ภญ.กาญจนา มหาพล เภสัชกร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุบลราชธานี นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “สถานการณ์การปนเปื้อนโลหะหนักในเกลือที่ผลิตจากดินจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2554-2555” ภายในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2556 ว่า คนอีสานมีการผลิตเกลือจากดิน เรียกว่า “เกลือดิน” ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างเกลือดินที่ผลิตใน อ.เขื่องใน อ.เหล่าเสือโก้ก อ.ตระการพืชผล และอำเภอเมือง จำนวน 20 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาโลหะหนัก 5 ชนิด คือ สารหนู ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และทองแดง ที่บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง(ประเทศไทย) จำกัด สาขาขอนแก่น พบว่า ปนเปื้อนสารหนู 14 ตัวอย่าง คิดเป็น 70% ตะกั่ว 12 ตัวอย่างคิดเป็น 60% ปรอท 2 ตัวอย่างคิดเป็น 10% ทองแดง 9 ตัวอย่างคิดเป็น 45% แต่ไม่พบการปนเปื้อนแคดเมียม
ภญ.กาญจนากล่าวอีกว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่ผ่านเกณฑ์โลหะหนักทั้ง 5 รายการ โดยบางตัวอย่างไม่ผ่าน 3 รายการ บางตัวอย่างไม่ผ่าน 2 รายการ ทั้งนี้ การพิจารณาผลการตรวจหาโลหะหนัก 5 รายการ ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนและมาตรฐานอุตสสาหกรรม (มอก.เกลือบริโภค) โดยเลือกค่าต่ำสุดเป็นเกณฑ์ คือ สารหนู ใช้เกณฑ์ มอก. 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(mg/kg) ตะกั่วใช้เกณฑ์ สธ.1.00 mg/kg ปรอท เกณฑ์ สธ. 0.02 mg/kg แคดเมียม เกณฑ์ มอก.0.50 mg/kg และทองแดง เกณฑ์ มอก. 2.00 mg/kg “สำหรับการสำรวจสภาพแวดล้อมพื้นที่ทำเกลือดินบ่อเบ็น จากการร่วมมือกับสำนักงานที่ดิน เขตที่ 4 พบว่า น้ำไม่มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แต่พบว่าดินมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไปว่าดินมีการปนเปื้อนจากที่ไหน แต่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับบ่อเบ็น มีแหล่งรับซื้อของเก่า” ภญ.กาญจนากล่าว
ภญ.กาญจนากล่าวด้วยว่า อันตรายของโลหะหนัก หากเป็นสารหนูจะเป็นสารก่อมะเร็ง ตะกั่วมีพิษต่อระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบโลหิต ระบบไตและทางเดินปัสสาวะ ส่วนปรอทมีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เสียการควบคุมเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูดและยังทำให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียไป เช่น การได้ยิน การมองเห็น ส่วนแคดเมียมมีพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ไต กระดูกผิดรูป ขณะที่ทองแดงมีพิษต่อตับ ร่างกายสั่นเทาตลอดเวลา
ภญ.กาญจนากล่าวต่อไปว่า คณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจเกลือดินในจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสานอีก 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และชัยภูมิ จำนวน 22 ตัวอย่าง พบว่ามีการปนเปื้อนเช่นกัน ได้แก่ สารหนู 19 ตัวอย่าง คิดเป็น 86.4% ตะกั่ว 17 ตัวอย่างคิดเป็น 77.3% ปรอท 4 ตัวอย่างคิดเป็น 18.2% สังกะสี 1 ตัวอย่างคิดเป็น 4.5% แต่ไม่พบการปนเปื้อนแคดเมียมและทองแดง ส่วนอะลูมิเนียมไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน ล่าสุด สสจ.ได้ออกคำแนะนำไม่ให้ประชาชนบริโภคเกลือดินแล้ว เพราะมีความไม่ปลอดภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการคิดหาแนวทางในการส่งเสริมให้นำเกลือดินไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ เนื่องจากการผลิตเกลือจากดินเป็นวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีคุณค่า เช่น ทำปลาร้า ส้มผัก ปลาแห้ง บางพื้นที่ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน อย่างแหล่งผลิตเกลือดินที่บ่อเบ็นนาเกลือ อ.เขื่อง จ.อุบลราชธานี มูลค่ารวม 1-2 ล้านบาทไม่แพ้การทำนาข้าว
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 ก.ย.56