(26 ก.ย. 56) นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ตัวแทนกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้ยื่นรายชื่อประชาชนจำนวน 32,000 คนที่ลงชื่อผ่าน Change.org สนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลยังคงเมินเฉย ซึ่งแสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหา ยืนยันว่าทางกลุ่มฯ จะเดินหน้ากดดันให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้จนถึงที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีความชัดเจน และมีมาตรการควบคุมตรวจสอบไม่ให้เหตุนี้เกิดซ้ำอีกในอนาคต
ทั้งนี้ทางกลุ่มฯ จะลงพื้นที่ระยองในวันที่ 30 ก.ย. เพื่อร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อจัดงาน “วิกฤตน้ำมันรั่ว : 2 เดือนผ่านไป การฟื้นฟูเสม็ดสำเร็จแล้วจริงหรือ” โดยชาวบ้านจะจัดกิจกรรมทำความสะอาดทะเล ด้วยการเก็บก้อนน้ำมันทาร์บอล กระดองหมึกและซากสัตว์น้ำๆ เพื่อแสดงถึงผลกระทบของเหตุการณ์น้ำมันรั่วว่ายังคงมีอยู่ รวมถึงมีเวทีสาธารณะโดยประชาชนในพื้นที่และนักวิชาการเพื่อพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
นายจตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้เพื่อจะบอกความจริงให้กับสังคมรู้ว่า สภาพเหตุการณ์จริงที่ระยองยังไม่ปกติเหมือนในโฆษณา ที่ ปตท.กำลังป่าวประกาศอยู่ตอนนี้ โดยมีเต่าตนุซึ่งเป็นสัตว์อนุรักษ์และหมึกกระดองตาย รวมถึงยังมีก้อนน้ำมันลอยมาที่ชายหาดอยู่เรื่อยๆ “ดังนั้นอยากให้ ปตท. มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่การโฆษณาชวนเชื่อ เพราะฉะนั้นต้องมีการตรวจสอบผลกระทบ ถ้ายังไม่แน่ใจอย่าเพิ่งให้นักท่องเที่ยวมา เพราะหากนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่ แล้วกินอาหารที่มีการปนเปื้อน หรือกลับไปแล้วป่วยเป็นโรคมะเร็ง ใครจะรับผิดชอบ พวกเราเป็นชาวประมงได้รับผลกระทบและเจ็บปวดที่หาปลาไม่ได้ แต่เราก็ไม่สบายใจ ถ้าปลาที่เราหาได้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เราถึงเรียกร้องให้มีการค้นหาความจริง มันแปลว่าพวกเรามีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า ปตท. หรือเปล่า” นายจตุรัส กล่าวพร้อมเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ เนื่องจากทุกวันนี้ไม่รู้เลยว่าน้ำมันรั่วไหลเท่าไหร่กันแน่ เพราะ ปตท. ทำลายหลักฐานด้วยการไม่อายัดเรือไว้ตรวจสอบ
นายบุญปลอด สรเกิด ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ก่อนเหตุน้ำมันรั่วจะมีรายได้เฉลี่ยอย่างน้อย 60,000 บาทต่อเดือน แต่ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว ไม่มีรายได้เข้ามาเลย เพราะไม่มีปลา เมื่อสัปดาห์ที่แล้วออกเรือได้ 3 วัน ได้ปลาหมึกแค่ 12 กิโลกรัม กับปลาอินทรีย์อีก 1 ตัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้อย่างน้อยต้องได้วันละ 20-30 กิโลกรัม สภาพแบบนี้ทำให้รู้สึกท้อแท้มาก เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ทะเลจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม
ขณะที่นายสันต์ เข็มจรูญ ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า หลังจากวิกฤตน้ำมันรั่ว ทำให้เสียโอกาสในการทำประมงอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถหาปลาได้เหมือนเดิม และอยากให้ผู้ที่รับผิดชอบมาให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบจากสารเคมี เพราะตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าปลาที่จับได้มีการปนเปื้อนหรือไม่ ทำให้รู้สึกลำบากใจ กลัวว่าปลาที่จับมาได้จะมีอันตรายต่อผู้บริโภค และไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร จึงอยากให้มีการแก้ไขโดยเร่งด่วนก่อนที่จะสายไปกว่านี้
ด้านนายวันชัย สุนานันท์ พ่อค้าส้มตำริมหาดแม่รำพึง กล่าวว่า ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วสามารถขายอาหารได้วันละ 1,000 – 2,000 บาท หากเป็นช่วงวันหยุดจะได้มากกว่าวันละ 3,000- 4,000 บาท แต่หลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วก็ไม่สามารถขายของได้เหมือนเดิม เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว เหลือรายได้แค่อาทิตย์ละ 500- 1000 บาท มิหนำซ้ำผ่านไปแล้ว 2 เดือน ทางครอบครัวก็ยังไม่ได้รับค่าชดเชยจาก ปตท. ที่จะจ่ายเท่ากับค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท เป็นเวลา 1 เดือน คือ 9,000 บาท ซึ่งไม่เป็นธรรมเพราะความเสียหายจริงมันมากกว่านั้น เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะชาวบ้านกลายเป็นเหยื่อและได้รับความเดือดร้อนโดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิด
ด้านนางจิรภัทร รัตนปัญญา เจ้าของสินสมุทรบริการท่องเที่ยวครบวงจร กล่าวว่า หลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วทำให้ระยองกลายเป็นจังหวัดร้าง เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเลย ผลกระทบที่เกิดขึ้น มันเหมือนโดมิโน่ ถ้าธุรกิจท่องเที่ยวล้มไปตัวหนึ่ง อาชีพอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบทั่วกันหมด ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง คนขายของริมชายหาด แม่ค้าในตลาด คนขับรถตู้ ที่ืเชื่อมกันหมดเพราะเรามีรายได้จากนักท่องเที่ยว ทุกวันนี้ไม่รู้ว่าจะไปร้องขอความช่วยเหลือจากไหน ไปถึงเขาจะให้พบหรือเปล่า และเขามักง่ายหรือเปล่าที่ทำให้เราเดือดร้อนแบบนี้
อนึ่ง กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่วไหล ประกอบด้วย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia) และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI)
ที่มา : ประชาไทอนไลน์ 27 ก.ย.2556