วันนี้ (21 ส.ค.56) กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่วแถลงเรียกร้องรัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบน้ำมัน ปตท.รั่ว ในเวทีสาธารณะ “คำถามที่ ปตท.ต้องตอบ… ก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน” ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่ว และนักวิชาการได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ที่ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารทีเอสทีทาวเวอร์
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ตัวแทนกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว กล่าวว่า จากกรณีท่อน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี) รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่ จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้น้ำมันดิบจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลโดยกระจายครอบคลุมพื้นที่ทะเลเป็นบริเวณกว้างและในเวลาต่อมาคราบน้ำมันได้ถูกพัดพาเข้าสู่ชายหาดอ่าวพร้าว อุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
แม้ที่ผ่านมาบริษัทพีทีทีจีซีและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะอ้างว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมาตรฐานแล้ว แต่ภาคประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในข้อมูลและการดำเนินงานที่ผ่านมา เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบทั้งที่ตั้งขึ้นโดยพีทีทีจีซี คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) และหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่มีองค์ประกอบของผู้เชี่ยวชาญอิสระจากภาคประชาชน ทั้งยังไม่มีการเปิดเผยกระบวนการและรายงานการตรวจสอบต่อสาธารณะ
เพ็ญโฉม กล่าวด้วยว่า กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว ซึ่งติดตามปัญหานี้มาตั้งแต่ต้น และได้มีแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยมีการรณรงค์เรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนผ่าน www.change.org. (คลิกดูข้อมูล) และมีผู้ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาน้ำมันรั่วรวมกว่า 30,000 คน โดยทางกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว จะได้ดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องพร้อมรายชื่อผู้สนับสนุนต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ส.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล
เพ็ญโฉม ให้ข้อมูลต่อมาถึงสาระสำคัญของคณะกรรมการอิสระว่า เป็นคณะกรรมการระดับชาติที่แต่ตั้งโดยนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการเรียกข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ส่วนหน้าที่หลักคือตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาน้ำมันรั่วไหล ตรวจสอบผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เสนอหลักการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายต่อรัฐบาล และจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย โครงสร้าง และกลไกที่เกี่ยวข้องกับการรับมือสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในอนาคต
ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการ ต้องมีประธานที่เป็นอิสระ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจน้ำมันและปิโตรเลียม มีตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีตัวแทนนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม นิเวศน์ สุขภาพและกฎหมาย ภาคประชาสังคม หรือองค์กรพัฒนาเอกชนและหรือองค์กรประชาชนในพื้นที่ โดยกระบวนการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าวต้องโปร่งใส มีการเปิดเผยการดำเนินงานและรายงานต่อสาธารณะ
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวด้วยว่าทางกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่วนั้นไม่สามารถกำหนดระยะเวลาให้รัฐบาลเร่งแต่ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาได้ แต่ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกว่า 30,000 เสียงของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องหรือไม่ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวโดยหน้าที่ของรัฐถือเป็นสิ่งที่ควรต้องทำอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรอให้ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้อง
สำหรับข้อห่วงกังวลและปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีน้ำมัน ปตท.รั่ว ในสายตาของภาคประชาชน เพ็ญโฉม กล่าวว่า มีทั้งคำถามที่ว่าน้ำมันที่รั่วมีปริมาณ 54,000 ลิตรจริงหรือ เหตุใดกระบวนการสอบมีการอายัดท่อน้ำมันแต่ทำไมไม่อายัดเรือด้วย กรณีความเจ็บป่วยของเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนที่เข้า และชาวบ้านในพื้นที่มีการดูแลและเฝ้าระวังอย่างไร นอกจากนั้นในส่วนความเสียหายที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจ การประมง และการท่องเที่ยว มีการสำรวจประเมินความเสียหายแล้วหรือไม่อย่างไร เป็นต้น
ผู้ประกอบกิจการ-ประมงระยอง จวก ปตท.ยังไม่เยียวยา
ดุหทัย นาวาพานิช ตัวแทนผู้ประกอบการรีสอร์ทในเกาะเสม็ด กล่าวในเวที “คำถามที่ ปตท. ต้องตอบ…ก่อนความจริงจะหายไป” โดยกล่าวเชิญชวนท่องเที่ยวเกาะเสม็ดว่า ตอนนี้เกาะเสม็ดลดราคาและบรรยากาศสงบที่สุดในรอบสิบปี เนื่องจากไม่มีคนมาเที่ยว และส่วนตัวของเธอเองก็ถูกยกเลิกการจองห้องพักทั้งที่รีสอร์ทของเธออยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะไม่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน พร้อมระบุว่าหลังเหตุการณ์ได้รับคำขอโทษและสัญญาจากทาง ปตท.ว่าจะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นแผนการเยียวยาที่ชัดเจน
ดุหทัย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่มีการตั้งคณะกรรมการเยียวยาที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีการแต่งตั้งกรรมการที่เป็นตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ โดยคนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมคัดเลือก อีกทั้งคณะกรรมการที่มีรูปแบบไตรภาคีนี้ใช้การตัดสินใจโดยการลงคะแนนเสียง ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบโหวตเมื่อไหร่ก็แพ้
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของแบบฟอร์มคำร้องขอรับความช่วยเหลือเยียวยา ที่ไม่ระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบ พร้อมเขียนกำกับว่าหากข้อมูลที่กรอกลงไปไม่ถูกต้อง ผู้ร้องยินยอมให้ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา และไม่สามารถกรอกแบบฟอร์มอื่นได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการชดเชย
ส่วนวีรศักดิ์ คงณรงค์ ตัวแทนสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นชาวประมงใช้เรือในการประกอบอาชีพ ยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง แต่ทั้งนี้พบว่า ทาง ปตท.กลับเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประมง และได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มนวดแผนโบราณ ซึ่งไม่เข้าใจวิธีการช่วยเหลือ และอยากให้ทาง ปตท.หันมาให้ความช่วยเหลือกลุ่มประมงด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานเสวนา นายวีรศักดิ์ ได้นำ ก้อนทาร์สีดำและตัวอย่างทรายที่มีคราบสีดำที่เก็บได้ริมหาดแหลมแม่พิมถึงหาดแม่รำพึงเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุท่อน้ำมัน ปตท.รั่วกลางทะเลอ่าวไทย มาแสดงต่อสื่อมวลชน เพื่อยืนยันว่ายังมีคราบน้ำมันเหลือค้างอยู่จริงในพื้นที่ พร้อมเปิดเผยว่าพบชาวบ้านในพื้นที่มีอาการป่วย อาทิ ผื่นคัน ท้องเสียจากการรับประทานสัตว์น้ำด้วย “มลพิษที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงที่ต้องแก้ไข วันนี้ผมมายืนยันให้โลกเห็นว่าต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิด” วีรศักดิ์กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญนิเวศวิทยาแนวปะการังแนะผลกระทบ สวล.ต้องดูระยะยาว
ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้เชี่ยวชาญนิเวศวิทยาแนวปะการัง คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่าผลกระทบต่อสัตว์ในระบบนิเวศแถบอ่าวพร้าว จากกรณีน้ำมันรั่วซึ่งเป็นผลกระทบทางตรงยังเห็นไม่ชัดเจน แต่ผลกระทบระยะยาวต้องติดตามต่อไป แต่ที่กระทบแน่ๆ คือสัตว์ทะเลหน้าดิน และปะการัง
ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ผลกระทบต่อระบบนิเวศนั้นต้องติดตามระยะยาว และอาจจะไม่ใช่ผลกระทบโดยตรงแค่ว่าตายหรือไม่ตาย แต่เป็นผลกระทบโดยอ้อมที่ส่งผลกระทบกันเป็นห่วงโซ่ ทั้งนี้แน่นอนว่าสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดสามารถที่จะหลบหนีจากปัญหาน้ำมันรั่วได้เนื่องจากมีความอดทนสูง
สอดคล้องกับการสำรวจจากโครงการนักสืบชายหาด มูลนิธิโลกสีเขียว ที่พบว่า ช่วงน้ำมันรั่วเป็นช่วงน้ำตาย คือน้ำระดับน้ำทะเลไม่แตกต่างกันมากในช่วงน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้ไม่ส่งผลต่อสัตว์ทะเลชายฝั่งที่มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมสูง แต่สัตว์ทะเลที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมเช่นหอย และปะการัง เท่าที่ทำการสำรวจพบว่าเริ่มทยอยตาย ซึ่งจะติดตามต่อไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ดร.อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า แม้คราบน้ำมันจะหายไปแล้ว แต่ยังคงมีคำถามที่ ปตท.ต้องตอบให้ชัดเจนอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการจัดการปัญหา และผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในในการจัดการคราบน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.แถลงปากเปล่า ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน
นักวิชาการชี้ใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันเป็นทางเลือกที่แย่ที่สุด
หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเปรียบเทียบการเก็บกู้คราบน้ำมันของไทย กับของสหรัฐอเมริกาที่มีลักษณะของการจำกัดเขตและดูดน้ำมันกลับ โดยการใช้ทุ่นรูปตัววีเก็บคราบน้ำมันออกจากทะเล ซึ่งไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่พีทีทีจีซี กลับเลือกการระดมใช้สารเคมีตั้งแต่ต้น “ก่อนบอกสารเคมีดีไม่ดี มีขั้นตอนอื่นๆ ก่อนไหม เมื่อท่านบอกว่าเป็นองค์กรที่ใส่ใจธรรมชาติ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม” หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ตั้งคำถาม
หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ กล่าวด้วยว่าจากการศึกษา ผลงานวิจัยผลกระทบระยะสั้น – ระยะยาวความเป็นพิษของน้ำมันและสารกำจัดคราบน้ำมันต่อปะการังของประเทศอิสราเอล พบว่าการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันจะทำให้ปะการังตาย แม้ในสารเคมีที่ขจัดคราบน้ำมันที่ ปตท.เลือกใช้ สลิคกอน (slickgone) ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิวชนิดเดียวกับสบู่ ก็ต้องใช้ในระดับที่เจือจาง 25% ผลกระทบต่อปะการังจึงลดลง ดังนั้นสารเคมีจึงเป็นทางเลือกที่แย่ที่สุด
ทนายความแจงฟ้องคดีไม่ยากแต่ทำอย่างไรให้เกิดผลสะเทือน
สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเสนอให้ทำการฟ้องคดีว่า ข้อเสนอของกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว ในการตั้งคณะกรรมการอิสระเพราะต้องการให้ภาครัฐได้มีโอกาสทำงาน ในส่วนการฟ้องคดีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ขึ้นอยู่กับจะฟ้องอะไรเพื่อให้เกิดผลกระเทือนไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่
กรณีนี้ ปตท.รับว่าเป็นผู้ก่อมลพิษ ดังนั้นโดยหลักการที่ว่าผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายต้องมีการผลักดันให้เป็นจริงและอาจต้องมีการฟ้องร้องต่อไป อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญตรงนี้คือ ปตท.ต้องจ่ายแค่ไหนเพียงใด ต่อความเสียหายทั้งต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐต้องเป็นผู้คำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องการชดเชยจาก ปตท.
ที่มา : ประชาไทออนไลน์