการทางกฎหมาย รวมทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน”
นพ.แท้จริง ศิริพานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่าจากข้อมูลที่ระบุว่าคนไทยเสียชีวิตบนท้องถนน วันละ 70 คน นั้น ถือเป็นความสูญเสียที่เปรียบเทียบได้กับอุบัติเหตุเครื่องบิน 1 ลำ ตกทุกหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งประเด็นสำคัญของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะคือ ผู้เสียชีวิตไม่ใช่ผู้กระทำ ได้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยแทบจะไม่มีสิทธิความปลอดภัยบนท้องถนน และแม้ตัวเลขการเสียชีวิตจะสูงมาก แต่ก็ดูเหมือนว่าหน่วยงานราชการยังคงเพิกเฉยต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ที่ในแต่ละปีหากมีอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนน สูงกว่า 5 คน ต่อประชากรแสนคน จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
“ความตายอยู่ใกล้คนไทยทุกคนขนาดนี้ แสดงว่าสิทธิความปลอดภัยบนท้องถนนของคนไทยแทบจะไม่มีแล้ว ขณะเดียวกันคนส่วนใหญ่กลับมองว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องของเวรกรรมหรือความซวย มากกว่าเป็นสิทธิที่รัฐต้องรับผิดชอบ”
‘การตั้งวงเงินชดเชย ที่ค่อนข้างสูงนี้ เป็นการดึงเอาบริษัทประกันภัยซึ่งเป็น ผู้จ่ายเงินเข้ามาเป็นตัวกลาง จะยิ่งทำให้กระบวนการตรวจสอบมาตรฐานมีประสิทธิภาพมากขึ้น’ อัมมาร สยามวาลา
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 16 ธ.ค.2556